ในโลกธุรกิจที่ทุกบริษัทต้องแสวงหาหนทางเพื่อความยั่งยืนและลดจำนวนขยะ ผู้จำหน่ายและผู้ผลิตผลไม้รายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง ‘โดล เจแปน’ (Dole Japan) กำลังทำให้ทุกคนประหลาดใจ
ด้วยแนวคิดนำกล้วยที่ไม่สามารถขายได้มาแปรรูปเป็นถ่าน แม้จะฟังดูน่าเหลือเชื่อ แต่กลับกลายเป็นวิธีการที่ Dole Japan มองเป็นโอกาสในจัดการกับปัญหาผลไม้ที่ถูกปฏิเสธจากผู้บริโภคในญี่ปุ่น ที่ส่วนใหญ่ไม่ชอบบริโภคกล้วยหรือผลไม้อื่นๆ ที่ผิวมีตำหนิหรือมีขนาดใหญ่เกินไป เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหา ‘อาหารเหลือทิ้ง’
ทั้งนี้ Dole Japan ได้เริ่มพัฒนาถ่านที่ทำมาจากกล้วย โดยมีแผนจะวางจำหน่ายภายในปี 2025 เพื่อนำไปใช้ในการทำกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ เช่นการย่างบาร์บีคิว
ประธานบริษัท Dole Japan ฮิโรชิ อาโอกิ Hiroshi Aoki เผยว่า “เราคาดว่าจะสามารถจัดจำหน่ายถ่านกล้วยนี้ได้ทั้งในร้านค้าปลีกบางแห่งและเว็บไซต์ชอปปิงออนไลน์ หากการดำเนินการทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี อาจจะเริ่มวางจำหน่ายได้เร็วที่สุดในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า”
ปัญหากล้วยเหลือทิ้งของ Dole Japan นั้นเกิดจากการที่ผู้บริโภคไม่ชื่นชอบกล้วยที่มีรูปลักษณ์ไม่สวยงาม ทำให้ในแต่ละปีมีผลผลิตกล้วยประมาณ 20,000 ตัน จากฟิลิปปินส์และประเทศอื่นๆ ที่ต้องถูกทิ้งไป ต่อมาในปี 2021 Dole Japan จึงได้เปิดตัวโครงการ ‘Mottainai Banana Project’ ซึ่งเป็นโครงการที่ทำงานร่วมกับเกษตรกรและหน่วยงานอื่นๆ ในการนำกล้วยที่ไม่สามารถจำหน่ายได้กลับมาใช้ประโยชน์
เช่นนำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มและขนมต่างๆ โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา โครงการนี้สามารถนำกล้วยประมาณ 900 ตัน มารีไซเคิลได้ โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มเป็น 5,000 ตัน ภายในไม่กี่ปีข้างหน้า
นอกจากนำมาผลิตเป็นถ่านแล้ว กล้วยเผายังถูกนำมาใช้เพื่อปรับปรุงดินในฟิลิปปินส์ ซึ่งถ่านจากกล้วยนี้ยังสามารถจุดไฟได้ง่ายแม้จะเผาไหม้ไม่นานเท่าถ่านทั่วไป
คุณสมบัติของถ่านกล้วยอีกอย่างคือ สามารถใช้ในการควบคุมความชื้นและลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้อีกด้วย ถือเป็นการแปรรูปที่สร้างคุณค่าและช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไปในตัว
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1128968788791456&set=a.811136580574680