เจาะลึก ‘ปัญหาการขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์’

Share

Loading

ปัญหาการขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่ปัญหาระดับประเทศ แต่เป็นวิกฤตระดับโลกที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างให้ความสำคัญกับการหาทางออก เพื่อชักชวนให้คนรุ่นใหม่หันมาศึกษาต่อในสายวิทย์ เพื่อวางอนาคตการทำงานใน อาชีพสายวิทย์ ที่ขณะนี้ตลาดแรงงานต่างมีความต้องการ “นักวิทย์รุ่นใหม่” อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด หากอ้างอิงตามบทความเรื่อง “จะเกิดอะไรขึ้นถ้าประเทศไทยไม่มีนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่” จากเว็บไซต์ THE STANDARD ก็ได้ระบุถึงปัญหาการขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยรุ่นใหม่ที่พร้อมทุ่มเทให้กับการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมจำนวนมาก โดยได้วิเคราะห์ต้นตอของปัญหานี้ว่า อาชีพสายวิทย์ เป็นอาชีพที่ผลตอบแทนในสายงานไม่เพียงพอและเส้นทางอาชีพไม่มั่นคง อีกทั้งระบบสนับสนุนงานวิจัยยังมีข้อจำกัดอยู่มาก

ดังนั้น หากปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่เพียงแต่ส่งผลต่อการพัฒนาในประเทศเท่านั้น แต่ยังอาจส่งผลลบต่ออนาคตของประเทศไทยในระดับสากลอย่างลึกซึ้งและยาวนาน ดังนี้

การขาดนวัตกรรมอย่างสิ้นเชิง

หากไม่สนับสนุนการสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับการขาดแคลนนวัตกรรมอย่างรุนแรง การพัฒนาสินค้าหรือบริการที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างแท้จริงจะยิ่งเป็นเรื่องยาก สินค้าและเทคโนโลยีที่เราผลิตขึ้นจะกลายเป็นเพียงผลิตภัณฑ์พื้นฐานหรือการเลียนแบบสินค้าเดิมๆ ขาดความโดดเด่น ไม่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างแน่นอน

ศักยภาพในการแข่งขันบนเวทีโลกที่ลดลงอย่างน่ากังวล

หากไม่มีบุคลากรที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ ประเทศไทยจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติและไม่มีโอกาสในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นของตนเอง เราจะไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศให้กลายเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและจะถูกทิ้งห่างบนเวทีการแข่งขันระดับโลก การเป็นเพียงผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างเดียวอาจทำให้ประเทศไทยต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของเทคโนโลยีจากต่างชาติ ทำให้ต้องลงทุนในสินค้านำเข้าและสูญเสียความสามารถในการต่อรองในตลาดโลก

‘สมองไหล’ ที่ยากจะกู้คืน

ประเทศไทยยังขาด Ecosystem หรือระบบรองรับที่จะจูงใจให้บุคลากรที่มีศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์กลับมาทำงานในประเทศ เมื่อไม่มีการสร้างสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการทำงานและพัฒนาอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้เลือกที่จะทำงานในต่างประเทศ ทำให้ประเทศสูญเสียบุคลากรคุณภาพสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การขาดนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่อาจทำให้ประเทศถูกมองข้ามจากคนเก่งที่จะเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ ‘ปัญหาการขาดแคลนนักวิทยาศาสตร์’ นอกเหนือจากต้องทำความเข้าใจผลกรระทบของปัญหาดังที่กล่าวมาแล้ว ยังต้องมีการ Educate หรืออัปเดตให้เด็กรุ่นใหม่ทราบด้วยว่า แล้วการเรียนในสายวิทย์ เพื่อออกมาประกอบ อาชีพสายวิทย์ นั้น มีอาชีพไหนที่มาแรง ค่าตอบแทนดี และมีความมั่นคงบ้าง วันนี้เราจึงมี 6 อาชีพสายวิทย์ ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมาอัปเดตกัน

