Google ใช้ AI วินิจฉัยโรคปอดผ่านเสียงได้แล้ว!

Share

Loading

ที่ผ่านมาเราอาจคุ้นเคยการวินิจฉัยอาการด้วยหูฟังของแพทย์ แต่จะเป็นอย่างไรเมื่อมีการพัฒนา AI ที่วินิจฉัยวัณโรคได้จากเสียงไอ

โรคปอด และ โรคทางเดินหายใจ จัดเป็นโรคภัยที่มีขั้นตอนการวินิจฉัยหลายรูปแบบ ตั้งแต่การซักประวัติ การตรวจเสมหะ ตรวจเลือด เอ็กซ์เรย์ ซีทีสแกน ฯลฯ โดยแต่ละรูปแบบมีขั้นตอนและใช้เครื่องมือในการตรวจแตกต่างกันออกไป ขึ้นกับความรู้ความชำนาญและเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีอยู่ แต่จะเป็นอย่างไรถ้าเราสามารถวินิจฉัยวัณโรคผ่านเสียงด้วยสมาร์ทโฟน

AI วินิจฉัยโรคปอดผ่านเสียง

ผลงานนี้เป็นของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ Google ร่วมกับสตาร์ทอัพ Salcit Technologies ในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถวินิจฉัยโรคทางเดินหายใจอย่าง วัณโรค หรือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยอาศัยเพียงเสียงในการไอ จาม หรือหายใจในการประเมินอาการ

แนวคิดนี้เริ่มต้นมาจาก Health Acoustic Representations หรือ HeAR จาก Google โมเดล AI ที่อาศัยข้อมูลรูปแบบเสียงทางชีววิทยา เช่น เสียงไอ จาม หรือหายใจในการประเมินหาสัญญาณเริ่มต้นของโรค โดยมีเป้าหมายในการเป็นเครื่องมือสำหรับช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยทางการแพทย์ สอดคล้องกับแนวคิดของ Salcit Technologies จากอินเดีย กับความพยายามในการพัฒนาระบบตรวจจับเสียงไอเพื่อประเมินสุขภาพปอด นำไปสู่ความร่วมมือในการนำโมเดลเอไอ HeAR เป็นฐาน เพื่อใช้ในการวิจัยพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถตรวจวินิจฉัยวัณโรคโดยอาศัยเสียงไอ

นี่จึงเป็นเหตุผลในความร่วมมือของสองบริษัท สู่การนำฐานข้อมูลของโมเดล HeAR มาใช้ในการตรวจวินิจฉัยวัณโรคให้แก่ผู้ป่วย โดยพวกเขาตั้งเป้าจะทำการติดตั้งระบบนี้ลงบนสมาร์ทโฟน อุปกรณ์ที่มีการติดตั้งไมโครโฟนตัวจิ๋วสำหรับเก็บข้อมูลเสียงไว้พร้อมสรรพ จึงสามารถส่งข้อมูลเข้ามาประมวลผลในระบบได้ทันที

โดยทางทีมวิจัยคาดว่า AI ที่สามารถวินิจฉัยวัณโรคจะได้รับการพัฒนาให้พร้อมใช้งานภายในปี 2030

สู่อนาคตในการตรวจวินิจฉัยโรคทางเดินหายใจผ่านเสียงไอ

หลายท่านอาจสงสัยว่าการประเมินจากเสียงไอ จาม และลมหายใจ สามารถนำมาใช้ในการวินิจฉัยได้จริงหรือไม่ แต่อันที่จริงนี่เป็นแนวทางการแพทย์เบื้องต้นที่มีการใช้งานทั่วไป เหมือนที่แพทย์จะใช้หูฟังมาแนบเพื่อตรวจวัดเสียงหายใจของผู้ป่วย จึงยืนยันได้ว่านี่เป็นแนวทางตรวจวินิจฉัยที่มีประสิทธิภาพ

หลายท่านอาจกังวลด้านความแม่นยำ ส่วนนี้ยังมีข้อมูลไม่มากเนื่องจาก AI ยังอยู่ในช่วงต้นในการพัฒนา แต่ข้อมูลจาก Google ระบุว่า โมเดล HeAR ของพวกเขา อาศัยฐานข้อมูลเสียงไอและหายใจจากทั่วโลกกว่า 300 ล้านไฟล์ และเสียงไอของผู้ป่วยอีก 100 ล้านไฟล์ จึงมีฐานข้อมูลแน่นเพียงพอในการประเมินและวิเคราะห์

การพัฒนา AI สำหรับตรวจวินิจฉัยวัณโรคจะเป็นประโยชน์ในหลายด้าน เนื่องจากเป็นระบบที่เข้าถึงง่าย เพียงทำการไอหรือหายใจรดลงบนไมโครโฟนเป็นเวลาไม่กี่วินาทีก็สามารถประเมินอาการของโรคได้ทันที ช่วยเพิ่มโอกาสในการตรวจคัดกรองวัณโรคแต่เนิ่นๆ เพิ่มโอกาสในฟื้นตัวและหายกลับมาเป็นปกติ

การตรวจนี้แตกต่างจากการตรวจวินิจฉัยเดิมที่อาศัยห้องแล็ป เอ็กซ์เรย์ หรือซีทีสแกน อาศัยเพียงสมาร์ทโฟนเครื่องเดียวก็จัดการได้อย่างครอบคลุม เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับพื้นที่ห่างไกลซึ่งขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายโรคและภาระการเดินทางแก่ผู้ป่วย

อีกส่วนที่ถือเป็นจุดเด่นคือ ค่าใช้จ่าย เมื่อเปรียบเทียบกับการเข้ารับการตรวจราคาแพงซึ่งต้องเดินทางไปสถานพยาบาลและอาศัยผู้เชี่ยวชาญ การตรวจคัดกรองเบื้องต้นผ่านเสียงจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงมากอีกทั้งยังสามารถทำได้ด้วยตัวเอง เป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ป่วยและแพทย์ไปพร้อมกัน

แน่นอนเป้าหมายของพวกเขาไม่ได้สิ้นสุดเพียงใช้ในการวินิจฉัยเพียงวัณโรค ในอนาคตพวกเขาตั้งเป้าให้ AI นี้เป็นอุปกรณ์วินิจฉัยทางการแพทย์สำหรับโรคทางเดินหายใจ ปอด หลอดเลือด ไปจนโรคหัวใจผ่านการวิเคราะห์ด้วยเสียง ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการตรวจสุขภาพของผู้คนนับล้านทั่วโลกต่อไป

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/smart-life/713781