ในโลกการเขียนโปรแกรม AI กำลังทำให้งานแบบ ‘เด็กจบใหม่’ หายไป

Share

Loading

หลังจากการเข้ามาของ Generative AI คนจำนวนมากก็เริ่มทำนายทิศทางของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไป และหลายๆ ครั้งสิ่งที่คนทำนายก็ไม่ใช่สิ่งที่สวยงามเท่าไร เพราะสิ่งที่คนเห็นคือ Generative AI อาจทำงานได้ไม่เท่าพวกคนระดับ ‘มืออาชีพ’ จริง แต่งานระดับ ‘เด็กจบใหม่’ ในหลายๆ สาย Generative AI กลับทำงานได้ดีในระดับเดียวกันถึงดีกว่า

แน่นอน สิ่งนี้ทำให้หลายคนกังวลว่าบริษัทต่างๆ จะไม่รับเด็กจบใหม่เข้าทำงาน และจะใช้คนมีประสบการณ์ทำงานกับ AI ล้วนๆ หรือเปล่า? ซึ่งในระยะยาวมันอาจไม่เป็นผลดีต่อตลาดแรงงานนัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในโลกการทำงานด้านซอฟต์แวร์ อาจทำให้ภาพที่ว่ามานี้ผิดทั้งหมด

Business Insider รายงานว่า ในโลกของซอฟต์แวร์ ตำแหน่งงานแบบเด็กจบใหม่เริ่มหายไป เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือ Generative AI ไปแทนที่งานเหล่านี้ทั้งหมด

แต่กลับกัน สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่เด็กจบใหม่จะ ‘ตกงาน’ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กจบใหม่ที่ทำงานกับ AI สามารถผลิตงานโค้ดที่ปกติต้องใช้ประสบการณ์หลายปีจึงจะเขียนออกมาได้

แต่ก่อนจะเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น เราอยากเล่าเบสิกการทำงานของคนเขียนโปรแกรมให้คนนอกสายอาชีพนี้ฟังคร่าวๆ สักหน่อย

ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ งานของคนเขียนโปรแกรม ขั้นตอนคือเขาจะได้รับ ‘ปัญหา’ บางอย่างมา แล้วเขาต้องเขียนโปรแกรมมาแก้ปัญหานั้นให้ได้ โดยที่ปัญหาจะยากง่ายขึ้นอยู่กับลักษณะงาน สำหรับคนที่มีประสบการณ์สูงๆ ที่เก่งมากๆ ได้รับรู้ปัญหาก็อาจคิดมาเป็นโค้ดตอบได้เลย แต่สำหรับคนทั่วไป บางทีก็อาจคิดวิธีการแก้ปัญหาเป็นขั้นๆ ออก แต่นึกวิธีเขียนโค้ดไม่ออก หรือบางคนที่ไม่มีประสบการณ์ก็นึกไม่ออกเลยว่าปัญหาแบบนี้ต้องเริ่มเขียนโค้ดยังไง

สำหรับโลกคนของเขียนโปรแกรม ไม่ใช่สิ่งน่าอายที่ถ้าเราไม่รู้คำตอบ เราจะเอาคำถามนั้นไปถามบนอินเทอร์เน็ต และนี่ทำให้ถนนทุกสายของโปรแกรมเมอร์ในยุคก่อนหน้านี้วิ่งไปสู่เว็บ Stack Overflow ที่เป็นเว็บถามตอบคำถามด้านโปรแกรมมิ่ง ที่รวบรวมคำถามและคำตอบจำนวนมากเอาไว้ ซึ่งคำถามที่มันรวมเอาไว้มีมากเสียจนผู้ใช้หลายคนจะด่าทันทีถ้าคนไปถามคำถามง่ายๆ โดยไม่ค้นก่อนว่าจริงๆ แล้วมีคนถามและตอบมาไม่รู้กี่รอบแล้ว

ดังนั้นสำหรับคนเขียนโปรแกรมก็มีการแซวๆ กันว่างานของพวกเขาจริงๆ คือการค้น Stack Overflow และไปก๊อปโค้ดในนั้นมาแก้ให้เข้ากับโปรเจกต์ตัวเอง เขาไม่ได้เขียนอะไรขึ้นมาใหม่ แม้ว่าจะเป็นภาพที่ตั้งใจให้ดูตลก แต่ก็มีส่วนจริงไม่น้อย

ในแง่นี้ ทักษะจริงๆ ของคนทำงานเขียนโปรแกรม ก็เลยเป็นเทคนิคการ ‘ค้นหาคำตอบบนอินเทอร์เน็ต’ และคนมีประสบการณ์สูงๆ ก็คือคนที่ ‘ค้นเก่ง’

แต่ Generative AI ก็เข้ามาเปลี่ยนทุกอย่าง และอธิบายง่ายๆ คือทุกวันนี้ทุกแพลตฟอร์มใหญ่ๆ ที่คนใช้เขียนโปรแกรม ก็มีการใส่เครื่องมือ Generative AI เข้าไปแล้ว

