เชื่อว่าในยุคนี้ ทุกคนจะคุ้นเคยกับการนำว่า Green ไปใช้กับคำต่าง เพื่อสื่อถึงแนวทางการบริหารจัดการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น Green Economy หรือ เศรษฐกิจสีเขียว Green Industry อุตสาหกรรมสีเขียว Green Tourism การท่องเที่ยวสีเขียว ซึ่งแนวทางที่กล่าวมานี้ก็เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกด้านที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทว่า เมื่อเอ่ยถึง Blue Economy หลายคนอาจยังสงสัยว่าหมายถึงอะไร?
Blue Economy ที่เรากำลังจะกล่าวถึงนี้ หมายถึง “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” โดยสีน้ำเงินนี้สื่อถึงสีของผืนน้ำทะเลและท้องมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งแวดล้อมที่พวกเราต้องให้ความสำคัญและดูแล โดยธนาคารโลกได้ให้นิยามเอาไว้ว่า Blue Economy เป็นแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ บนพื้นฐานการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน
ยิ่งในบริบทของประเทศไทยที่มีภูมิประเทศอยู่ติดทะเลและทะเลยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญของไทย Blue Economy จึงยิ่งทวีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการทำประมง การขนส่งทางทะเล และการท่องเที่ยว
ทว่าขณะนี้ พื้นที่สีน้ำเงิน หรือมหาสมุทร ก็เป็นหนึ่งในสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกเดือด เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น มหาสมุทรอันเป็นบ้านของสัตว์น้ำนานาชนิดจึงร้อนระอุตามไปด้วย ระบบนิเวศใต้น้ำปั่นป่วนจากการกระทำของมนุษย์ หลายอุตสาหกรรมเป็นต้นเหตุของปัญหามลพิษทางทะเล ทั้งโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการถ่ายเทของเสียลงทะเล รวมไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ธุรกิจเรือสำราญ ที่สร้างคาร์บอนฟุตปรินท์จำนวนมหาศาล การทำประมงผิดวิธี ซึ่งส่งผลต่อจำนวนสัตว์น้ำ
และต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา หลายคนอาจคิดว่ามหาสมุทรไม่ใช่พื้นที่อันเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ และกว้างใหญ่มากเสียจนดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด หลายครั้งพื้นที่สีน้ำเงินนี้จึงอาจถูกละเลยไป ทั้งปัญหาการทิ้งขยะลงทะเล อันเป็นสาเหตุของการเกิดไมโครพลาสติก การปล่อยมลพิษต่างๆ จนทำให้สิ่งมีชีวิตใต้น้ำล้มตาย ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผลเสียที่เกิดขึ้นเหล่านี้ก็วนกลับมาหามนุษย์เอง เช่น ปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาด อาหารทะเลปนเปื้อนไมโครพลาสติก เมื่อมนุษย์บริโภคเข้าไปก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ ทำให้หลายประเทศเริ่มมีการตระหนักเรื่องปัญหาของสิ่งแวดล้อมทางทะเล จึงนำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจสีน้ำเงินมาปรับใช้เพื่อพัฒนาและฟื้นฟูระบบนิเวศทะเลไทย โดยหลายๆ บริษัทในไทยรวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับทะเล จะสามารถทำอย่างไรได้บ้างในการส่งเสริมการสร้างเขตเศรษฐกิจสีน้ำเงิน สร้างความยั่งยืน ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
ดังนั้น เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจในการปรับเอาแนวคิดของเศรษฐกิจสีน้ำเงินไปใช้ เว็บไซต์ TAT Academy จึงได้เผยแพร่ 5 แนวทางในการส่งเสริม Blue Economy หรือ เศรษฐกิจสีน้ำเงิน ที่จะช่วยรักษาทรัพยากรชายฝั่งทะเลของไทยได้อย่างยั่งยืน
1.ตระหนักและระบุปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเล
ก่อนอื่นผู้ประกอบการธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจทางทะเลควรตระหนักรู้ถึงผลกระทบที่ธุรกิจของตนเองมีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ปัญหาเรื่องมลพิษ ธุรกิจเรือสำราญ ที่ถึงแม้จะสร้างเม็ดเงินอันมหาศาลให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่ทว่ามีปัญหาในการสร้างมลพิษ ด้วยกระบวนการเผาผลาญเชื้อเพลิง ก๊าซมีเทนที่มีโอกาสรั่วไหลออกมาจากเรือสำราญ ซึ่งเป็นก๊าซที่สร้างผลกระทบในแง่ลบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เสียอีก ปัญหาประมงทำลายล้าง และปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย เหมือนเช่นประเทศเวียดนามที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเวียดนามยังไม่ตระหนักถึงความยั่งยืนทางทะเล จึงจำเป็นต้องเร่งให้ความรู้เรื่องปัญหาของสิ่งแวดล้อมทางทะเล เมื่อสามารถตระหนักและระบุถึงปัญหาได้แล้ว หน่วยงานนั้นๆ ก็จะสามารถดำเนินการพัฒนาแผนเศรษฐกิจสีน้ำเงินได้ต่อไป
