Synchron เทคโนโลยีฝังชิปสมองที่ล้ำกว่า Neuralink

Share

Loading

Synchron เป็นบริษัทที่มุ่งเป้าในการพัฒนาระบบ Brain-Computer Interface หรือ BCI เทคโนโลยีที่ช่วยให้เราสามารถใช้งานและสั่งการคอมพิวเตอร์ได้ผ่านความคิด ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ป่วยอัมพาตและผู้มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหว ให้สามารถควบคุมใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้อีกครั้ง

โดยพื้นฐานแนวคิดของพวกเขามีความใกล้เคียงกับ Neuralink เป็นอย่างมาก เริ่มจากการติดตั้ง Stentrode ในหลอดเลือดสมองที่ใกล้กับพื้นผิวสมองซึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณไฟฟ้าสู่ระบบประสาท ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถบังคับสั่งการอุปกรณ์ไร้สายโดยอาศัยเพียงความคิด

ข้อแตกต่างสำคัญคือ Stentrode ไม่จำเป็นต้องทำการเจาะกะโหลกศีรษะเพื่อฝังอิเล็กโทรด แต่อาศัยอุปกรณ์สายสวนหลอดเลือด โดยจะเริ่มต้นจากการส่งเข้าไปผ่านเส้นเลือดใหญ่ที่คอ จากนั้นลัดเลาะตามเส้นเลือดมุ่งสู่หลอดเลือดสมองแล้วจึงนำอิเล็กโทรด 16 ตัวไปติดตั้งบริเวณพื้นผิวสมองในที่สุด

จริงอยู่โดยพื้นฐานนี่ยังคงถือเป็นการผ่าตัดที่อาจสร้างภาระให้แก่ร่างาย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดเจาะกะโหลกเพื่อฝังลงบนเนื้อสมองโดยตรง วิธีนี้ก่อให้เกิดผลข้างเคียงและบาดแผลที่เกิดขึ้นหลังการติดตั้งน้อยกว่า เช่นเดียวกับระยะเวลาฟื้นตัวจากบาดแผลที่ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ในเวลาเพียง 48 ชั่วโมง

สำหรับผู้สนใจเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ผ่านความคิดนี่จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและดูปลอดภัยกว่ามาก

ความสำเร็จของ Synchron ที่ไกลกว่าเจ้าอื่น

ในขณะที่ Neuralink ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดฝังชิปลงบนสมองของผู้เข้าร่วมการทดสอบเป็นครั้งแรกช่วงต้นปี 2024 แต่ทางฝั่ง Synchron ประสบความสำเร็จในการให้ผู้ป่วยอัมพาตสามารถส่งข้อความผ่านช่องทาง X(Twitter ในขณะนั้น) และประสบความสำเร็จในการใช้สายสวนติดตั้งอิเล็กโทรดลงบนสมองตั้งแต่ปี 2022

ปัจจุบัน Stentrode ก้าวหน้าขึ้นอย่างมากเมื่อทางบริษัทออกมาประกาศว่า BCI ของพวกเขาช่วยให้ผู้ทดสอบที่ป่วยด้วยโรค ALS จนไม่สามารถใช้มือได้ สามารถเปิด-ปิดหลอดไฟ ตรวจสอบแขกผู้มาเยือน ไปจนเลือกรายการโทรทัศน์ได้เอง โดยไม่จำเป็นต้องใช้การสัมผัสหรือคำสั่งเสียงใดๆ

ในส่วนนี้เกิดขึ้นได้จากบริการ Alexa ของ Amazon ผู้ช่วยเสมือนที่ได้รับการติดตั้งลงบนแท็บเล็ต และสามารถนำคำสั่งการจากสมองของผู้ใช้งานเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์อัจฉริยะภายในบ้าน จึงทำให้ผู้ใช้งานสามารถกลับมาสั่งการและควบคุมสภาพแวดล้อมภายในบ้านได้อีกครั้ง

ล่าสุดทาง Synchron ออกมาประกาศว่า ผู้เข้าร่วมการทดสอบและทำการติดตั้ง Stentrode มีจำนวนกว่า 10 ราย อีกทั้งยังได้รับการอนุญาตจากทาง FDA ให้สามารถติดตั้งเอาไว้ในสมองได้เป็นเวลานาน แตกต่างจากอุปกรณ์ของเจ้าอื่นที่จำเป็นต้องนำออกหลังผ่านไปช่วงเวลาหนึ่ง

นี่จึงถือเป็นอุปกรณ์ที่มีความปลอดภัยสูงและเข้าใกล้ความเป็นจริงมากกว่า BCI ของบริษัทอื่น

แนวโน้มการพัฒนาในอนาคต

ปัจจุบัน Stentrode รองรับการใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ภายนอกหลายชนิด ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ไปจนอุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลาย ช่วยให้เขาเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและบ้านอัจฉริยะผ่านความคิด แต่นี่เป็นเพียงจุดเริ่มเมื่อล่าสุดทางบริษัทได้ประกาศความร่วมมือกับบริษัทอีกสองแห่ง

บริษัทแรกคือ Apple กับการใช้งาน BCI ร่วมกับ Apple Vision pro อุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงความจริงเสมือนและโลกเสมือนจริง จากเดิมที่อาศัยท่าทางและการเคลื่อนไหวของสายตา พวกเขาจะพัฒนาให้อุปกรณ์นี้รองรับการใช้งานผ่านความคิด ช่วยให้ผู้ใช้งานเข้าถึงโลกเสมือนจริงได้ดียิ่งขึ้น

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ถูกทาบทามเข้ามาเช่นกันคือ ChatGPT จาก OpenAI จริงอยู่ปัจจุบันผู้ใช้งาน Stentrode สามารถเข้าถึงและใช้งาน ChatGPT ได้ แต่การพิมพ์แต่ละครั้งต้องใช้เวลาและพลังงานมาก ไม่สะดวกในการใช้งานสอบถามและพิมพ์ประโยคยาว แต่หากสามารถรองรับความคิดได้โดยตรงจะช่วยให้ใช้งานได้ง่ายยิ่งขึ้น แม้จะเป็นเพียงแผนความร่วมมือโดยคร่าวแต่ก็ช่วยยืนยันว่า ในอนาคต Stentrode จะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตามแม้ทาง Synchron จะมีความก้าวหน้าและผลลัพธ์ออกมาเร็วกว่า แต่ด้านขีดความสามารถ Neuralink อาจสูงกว่ามากจากจำนวนอิเล็กโทรดที่ติดตั้งเป็นจำนวนกว่า 1,024 ตัว กระนั้นทั้งอุปกรณ์ทั้งสองชนิดก็ต้องผ่านการทดสอบอีกหลายด้าน คาดว่าอาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีจึงจะได้รับอนุมัติให้จำหน่ายเชิงพาณิชย์

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/smart-life/714705