โดยเครื่องมือ Generative AI ในโลกของการเขียนโปรแกรมนั้นไม่เหมือน Generative AI แบบที่เราเห็นในโลกของ ‘ศิลปะ’ ที่ต้องเขียน Prompt ให้ AI ผลิตงานออกมา เพราะเครื่องมือ Generative AI ในโลกการเขียนโปรแกรมมันจะคล้ายๆ โปรแกรมเติมประโยคให้จบ (autocomplete) แบบที่เราคุ้นกับคีย์บอร์ดบนสมาร์ทโฟนของเรามากกว่า

เนื่องจากฐานข้อมูลอันใหญ่โตด้านโค้ดโปรแกรม AI พวกแพลตฟอร์มด้านการเขียนโปรแกรมมันจะมีความสามารถในการเดาว่าคนเขียนกำลังต้องการจะเขียนโค้ดอะไรได้อย่างแม่นยำ ซึ่งอธิบายง่ายๆ ว่าเราแค่ขึ้นประโยคมา มันก็เดาได้แล้วว่าเราจะเขียนอะไรต่อ

กระบวนการนี้ช่วยร่นเวลาในการค้นหาโค้ดมาก คนเขียนโปรแกรมไม่จำเป็นต้องไปค้น Stack Overflow แล้ว แต่ให้แพลตฟอร์มช่วยเขียนโปรแกรมเลย และผลรวมๆ ก็คือ คนเข้า Stack Overflow ลดลงจริงๆ

อย่างไรก็ดี ผลโดยรวมก็คือ มันทำให้เหล่าโปรแกรมเมอร์มือใหม่เขียนโปรแกรมเร็วขึ้นมาก โค้ดที่ควรจะ ‘เขียนขึ้นมาแบบมือใหม่’ ก็ถูกแพลตฟอร์มเสนอและรวมถึงแก้ให้ดูเหมือน ‘เขียนมาโดยมือโปร’ และรวมๆ คือมันทำให้ ‘งานแบบเด็กจบใหม่’ หายไปหมดอย่างที่ว่า

แน่นอน ด้านหนึ่งคนก็จะบอกว่าการทำงานแบบนี้มันคือการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลขึ้นอย่างมหาศาล แต่ก็ไม่ใช่จะไม่มีปัญหา

อยากให้ลองคิดง่ายๆ ทุกวันนี้เรามีโปรแกรม ‘แก้คำผิด’ ช่วยเราให้เราสะกดคำไม่ผิดตลอดเวลา แต่อีกด้านคือ เวลาเราเขียนหนังสือโดยไม่มีโปรแกรมพวกนี้ บางทีเราจะจำไม่ได้แล้วว่าคำบางคำมันสะกดยังไงกันแน่ และนั่นก็ยังไม่รวมถึงปัญหาว่าหลายๆ คำมันมีวิธีการสะกดหลายแบบด้วย

ในทำนองเดียวกัน การใช้เครื่องมือ AI มากๆ อาจทำให้คนขาดทักษะพื้นฐานในการเขียนโค้ดขึ้นมาเอง และถ้าให้เขียนเองก็จะเขียนผิดๆ ถูกๆ ลืมโน่นลืมนี่ เพราะเราไม่เคยต้องมา ‘ตรวจสอบความถูกต้อง’ เอง เพราะ AI และแพลตฟอร์มตรวจให้ทั้งหมด นี่จึงนำมาสู่ปัญหาที่สำคัญมากๆ คือเรื่อง ‘ความปลอดภัย’

ในโลกของการเขียนโค้ด ความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญ เป็นตัวชี้เป็นชี้ตายว่าโปรแกรมจะโดนแฮกได้ง่ายๆ หรือไม่ และสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ คนรุ่นใหม่ๆ เขียนโค้ดได้เร็วจริงๆ แต่กลับไม่มีความสามารถในการตรวจโค้ดว่าปลอดภัยหรือไม่ และนี่คือหายนะในระยะยาว

แต่ถามว่าเป็นเรื่องแปลกหรือไม่? คำตอบเร็วๆ คือ ‘ไม่’ เพราะจริงๆ การใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาหลายๆ อย่าง สิ่งที่เราได้คือผลผลิตที่มากขึ้นก็จริง แต่อีกด้านก็คือความผิดพลาดที่โผล่มาเต็มไปหมด และหายนะก็คือ คนที่ชินกับการใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา โดยปราศจากพื้นฐานด้านนั้นๆ บางทีก็จะมองไม่เห็นด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ผลิตออกมามัน ‘มีปัญหา’ ตรงไหน

และหากปัญหาที่ว่านั้นเป็นเรื่องของ ‘สุนทรียภาพ’ ก็อาจไม่ใช่เรื่องใหญ่นัก แต่ถ้ามันเป็นเรื่องของความปลอดภัย ความจริงจังมันก็น่าจะไปอีกระดับเลย

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=1103758594645809&set=a.811136570574681