เปิดคู่มือใช้งาน ‘Generative AI’ ดีอี-เอ็ตด้าปักหมุดแนวทางบริหาร

Share

Loading

ชำแหละไกด์ไลน์บุ๊ก “แนวทางประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร” เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริหาร และผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปประยุกต์ใช้เพื่อการวางกรอบการกำกับดูแล ครอบคลุมตั้งแต่การทำความเข้าใจ Gen AI ประโยชน์ และข้อจำกัด ความเสี่ยง และแนวทางปฏิบัติ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า Generative AI ได้กลายเป็นอีกเครื่องมือสำคัญ สำหรับองค์กรในยุคดิจิทัล ที่หลายๆ องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนได้นำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มทักษะการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ถึงแม้การใช้งาน Generative AI จะเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายอุตสาหกรรม แต่ประเด็นเรื่องความเสี่ยงก็ยังคงเป็นสิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะเรื่องความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยของข้อมูล และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพนักงาน และสังคมในภาพรวม

ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่องค์กรจะต้องมีการวางแผนตลอดจนแนวทางการกำกับดูแล การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาวควบคู่กันไปด้วย

ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้งาน Generative AI เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ ที่ไม่พึงประสงค์ โดยที่องค์กรมีแนวทางในการกำกับดูแลที่ชัดเจน และสามารถพิจารณานำเทคโนโลยีนี้ ไปใช้ได้อย่างมีธรรมาภิบาล เหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

นโยบาย และแนวทางที่ออกมา ก็เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับการใช้เทคโนโลยี AI ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการ ด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) ที่ได้มีการกำหนดในมิติ ของการเตรียมความพร้อมของประเทศในด้านสังคม จริยธรรม กฎหมาย และกฎระเบียบสำหรับ การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์

พร้อมกันนี้ ภายใต้การดำเนินงานของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) โดยศูนย์ธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ หรือ AIGC (AI Governance Center) ที่มีบทบาทในการส่งเสริมให้มีการประยุกต์ใช้ ปัญญาประดิษฐ์ AI อย่างเหมาะสม ลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น ภายใต้ กรอบธรรมาภิบาลปัญญาประดิษฐ์ จึงได้ออก “แนวทางการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร” เพื่อเป็นแนวทาง สำหรับผู้บริหารและบุคลากรที่เกี่ยวข้องในองค์กร ที่มุ่งสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยี Generative AI ในทุกมิติที่สำคัญ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้องค์กรที่สนใจ สามารถนำไปช่วยกำหนดแนวทางการประยุกต์ใช้ งาน Generative AI ภายในองค์กรได้อย่างชัดเจน และสอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งประเด็นสำคัญ ในแนวทางการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับ องค์กร ฉบับนี้ ถูกต่อยอดขยายผลมาจากเล่มแรก อย่าง “แนวทางการประยุกต์ใช้ ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารองค์กร” (AI Governance Guideline for Executives) ที่พัฒนาโดยทีมผู้เชี่ยวชาญ จากศูนย์ AIGC โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาและตัวอย่าง แนวทางปฏิบัติ ทั้งจากในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงมาตรฐานสากล ที่จะเป็นแนวทางให้องค์กร สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม

โดยเนื้อหาคู่มือจะประกอบไปด้วย 5 ส่วนหลักๆ ได้แก่

  1. การทำความเข้าใจ Generative AI ที่จะช่วยปูความเข้าใจพื้นฐานให้แก่ผู้เกี่ยวข้องในองค์กรได้เข้าใจ หลักการที่สอดคล้องกัน ทั้งในมุมของคำนิยาม ความหมาย และคำศัพท์ที่เกี่ยวข้อง
  2. ประโยชน์ และข้อจำกัด Generative AI ที่จะฉายภาพให้เห็นในมุมของการนำไปใช้งานได้จริง พร้อมด้วย Use case ที่น่าสนใจ
  3. ความเสี่ยงของ Generative AI เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นความเสี่ยงของ Generative AI พร้อมทั้งแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ให้เหมาะสมกับบริบทการใช้งานจริงขององค์กร
  4. แนวทางการนำ Generative AI มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ทั้งในเชิงโครงสร้าง และรูปแบบของการประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทขององค์กร
  5. ข้อพิจารณาสำหรับการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลที่มุ่งเน้นให้องค์กรสามารถ สร้างสมดุล ระหว่างการใช้ประโยชน์กับการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มาจาก Generative AI ควบคู่ไปกับ การส่งเสริมให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในกระบวนการต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม

