เรื่องวุ่นๆ ของตลาดหนังสือเสียง

Share

Loading

ตลาดของ ‘หนังสือเสียง’ (Audiobook) เป็นหนึ่งในประเภทสื่อที่เติบโตขึ้นมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มจะกลายมาเป็นกระแสสำคัญและเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมการพิมพ์หนังสือ แม้อาจจะยังไม่ถึงขั้นแซงหน้าสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่มาก่อนอย่าง ‘อีบุ๊ก’ (E-book) หรือหนังสือแบบรูปเล่ม แต่ก็พบสัญญาณน่าสนใจหลายอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องยอดดาวน์โหลด ปริมาณหมวดหมู่ ตลอดจนการเข้ามาร่วมวงตลาดหนังสือเสียงของผู้ให้บริการแบบสตรีม

ตลาดในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ รวมถึงออสเตรเลียเป็นกลุ่มที่เห็นการเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน อย่างในออสเตรเลียปีนี้คาดการณ์ตลาดหนังสือเสียงกำลังจะมียอดขายแซงหน้าอีบุ๊กได้เป็นครั้งแรก จากผู้ใช้งานคิดเป็นจำนวนประชากร 34 เปอร์เซ็นต์ ของประเทศ ส่วนอังกฤษยอดดาวน์โหลดสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 17 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สำหรับอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่มีรายได้จากการจำหน่ายหนังสือเสียงมากที่สุด ก็ทำยอดขายรวมไปแล้ว 3,408.00 ล้านดอลลาร์ เข้าไปแล้วในปีนี้

หนังสือเสียงเติบโตขึ้นเพราะอะไร? เรื่องนี้จำแนกสาเหตุได้มากมายหลายหลาก ไล่มาตั้งแต่วิวัฒนาการของหนังสือเสียงที่ไม่ใช่เป็นแค่การฟังใครคนหนึ่งมาเล่าเรื่อง แต่ยังอุดมด้วยเทคนิคการทำซาวด์ประกอบที่สร้างความรู้สึกร่วมเข้ามามากขึ้น เช่นเดียวกับผู้เล่าที่เพิ่มเติมทักษะราวได้กับการพากย์ภาพยนตร์ หรือในแง่การแข่งขันระหว่างสำนักพิมพ์ยังพบด้วยว่า ตลาดหนังสือเสียงต่างดึงเอานักพากย์ฝีมือดีหรือคนดังมาทำหน้าที่ให้เสียงเพื่อดึงดูดกลุ่มผู้ฟังเข้ามา

นอกจากนี้ เรื่องของหมวดหมู่หนังสือที่ขยายไปไกลกว่าแค่การฟังนิยาย งานจำพวกสารคดีและอัตชีวประวัติก็เพิ่มมากขึ้น ตามมาด้วยหนังสือเพื่อการศึกษาก็ยิ่งเพิ่มกลุ่มเป้าหมายให้มีมากขึ้น และยังมีเรื่องไลฟ์สไตล์ของคนที่อยู่กับหนังสือเสียงมากขึ้นระหว่างการเดินทาง

และอย่างสุดท้าย การกระโดดเข้ามาร่วมวงในตลาดหนังสือเสียงของผู้ให้บริการสตรีม โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ระดับโลกอย่าง Spotify ก็ถือเป็นการเพิ่มช่องทางใหม่ๆ ให้บริการหนังสือเสียงกระจายไปยังเป้าหมายกลุ่มต่างๆ ได้ง่ายขึ้น

โดยเมื่อปลายปี 2023 ทาง Spotify ได้ประกาศว่าสมาชิกระดับพรีเมียมในสหราชอาณาจักรและออสเตรเลียจะสามารถเข้าถึงเนื้อหาหนังสือเสียงฟรีได้สูงสุด 15 ชั่วโมงต่อเดือน โดยมีดีลกับสำนักพิมพ์ชั้นนำหลายแห่งและจะมีหนังสือเสียงมากกว่า 150,000 เล่ม พร้อมให้บริการ

อย่างไรก็ดี ในเหตุข้อหลังกลับมีเรื่องราวชวนหัวตามกลับมา เมื่อฝ่ายเจ้าของงานเขียนกลับมองว่าการเผยแพร่งานเขียนผ่านระบบสตรีมอาจไม่ค่อยเป็นธรรมกับพวกเขาสักเท่าไหร่นัก และเรื่องนี้ก็ยังเต็มไปด้วยคำถามต่างๆ ตามมากมายมาย เช่นเรื่องรายได้จากข้อตกลงสตรีมจะถูกคำนวณอย่างไร เพราะบริบทการฟังหนังสือเสียงนั้นจะต่างจากการฟังเพลงอย่างมาก ตรงที่หนังสือเสียงมักเป็นการเปิดฟังครั้งเดียว หรือนานๆ ครั้ง ไม่เหมือนเพลงที่ฟังซ้ำกันบ่อยๆ

ขณะเดียวก็มีความกังวลถึงบริการสตรีมอาจกระทบต่อยอดขายหนังสือเสียงที่มีอยู่เดิม รวมถึงเรื่องที่ว่านักเขียนจะได้รับค่าตอบแทนเต็มจำนวนหรือไม่ ข้อตกลงดังกล่าวจะส่งผลต่อรายได้ในระยะยาวอย่างไร ผู้จัดพิมพ์มีมาตรการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์และการใช้งานที่ไม่ถูกควบคุมอย่างไร

สมาคมนักเขียนของประเทศอังกฤษได้ออกมากล่าวถึงปัญหานี้ว่า ที่ผ่านมา ใบอนุญาตส่วนใหญ่ที่นักเขียนมอบให้สำนักพิมพ์เพื่ออนุญาตให้ใช้เสียงนั้นไม่รวมถึงการสตรีม และข้อตกลงระหว่างผู้ให้บริการสตรีมกับสำนักพิมพ์นั้นเกิดขึ้นโดยไม่ได้ติดต่อผู้เขียนหรือตัวแทนของนักเขียน และนักเขียนไม่เคยได้รับการหารือเกี่ยวกับใบอนุญาตหรือเงื่อนไขการชำระเงิน

เช่นเดียวกับฝั่งสมาคมนักเขียนของออสเตรเลียก็แสดงความกังวลถึงเรื่องเดียวกันเกี่ยวกับปัญหาเรื่องรายได้ของนักเขียน ที่เกรงว่าอาจจะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริการดังกล่าว

ซึ่งทาง Spotify ได้ระบุผ่าน The Bookseller ว่าจ่ายเงินให้กับผู้จัดพิมพ์หนังสือเสียง ‘หลายสิบล้าน’ นับตั้งแต่เปิดตัวหนังสือเสียงแบบพรีเมียมในสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกาเมื่อปีที่แล้ว และกล่าวแต่เพียงว่า เรามีความมุ่งมั่นในการขยายส่วนแบ่งการตลาดสำหรับนักเขียนและอุตสาหกรรมการพิมพ์อย่างเพิ่มขึ้น แต่ปฏิเสธให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบการจ่ายค่าตอบแทน เรื่องมันจึงกลับมาตกที่ฝ่ายนักเขียนต้องไปตามกับสำนักพิมพ์เองว่าทำสัญญาอะไรกันไว้อย่างไร ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่ทราบว่าตกลงแล้วบทสรุปของเรื่องนี้จะจบลงอย่างไรกันแน่

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=1108369730851362&set=a.811136570574681