ในประวัติศาสตร์เรื่องอาหารการกินของมนุษยชาติ ตลอดครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา บางคนอาจเคยได้ยินคำว่า ‘อาหารแฟรงเกนสไตน์’ ปรากฏผ่านสื่อกันมาไม่มากก็น้อย และในช่วงไม่กี่ปีมานี้ คำนี้ถูกนำกลับมาใช้กันบ่อยๆ อีกครั้ง เมื่อมีการพูดถึงนวัตกรรมการผลิตเนื้อจากห้องทดลอง
หากว่ากันตามความรู้สึกแรก เราต่างมีความเข้าใจว่าเนื้อที่เพาะขึ้นจากเซลล์ในห้องทดลอง และเคยถูกโฆษณาเป็นอาหารแห่งอนาคต สร้างขึ้นมาเพื่อทดแทนรูปแบบการปศุสัตว์แบบเก่า กอบกู้โลกจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เต็มไปด้วยข้อดีสารพัด ไฉนสุดท้ายแล้วกลับกลายมาเป็นเนื้อแฟรงเกนสไตน์ที่สื่อถึงภาพลบ และดูเป็นเนื้อของสัตว์ประหลาด ออกจะเป็นเรื่องพลิกฝ่ามือมากเกินไปหน่อย
แต่หากลองไล่ประวัติศาสตร์การเปรียบอาหารเป็นดั่งแฟรงเกนสไตน์แล้ว มันก็อาจไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจสักเท่าไหร่ เพราะตลอดระยะเวลาของการค้นพบนวัตกรรมการสร้างสรรค์อาหาร หลายต่อหลายครั้งเราก็มักเรียกสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ หรือสิ่งที่เราไม่รู้ไม่เข้าใจว่าเป็นตัวละครจากนวนิยายคลาสสิก ‘Frankenstein; or, The Modern Prometheus’ ของ แมรี เชลลีย์ (Mary Shelley) มาโดยตลอด ซึ่งบางครั้งมันก็เป็นจริงดังที่กังวล
การนำเอาชื่อมอนสเตอร์อย่าง ‘แฟรงเกนสไตน์’ มาผูกรวมไว้กับเรื่องราวของอาหารนั้นมีมาตั้งแต่ปี 1969 แรกเริ่มคำนี้ถูกใช้บรรยายอาหารที่เชื่อว่าจะอุดมไปด้วยสารพิษจากยาฆ่าแมลงที่ถูกผลิตขึ้นมาใช้ บางครั้งใช้กับอาหารแช่แข็ง หรือพวกเนื้อสำเร็จรูปที่ผ่านกระบวนการผสมสารถนอมอาหารมาจากโรงงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในความกังวลของผู้คนในสมัยนั้นที่มองว่ามันอาจมีอันตรายต่อผู้บริโภค หรือหากพรรณนาแบบน่ากลัวไปเลย บ้างก็บอกว่า เป็นอาหารที่เมื่อกินเข้าไปแล้วอาจตัวซีดเหมือนแฟรงเกนสไตน์ก็มี แต่ก็ไม่ได้พบเห็นการใช้บ่อยมากนัก
ช่วงที่เริ่มใช้กันแพร่หลายจริงๆ เป็นตอนที่โลกรู้จักอาหารตัดต่อพันธุกรรมหรือ GMO ผ่านการรายงานข่าวของสื่อมวลชน หรือบางครั้งก็ยังถูกใช้เรียกอาหารจำพวกฟาสต์ฟู้ดบ้างเหมือนกัน (ในประเทศไทย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็ใช้คำว่า ‘อาหารแฟรงเกนสไตน์’ เพื่อบรรยายประวัติศาสตร์อาหารฟาสต์ฟู้ด) แต่กรณีหลังก็ไม่แพร่หลายเท่าเรื่อง GMO ที่กลายเป็นภาพสะท้อนของสิ่งประดิษฐ์ที่มนุษยชาติยังไม่รู้จักหรือเข้าใจ และความกลัวถึงผลกระทบที่ไม่คาดคิด (ที่ขณะนั้นยังไม่นับรวมถึงผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ)
นอกจากนี้ยังมีการใช้คำนี้เพื่อรณรงค์ให้คนหันมากินมังสวิรัติกันมากขึ้นด้วย เป็นตัวอย่างของการตลาดที่เลือกใช้คำเพื่อกระตุ้นความสนใจ เช่นในปี 2015 มีวิดีโอไวรัลเป็นภาพเนื้อสเต๊กที่ยังดิบและดูสกปรกกระตุกไปมา จนทำให้ผู้ชมเบือนหน้าหนีและรู้สึกไม่ดีกับเนื้อสัตว์ ปลุกเร้าความกลัว และแน่นอน วิดีโอตัวนั้นใช้ชื่อสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ‘Frankenstein meat’ นั่นเอง