สำหรับ AI Governance Guideline แบ่งการกำกับดูแลเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1.การกำหนดโครงสร้างการกำกับดูแล (Al Governance Structure)  เป็นการนำเสนอ แนวทางการ กำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้ AI ขององค์กร โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแล ทำหน้าที่ ในการกำหนดกลยุทธ์ และนโยบาย ที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ AI ภายในองค์กรรวมถึง มีหน้าที่ในการเฝ้าติดตาม และประเมินผลการประยุกต์ใช้ AI  เพื่อให้มั่นใจได้ว่าองค์กรมีการกำกับดูแล การประยุกต์ใช้ AI อย่างเหมาะสม

2.การกำหนดกลยุทธ์ในการประยุกต์ใช้ AI (Al Strategy) เป็นการมองหาโอกาส หรือประโยชน์ที่องค์กร จะได้รับจากการนำ AI มาประยุกต์ใช้ เพื่อตอบสนองเป้าหมายองค์กร พร้อมทั้งวิเคราะห์ความสำเร็จ จากการนำ AI มาประยุกต์ใช้ ความเป็นไปได้ในการดำเนินการ ความพร้อมขององค์กร และทรัพยากร ที่จำเป็น เพื่อให้ มั่นใจว่าการประยุกต์ใช้ AI จะบรรลุตามเป้าหมาย และประสบความสำเร็จตามที่กำหนด รวมถึงวิเคราะห์ความเสี่ยง และผลกระทบจากการนำ AI มาประยุกต์ใช้ควบคู่ไปกับความสอดคล้อง กับหลักการจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ และความสอดคล้องด้านกฎหมาย และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง

3.การกำกับดูแลการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับ AI (AI Operation) เป็นการอธิบายถึงแนวปฏิบัติตลอด วงจรชีวิตของ AI เพื่อให้มั่นใจว่า AI ได้รับการออกแบบ พัฒนา และนำไปใช้งานได้อย่างสอดคล้อง ตามเป้าหมายขององค์กร รวมถึงสอดคล้อง ตามหลักการ จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ กฎหมาย และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยัง อธิบายถึง แนวปฏิบัติในการจัดเตรียมข้อมูล (Data Preparation) เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพ และเหมาะ สำหรับนำไปใช้สอน และทำงานร่วมกับ AI ตลอดจนแนวปฏิบัติการรับมือกับความเสี่ยง และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น การเฝ้าติดตาม และการประเมินผลการประยุกต์ใช้งาน AI เพื่อปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ

รมว.กระทรวงดีอี ย้ำว่า “แนวทางการประยุกต์ใช้ Generative AI อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับองค์กร” ฉบับนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญ ของการสร้างสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์กับการบริหารจัดการความเสี่ยงในการประยุกต์ใช้ Generative AI ที่มีความสอดคล้องกับกฎหมาย และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง ที่จะนำพาองค์กรในประเทศไปสู่การใช้ เทคโนโลยีได้อย่างมั่นคง และมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งช่วยยกระดับความพร้อมในทุกภาคส่วนจาก การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว อีกทั้ง ยังเป็นการแสดงถึงความพร้อมด้าน AI ของรัฐบาลที่มีนโยบายที่เด่นชัดในเรื่องดังกล่าว ที่จะช่วย ยกระดับบทบาทของไทยในเวทีระดับสากลต่อไป

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1151369