นิวยอร์ก” ขยับหมากใหม่ แก้เกมรถติดด้วย “ไฟคิวกระโดด” ดันรถเมล์พุ่งฉิวก่อนใคร

Share

Loading

ในกรุงเทพมหานครที่ปัญหาการจราจรติดขัดกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ผู้คนคงคุ้นเคยกับไฟจราจร 3 สีที่มีมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก แต่ในมหานครนิวยอร์ก เมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจระดับโลก กำลังมีการปฏิวัติแนวคิดครั้งสำคัญด้วยการเพิ่มไฟจราจรสีที่ 4 ที่เรียกว่า “ไฟคิวกระโดด” เพื่อช่วยให้รถเมล์ออกตัวได้ก่อนบนทางแยก เป็นนวัตกรรมที่ไม่เพียงแค่ช่วยลดปัญหารถติด แต่ยังสะท้อนถึงความพยายามที่จะคืนเวลาอันมีค่าให้กับชาวเมืองหลายล้านคน

สัญญาณไฟจราจรถูกนำมาใช้ในสหรัฐอเมริกามานานกว่า 100 ปีแล้ว แต่การออกแบบยังคงเหมือนเดิมมาหลายทศวรรษ ปัจจุบันเทคโนโลยีใหม่จะเข้ามาเพิ่มสิ่งพิเศษบางอย่างที่คาดว่าจะทำให้การจราจรในภาพรวมคล่องตัวขึ้น โดยกรมขนส่งของนิวยอร์ก (NYC DOT) ประกาศใช้สัญญาณไฟจราจรประเภทใหม่ ซึ่งเรียกว่าไฟ “คิวกระโดด” ซึ่งจะใช้ร่วมกับไฟแดง เขียว เหลือง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้รถเมล์สามารถออกตัวได้ก่อนบริเวณทางแยก ซึ่งคาดจะทำให้ผู้โดยสารจำนวนมากที่ใช้บริการขนส่งมวลชนไปถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น

ตามที่กรมขนส่งนิวยอร์กได้ระบุไว้บนโซเชียลมีเดีย ไฟจราจรใหม่ซึ่งมี “แถบสีขาว” นั้นจะถูกติดตั้งทีละน้อย โดยมีแผนที่จะติดตั้งเพิ่มอีกประมาณ 25 ดวงต่อปี การเปลี่ยนแปลงนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนริเริ่มที่กว้างขึ้นของ NYC DOT และ MTA เพื่อปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะและบรรเทาปัญหาการจราจรคับคั่งบนถนนที่มีการจราจรหนาแน่นของเมือง

ทั้งนี้ MTA หรือ Metropolitan Transportation Authority คือหน่วยงานด้านการขนส่งมวลชนที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา และเป็นหนึ่งในระบบขนส่งที่ซับซ้อนที่สุดในโลก มีหน้าที่บริหารจัดการระบบขนส่งในพื้นที่มหานครนิวยอร์กและบริเวณใกล้เคียง ครอบคลุมทั้งรัฐนิวยอร์กและบางส่วนของรัฐคอนเนตทิคัต

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้ นิวยอร์กตั้งใจที่จะให้สัญญาณรถเมลล่วงหน้าเพื่อลดความล่าช้าและทำให้การเดินทางด้วยรถเมลเป็นตัวเลือกที่น่าเชื่อถือมากขึ้นสำหรับชาวนิวยอร์ก

แม้ว่าไฟสัญญาณเพิ่มความเร็วจะไม่ใช่เรื่องใหม่และมีมานานหลายปีแล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ทำให้ระบบขนส่งสาธารณะในมหานครแห่งนี้มีลำดับความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากการจราจรในเมืองคับคั่ง ไฟสัญญาณเหล่านี้ทำให้รถเมล์แซงหน้ารถคันอื่นได้ ช่วยให้รักษาตารางเวลาได้และไม่ต้องติดอยู่ท่ามกลางการจราจรคับคั่ง

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และไม่ใช่แค่ชาวนิวยอร์กเท่านั้นที่คิดเช่นนั้น ผู้โดยสารแสดงความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย และกังวลว่าการเพิ่มสัญญาณประเภทอื่นจะทำให้ทางแยกมีความวุ่นวายมากขึ้นหรือไม่