สำหรับกรณีล่าสุด ‘เนื้อแฟรงเกนสไตน์’ ที่ถูกนำมาใช้กับเนื้อที่ถูกเพาะขึ้นในห้องทดลองนั้น เป็นการนำใช้ที่หวังผลทั้งในแง่ความรู้สึก ความกังวลที่มีต่ออาชีพการงาน และการวิจารณ์ถึงคุณลักษณะของอาหาร ตัวอย่างเช่น เกษตรกรในอังกฤษจะใช้คำนี้เพราะรู้สึกไม่ชอบ เกลียด อยากเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งนวัตกรรมนี้ เพราะทุกๆ วันมีเงินลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีนี้มากขึ้นเรื่อยๆ มีแม้แต่การศึกษาผลทางศีลธรรม จริยธรรม กับเนื้อชนิดใหม่ แต่แทบไม่มีการพูดถึงผลกระทบหรือหาทางออกให้กับธุรกิจเกษตรกรรายย่อยในชนบทเลย
หรือในประเทศอิตาลี คำนี้ถูกนำมาใช้ไม่ต่างอะไรกับเรื่องราวในนวนิยาย ที่ให้ความหมายถึง ‘สิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติ’ ซึ่งสมาคมอาหารและการเกษตร Coldiretti เป็นอีกกลุ่มที่ต่อต้านเนื้อในห้องทดลองอย่างชัดเจน แถมยังเป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันให้เกิดกฎหมายห้ามการซื้อขายเนื้อประเภทนี้ออกมาจนสำเร็จเมื่อช่วงปลายปี 2023
ทั้งนี้ทางฝ่ายต่อต้านในอิตาลีให้เหตุผลว่า ทำเพื่อมุ่งหวังที่จะ ‘ปกป้องมรดกด้านปศุสัตว์ของชาติ’ พร้อมสร้างความตระหนักถึงคุณค่าทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็โจมตีนวัตกรรมนี้ว่าเป็นเรื่องหลอกลวง สิ่งที่พูดมาไม่เป็นความจริง ไม่สามารถช่วยโลกจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ใช้น้ำสิ้นเปลืองกว่าการเลี้ยงสัตว์ หรือไม่ก็โจมตีในเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ (แต่เหตุผลเหล่านี้มักถูกย้อนกลับว่านำมาจากงานวิจัยที่ไม่ได้ผ่านการรับรองเชิงคุณภาพ) และทุกๆ บทความที่ฝ่ายต่อต้านผลิตออกมาหรือเมื่อให้ข่าวกับสื่อมวลชนก็จะเน้นย้ำคำว่า ‘เนื้อแฟรงเกนสไตน์’ ก่อน และแทบไม่ค่อยใช้ ‘เนื้อจากห้องทดลอง’ ออกมาเลย ส่วนคำว่า ‘อาหารแห่งอนาคต’ นั้นลืมกันไปได้เลย
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันทางสหภาพยุโรปถือว่าเนื้อสัตว์ที่เพาะในห้องทดลองเป็น ‘อาหารใหม่’ หมายความว่าผลิตภัณฑ์ใหม่ใดๆ ก็ตามจะต้องได้รับอนุมัติจากสหภาพยุโรป หากสหภาพยุโรปอนุมัติให้นำเข้ามาจำหน่ายได้ อิตาลีก็ไม่สามารถห้ามผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้
จากเรื่องที่เล่ามา ก็คงพอเห็นจุดร่วมของการนำเอาตัวละคร ‘แฟรงเกนสไตน์’ มาใช้กับอาหารในกรณีนวัตกรรมที่เพิ่งเกิดใหม่ ความกลัวถึงผลกระทบที่คาดไม่ถึง ความรู้สึกที่ขัดกับธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งสัญลักษณ์ของการทดลองหรือการเล่นกับจริยธรรม และการตลาดเพื่อกระตุ้นความสนใจ
แต่อย่างน้อยๆ ถึงแม้คำนี้จะถูกมองในด้านลบ (หรือใช้เรียกกระแส) แต่ในหลายครั้งมันคือสิ่งกระตุ้นให้เกิดการถกเถียงในสังคม เกี่ยวกับอนาคตของระบบการจัดการอาหารขึ้นมา จนนำไปสู่ทางออกที่ดีกว่า และหวังว่าเราจะมีคำตอบสำหรับเนื้อจากห้องทดลองในอนาคตด้วยเช่นกัน
แหล่งข้อมูล
https://www.facebook.com/photo/?fbid=1129684812053187&set=a.811136580574680