ใช้ AI แทนกรรมการผู้กำกับเส้นในศึกเทนนิส Wimbledon

Share

Loading

All England Lawn Tennis Club (AELTC) ผู้ดำเนินการแข่งขันเทนนิสระดับแกรนด์สแลม Wimbledon ได้ฉีกขนบธรรมเนียมเดิมที่ปฏิบัติมา 147 ปี ด้วยการนำ AI มาทดแทนกรรมการผู้กำกับเส้นในการแข่งขันดังกล่าวตั้งแต่ปี 2025 เป็นต้นไป อาจปิดฉากการจ้างงานส่วนนี้กว่า 300 ตำแหน่ง เหลือแค่ Umpire 1 คนเป็นผู้ชี้ขาดบนสนาม

Wimbledon ใช้เทคโนโลยี ELC แทนผู้กำกับเส้น

การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ดำเนินต่อเนื่องหลังปี 2023 ที่สมาคมนักเทนนิสอาชีพ หรือ ATP ที่ประกาศใช้งาน Electronic Line-Calling System หรือ ELC แทนกรรมการผู้กำกับเส้นในการแข่งขันทุกรายการ รวมถึงการที่อีก 2 การแข่งขันระดับแกรนด์สแลมทั้ง Australian Open และ US Open มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้เช่นกัน

ทำให้ปัจจุบันเหลือเพียง French Open ที่ยังมีกรรมการผู้กำกับเส้นทำงานระหว่างการแข่งขัน โดยแต่ละนัดจะมีกรรมการผู้กำกับเส้นอย่างมาก 9 คน (มี Chair Umpire อีก 1 คน) บนสนาม และกรรมการผู้กำกับเส้นมีหน้าที่ตรวจสอบว่าลูกเทนนิสนั้นลง หรือออก และเป็นผู้ช่วยกรรมการตัดสิน

สำนักข่าว The Times รายงานว่า ในการแข่งขัน Wimbledon จะจ้างงานกรรมการผู้กำกับเส้นราว 300 คน เพื่อชี้ขาดการแข่งขันกว่า 600 นัดตลอด 2 สัปดาห์ของการแข่งขันดังกล่าว แต่ถึงการนำเทคโนโลยีมาช่วยตัดสิน ตัวระบบดังกล่าวยังต้องใช้แรงงานจำนวนมากเพื่อควบคุมระบบนี้เพื่อให้ได้ความแม่นยำสูงสุด

รู้จักเทคโนโลยี Hawk-Eye Live

หนึ่งในระบบ ELC ที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือ Hawk-Eye Live โดยเทคโนโลยีดังกล่าวจะติดตั้งกล้อง 12 ตัว เพื่อมองให้เห็นรอบคอร์ตเทนนิส และจุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีนี้เป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้การถ่ายทอดสดมีสีสันมากขึ้น แต่กรณีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือการตัดสินที่ผิดพลาดมากขึ้นเรื่อย ๆ ของกรรมการผู้กำกับเส้น เช่น การแข่งขัน US Open ปี 2024 ระหว่าง Serena Williams กับ Jennifer Capriati ที่มีการตัดสินผิดพลาดหลายครั้ง ซึ่งในสนามอาจไม่เห็น แต่ผู้ชมทางโทรทัศน์ได้เห็นถึงความผิดพลาดเหล่านั้น จน Hawk-Eye ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือให้นักเทนนิสขอชาเลนจ์การตัดสินของกรรมการได้

จนถึงปัจจุบัน นักเทนนิสที่เข้าแข่งขันรายการ ATP, US Open และ Australian Open ไม่จำเป็นต้องขอชาเลนจ์อีกต่อไป เพราะเทคโนโลยีดังกล่าวที่มี AI ช่วยประมวลผล กลายเป็นคำชี้ขาดในการตัดสินลูกเทนนิสว่าลง หรือออก ผ่านการจับภาพด้วยความเร็ว 70 เฟรม/วินาที

มากกว่าการตัดสิน คือข้อมูลที่ได้

ประโยชน์ของ Hawk-Eye ไม่ได้มีแค่การตัดสินว่าลูกเทนนิสลง หรือออก แต่คือการบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ระหว่างการแข่งขัน หนึ่งในนั้นคือการเคลื่อนไหวของผู้เล่น ซึ่งฝั่งการถ่ายทอดการแข่งขันย่อมได้ข้อมูลไปเล่าสนุก ๆ รวมถึงนักกีฬาเองได้ข้อมูลไปเพื่อปรับปรุงการเล่นของตัวเอง

อย่างไรก็ตามข้อมูลเหล่านั้นยังถูกขายให้กับบริษัทการพนันอีกด้วย โดยปัจจุบันมี DraftKings และ FanDuel ที่ได้สิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าว และสามารถนำข้อมูลนั้นมาพิจารณาออกแต้มต่อรองได้มีประสิทธิภาพว่าเดิม ซึ่ง ATP เองย่อมได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมการพนันกีฬาที่กำลังเติบโตเช่นกัน

สำนักข่าว The Verge ยังย้ำถึงเรื่องดังกล่าวว่า ATP อาจทำเงินจากการขายสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลลูกเทนนิส กับผู้เล่นบนสนามให้กับบริษัทพนันใกล้เคียงกับการจำหน่ายลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด ซึ่งการแข่งขัน Wimbledon เองอาจสามารถทำเงินได้จากวิธีดังกล่าวเช่นกัน

ส่วนตัวผู้เขียนมองว่า การใช้งาน Hawk-Eye เพื่อควบคุมทั้งการแข่งขันอาจลดความสนุกในการชาเลนจ์ของนักกีฬา เนื่องจากการใช้ Hawk-Eye เพื่อชาเลนจ์นั้นช่วยเพิ่มการลุ้นระทึกระหว่างนักกีฬาด้วยกัน รวมถึงผู้ชมทั้งใน และนอกสนาม ว่าผลการตัดสินของกรรมการผู้กำกับเส้นตัดสินถูกต้องหรือไม่ ซึ่งการชาเลนจ์ก็มีโอกาสว่าจะถูกหรือผิดเช่นกัน

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=927532589408978&set=a.628388912656682