1.นักเคมีปรุงยา (Pharmaceutical Chemists)

อาชีพสายตรงสำหรับเด็กสายวิทย์ก็คงหนีไม่พ้น ‘นักเคมี’ หรือพิเศษขั้นกว่าด้วยอาชีพ ‘นักเคมีปรุงยา’ โดยอาชีพนี้มีความสำคัญและถือเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการแพทย์ ด้วยความที่นักเคมีปรุงยาจะต้องเป็นคนคิดค้น ค้นคว้า และทำการทดลองเพื่อหาตัวยารักษาโรคและเภสัชภัณฑ์ต่างๆ รวมถึงตรวจสอบคุณภาพการผลิตตั้งแต่วัตถุดิบ โรงงาน สารปนเปื้อนและสารพิษต่างๆ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล

อยากเป็นนักเคมีปรุงยา ต้องเรียนหลักสูตร

  • Bachelor of Science (Major in Chemistry)
  • Bachelor of Science (Major in Microbiology)
  • Bachelor of Biomedical Science
  • Bachelor of Biotechnology
  • Master of Science
  • Master of Biotechnology
  • Master of Molecular Biology

รายได้เฉลี่ยของนักเคมีปรุงยาในประเทศไทย : เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทำงาน

2.นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง (Cosmetic Scientist)

ใครที่หลงใหลในสายวิชาเคมีแต่อยากประกอบอาชีพที่ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ น่าจะสนใจอาชีพนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง เพราะนอกจากจะต้องคิดค้น ทดลอง และทำการวิจัยหาเครื่องสำอางใหม่ๆ และผลิตภัณฑ์ของใช้ส่วนตัวแล้ว ‘นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง’ ยังต้องผสมผสานความรู้เรื่องกลิ่น สี พืชพันธุ์และสารสกัดจากธรรมชาติ รวมถึงความรู้เรื่องการตลาดต่อผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทด้วย เรียกได้ว่า นอกจากจะต้องนั่งอยู่ในห้องแล็ปแล้ว ยังต้องตามเทรนด์ภายนอกให้ทันด้วย

อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง ต้องเรียนหลักสูตรอะไร

  • Bachelor of Science (Major in Chemistry)
  • Bachelor of Engineer (Major in Chemical Engineering)
  • Master of Molecular Biology

รายได้เฉลี่ยของนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางในประเทศไทย : เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 98,000 – 300,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทำงาน

3.นักระบาดวิทยาภาคสนาม (Field Epidemiologist)

อีกหนึ่งอาชีพสายวิทย์ที่ถูกบรรจุให้เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการแพทย์แบบโดยตรง เพราะอาชีพนี้มีบทบาทตั้งแต่ก่อนมีสัญญาณไปจนถึงภายหลังการเกิดโรคระบาด เนื่องจาก ‘นักระบาดวิทยาภาคสนาม’ จะต้องเป็นผู้ลงพื้นที่เก็บสถิติและตัวอย่างเชื้อเพื่อนำมาวิจัยหาต้นตอและการกระจายตัวของเชื้อโรคนั้นๆ หาแนวทางป้องกันหรือควบคุมโรค รวมถึงการวิจัยและทำนายโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หรือศึกษาการกลายพันธุ์ของเชื้อเดิมไปเป็นโรคใหม่ด้วยเช่นกัน

อยากเป็นนักระบาดวิทยาภาคสนาม ต้องเรียนหลักสูตรอะไร

  • Bachelor of Science (Major in Public Health)
  • Bachelor of Science (Major in Biology)
  • Bachelor of Science (Major in Biochemistry and Molecular Biology)
  • Master of Biostatistics

รายได้เฉลี่ยของนักระบาดวิทยาภาคสนามในประเทศไทย : เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 80,000 – 262,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทำงาน

4.นักวิทยาศาสตร์การอาหาร (Food Scientist)

