วิกฤตสุขภาพจิตทวีความรุนแรงทั่วโลก จิตแพทย์ AI อุดช่องโหว่ได้จริงหรือไม่?

Share

Loading

วิกฤตสุขภาพจิตทั่วโลกกำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญ การเติบโตของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในฐานะเครื่องมือแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิต จะสามารถอุดช่องโหว่ดังกล่าวได้จริงหรือไม่?

วิกฤตสุขภาพจิตทั่วโลกกำลังทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจากการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่าในช่วงชีวิตหนึ่งของประชากร 1 ใน 4 บนโลกต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิต ส่วนในปี 2022 แค่สหรัฐฯ เพียงประเทศเดียวมีประชากรที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่   23% ประสบปัญหาสุขภาพจิต และเกือบครึ่งหนึ่งไม่ได้รับการรักษาที่จำเป็น

แม้ว่าปัญหาสุขภาพจิตจะคิดเป็น 10% ของดัชนีภาระทางสุขภาพทั่วโลก แต่เมื่อเทียบกับจำนวนบุคลากรด้านสุขภาพจิตถือว่ามีจำนวนที่น้อยกว่ามาก แค่ 1% เท่านั้น นอกจากปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญในการรักษาแล้ว ประเทศต่างๆทั่วโลกยังพบกับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการรักษา เช่น ประเทศที่มีรายได้น้อยมีจิตแพทย์น้อยกว่า 1 คนต่อประชากร 100,000 คน

เพื่อแก้ไขช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหลายคนจึงเริ่มหันมาใช้ AI เพื่อช่วยในการวินิจฉัยและบำบัดรักษาโรคให้ผู้ป่วย

AI ในฐานะเครื่องมือแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิต

จุดเด่นของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) คือความสามารถในการประมวลผลข้อมูลจำนวนมากจากหลากหลายแหล่ง และในปัจจุบันในไทยเอง ก็มีแพลตฟอร์ม AI เพื่อประเมินและวินิจฉัยสุขภาพจิตของผู้ใช้ ทั้งการพูดคุย ทำแบบประเมิน ไปจนถึงตรวจจับน้ำเสียง รวมถึงอาจให้คำแนะนำในการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายได้ ซึ่งถือเป็นข้อดีในการลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์

อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกับเทคโนโลยีอื่นๆที่ส่งผลกระทบให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง บทบาทของ  AI ในฐานะเครื่องมือแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิตจึงก่อให้เกิดข้อกังวลด้านจริยธรรมหลายประการ

แม้ AI จะมีประสิทธิภาพในการวินิจฉัยปัญหาสุขภาพจิตในเบื้องต้น เช่น การตรวจจับน้ำเสียงของภาวะอารมณ์ที่ผิดปกติ แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัญหาสุขภาพจิตนั้นมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนในการวินิจฉัยซึ่งยังต้องอาศัยนักจิตบำบัดหรือจิตแพทย์ในการรักษา นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องข้อมูลผู้ป่วย ซึ่งยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าบริษัทที่พัฒนาเครื่องมือ AI ขึ้นมา จะนำไปใช้ต่อยอดเพื่อฝึกสอนโมเดล AI ต่อหรือไม่

ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า ในอนาคตเมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้น แพลตฟอร์ม AI จะทวีความเชี่ยวชาญในการจดจำรูปแบบอารมณ์และพฤติกรรม จนสามารถออกแบบการดูแลเฉพาะบุคคลได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งเมื่อพัฒนาไปจนถึงจุดนั้น บทบาทของ AI ในฐานะเครื่องมือแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิต จะเข้ามาอุดช่องโหว่ในระบบสาธารณะสุขทั่วโลก เพราะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตทั่วโลกได้

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/smart-life/715642