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของนิวยอร์กชี้ให้เห็นถึงผลการศึกษาในระยะเริ่มต้นจากพื้นที่ในเมืองอื่นๆ ที่ใช้มาตรการที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไฟสัญญาณเพิ่มความเร็วสามารถลดเวลาเดินทางของรถเมล์ได้ถึง 30%

คาดว่าไฟสัญญาณใหม่นี้จะติดตั้งไว้ที่ทางแยกที่รถเมล์มักประสบปัญหารถติดบ่อยครั้ง เพื่อมุ่งหวังที่จะปรับปรุงเวลาเดินทางของผู้โดยสารทั่วเมืองให้เร็วขึ้น

ทั้งนี้ ปัจจุบันนิวยอร์กกำลังเผชิญกับวิกฤตการจราจรติดขัดอย่างหนัก มีความเร็วในการเดินทางที่ช้าที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการรวบรวมข้อมูล โดยความเร็วเฉลี่ยในเขตศูนย์กลางธุรกิจ (CBD) ลดลงเหลือประมาณ 6.9 ไมล์ต่อชั่วโมง (ราว 11 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) โดยบางพื้นที่มีสภาพการจราจรที่เลวร้ายกว่านั้น โดยเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 4.8 ไมล์ต่อชั่วโมง (ราว 7.7 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน การจราจรติดขัดนี้ไม่เพียงสร้างความหงุดหงิดให้กับผู้เดินทางเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจและสาธารณสุข ทำให้เวลาตอบสนองของบริการฉุกเฉินเพิ่มขึ้น และส่งผลให้สูญเสียรายได้ประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี เนื่องจากสูญเสียผลผลิตและเวลาที่ใช้ไปกับการจราจร

มีหลายปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อปัญหาการจราจรในนิวยอร์ก เช่น ปริมาณรถที่เพิ่มขึ้น จำนวนรถยนต์ส่วนตัวที่เข้าสู่ย่านธุรกิจใจกลางเมืองได้กลับมาอยู่ที่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด ในขณะที่ปริมาณการขนส่งถึงบ้านที่เพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณรถบรรทุกเพิ่มขึ้นเกินระดับดังกล่าว รวมถึงการเพิ่มขึ้นของบริการเรียกรถ เช่น Uber และ Lyft ทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้น แม้ว่าจะมีเพียงประมาณ 12% ของผู้อยู่อาศัยในเมืองที่เดินทางโดยรถยนต์ แต่มีรถยนต์มากกว่า 800,000 คันเข้าสู่ย่านธุรกิจใจกลางเมืองทุกวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริการเรียกรถ กอปรกับการใช้ถนนอย่างไม่มีประสิทธิภาพ จากการที่โครงสร้างพื้นฐานถนนในปัจจุบันไม่สามารถรองรับปริมาณการจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการจราจรติดขัดและความเร็วการเดินทางช้าลง

บทเรียนจากไฟจราจรสีใหม่ของนิวยอร์ก ไม่เพียงสะท้อนถึงการคิดนอกกรอบเพื่อแก้ปัญหาใหญ่ แต่ยังเป็นเครื่องยืนยันว่าทุกเมืองสามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ผ่านนวัตกรรมและการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ สำหรับกรุงเทพมหานครที่กำลังเผชิญปัญหาคล้ายกัน ข่าวนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามถึงวิธีการที่เราสามารถยกระดับระบบขนส่งมวลชนให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และเพิ่มความคล่องตัวให้กับเมือง ท้ายที่สุด ไฟจราจรสีใหม่ของนิวยอร์กอาจไม่ได้แค่ช่วยรถเมล์หลีกหนีรถติด แต่ยังส่งสัญญาณแห่งการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนถึงอนาคตที่เมืองต่างๆ ทั่วโลกจะต้องหันมาสนใจเรื่องการขนส่งมวลชนอย่างจริงจัง เพราะ “การเดินทางที่ดีขึ้น” คือหัวใจของเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/corporate-moves/environment/1154085