อาหารถือเป็นปัจจัยหลักของมนุษย์ ดังนั้น อาชีพ ‘นักวิทยาศาสตร์อาหาร’ จึงเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานสายวิทยาศาสตร์อยู่เสมอ อาชีพนี้จะเน้นการวิเคราะห์ วิจัย ควบคุมการผลิต รวมถึงความปลอดภัยในกระบวนการแปรรูปอาหารและผลิตภัณฑ์ทางอาหาร และ ควบคุมความยั่งยืนทางอาหารและบรรจุภัณฑ์ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่คิดค้นวิธีการใหม่ๆ ที่จะช่วยปรับปรุงคุณภาพ รสชาติของอาหาร และวิธีการแปรรูปอีกด้วย

อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์การอาหาร ต้องเรียนหลักสูตรอะไร

  • Bachelor of Science (Major in Food Science and Nutrition)
  • Bachelor of Biotechnology (Major in Biology)
  • Master of Food Science and Technology
  • Master of Biotechnology
  • Master of Entrepreneurship and Innovation (Major in Food Entrepreneurship)

รายได้เฉลี่ยของนักวิทยาศาสตร์การอาหารในประเทศไทย : เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 60,000 – 270,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทำงาน

5.นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist)

มาถึงอาชีพยอดฮิตมาแรงแซงทุกตลาดและเป็นที่ต้องการอย่างมากในยุคที่เทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ‘นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล’ หรือที่เรียกกันจนชินปากว่า ‘ดาต้า’ คือ ผู้จัดเก็บและจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อนำไปวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงลึก ซึ่งเป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจและองค์กร และเป็นอาชีพที่ต้องอาศัยทักษะและความรู้ทั้งในเชิงสถิติ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้ง นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลที่ดีจะต้องเป็นคนช่างคิด ช่างสังเกต มีความคิดสร้างสรรค์ที่เอื้อในการนำข้อมูลยากๆ มาจัดเรียงเป็นภาพให้เข้าใจง่าย รวมถึงเป็นนักสื่อสารที่ดีด้วย

อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ต้องเรียนหลักสูตรอะไร

  • Bachelor of Mathematic (Major in Data Science)
  • Bachelor of Mathematic (Major in Data Analytics and Operations Research)
  • Bachelor of Mathematic (Major in Computational Science)
  • Bachelor of Mathematic (Major in Statistics)
  • Bachelor of Computer Science
  • Master of Data Science
  • Master of Computer Science
  • Master of Business Analytics

รายได้เฉลี่ยของนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลในประเทศไทย : เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 80,000 – 240,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทำงาน

6.นักปรับปรุงพันธุ์พืช (Plant Breeder)

‘นักปรับปรุงพันธุ์พืช’ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากในประเทศไทย เพราะประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศที่โดดเด่นด้านเกษตรกรรม แต่ยังขาดผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยพัฒนาพันธุ์พืชท้องถิ่น รวมถึงการปศุสัตว์ โดยอาชีพนี้จะเน้นที่การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ให้มีความคงทนต่อสภาพอากาศที่หลากหลาย สร้างความมั่นคงทางอาหาร และปกป้องความยั่งยืนทางการเกษตร รวมถึงคิดค้นนวัตกรรมในการปรับปรุงและขยายพันธุ์พืช

อยากเป็นนักนักปรับปรุงพันธุ์พืช ต้องเรียนหลักสูตรอะไร

  • Bachelor of Science (Major in Plant Science)
  • Bachelor of Science (Major in Genetics)
  • Bachelor of Science (Major in Cell Biology)
  • Bachelor of Environmental Science
  • Bachelor of Biotechnology (Major in Agricultural Biotechnology)
  • Master of Agricultural Science
  • Master of Conservation Biology
  • Master of Biotechnology (Major in Plant Agricultural Biotechnology)

รายได้เฉลี่ยของนักปรับปรุงพันธุ์พืชในประเทศไทย : เงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 42,000 – 73,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ทำงาน

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/11/13/thailand-lack-of-scientist-problem/