2.ส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องทางทะเล
หลังจากที่ตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลแล้ว ก็ถึงขั้นตอนที่จะต้องส่งต่อความรู้นั้นต่อไป การปูพื้นฐานเป็นสิ่งสำคัญ เหมือนกับการตอกเสาเข็มก่อนที่จะสร้างตึกอันแข็งแรง เศรษฐกิจสีน้ำเงินก็เช่นกัน ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องควรมีนโยบายเกี่ยวกับการให้ความรู้เรื่องความยั่งยืนทางทะเล การพัฒนาเขตเศรษฐกิจสีน้ำเงินให้แก่พนักงานหรือบุคลากรภายใน สร้างความตระหนักรู้เรื่องความสำคัญของการสร้างเขตเศรษฐกิจสีน้ำเงิน และคอยอัปเดตให้ทันสถานการณ์โลกเดือดอยู่เสมอ เพราะธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่หยุดนิ่ง
3.ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางทะเลสมัยใหม่
ในยุคที่เทคโนโลยีไปไกลมากแล้ว แน่นอนว่าเราสามารถนำเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้ได้กับหลายอย่าง ในส่วนของ Blue Economy เองก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเก็บข้อมูล สอดส่องดูแลพื้นที่ การทำประมงอย่างยั่งยืน เป็นต้น ตัวอย่างประเทศที่มีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสีน้ำเงิน เช่น มณฑลซานตง ประเทศจีน เป็นเขตเศรษฐกิจสีน้ำเงินแห่งแรกของจีน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำหลายสิบชนิด เป็นแหล่งการทำประมง เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และขนส่งทางน้ำ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันกับไทย ด้วยความที่รัฐบาลของจีนเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่นี้ มณฑลซานตงจึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางทะเลสมัยใหม่ เพื่อที่จะนำไปสำรวจทรัพยากรทางทะเล และประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน
4.ทำงานอย่างเป็นระบบในทุกภาคส่วน
การจะดำเนินงานทั้งหมดให้สำเร็จลุล่วงได้อย่างมีประสิทธิผล ย่อมมิใช่เกิดจากการดำเนินการเพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว แต่เกิดจากการที่ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือกัน เหมือนเช่นประเทศนอร์เวย์ ที่เป็นประเทศติดทะเล และมีทะเลเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญ จึงมีวิธีการจัดการทรัพยากรทางทะเลแบบบูรณาการ ด้วยความร่วมมือจากภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมไปถึงกลุ่มเอกชน กลุ่มประมง สถาบันวิทยาศาสตร์ สถาบันด้านการจัดการต่างๆ ซึ่งการที่ทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือกัน ทำให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสบผลสำเร็จ
5.วัดผล เพื่อพัฒนาปรับปรุงแผนต่อไป
อีกหนึ่งแนวทางสำคัญเพื่อส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจ คือ การวัดผลการดำเนินงาน เพื่อให้รู้ได้ว่านโยบายหรือข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ได้ดำเนินการนั้นมีประสิทธิภาพมากพอ สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดหรือไม่ เช่น หลังจากมีการให้ความรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลแก่บุคลากรในหน่วยงานเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องวัดผลต่อไป ว่าพวกเขาได้ตระหนักถึงประเด็นปัญหา แล้วสามารถนำไปปรับใช้กับการทำงานได้จริงหรือไม่ หากยังไม่เป็นผล ก็มุ่งพัฒนาปรับปรุงแผนพัฒนาต่อไป โดยที่ไม่ละทิ้งเป้าประสงค์ในการสร้างความยั่งยืนให้แก่ทรัพยากรทางทะเล
ดังนั้น โดยสรุปแล้ว “เศรษฐกิจสีน้ำเงิน” เรียกได้ว่ากำลังมาแรงแซงทางโค้ง และเป็นแนวคิดที่สำคัญไม่แพ้แนวทางเศรษฐกิจ “สีเขียว” ที่เราคุ้นเคย ซึ่งแนวทางในการปฏิบัติให้เกิดเป็นผลสำเร็จนั้นก็เริ่มจากการที่หน่วยงานและภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะต้องตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมทางทะเลที่กำลังเกิดขึ้น แล้วจึงดำเนินงานวางแผนพัฒนาเขตเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ไม่ว่าจะเป็น การให้ความรู้แก่บุคลากร การใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และวัดผลเพื่อพิสูจน์ว่าแผนพัฒนานั้นได้ผลจริง ช่วยส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน อนุรักษ์ทรัพยากรโลกใต้ผืนมหาสมุทรต่อไป
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2024/11/02/5-ways-to-promote-blue-economy/