การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทนและการลดการพึ่งพาถ่านหินในภาคอุตสาหกรรม กำลังผลักดันให้ความต้องการเชื้อพลิงจากขยะมูลฝอย (RDF) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ระหว่างปี 2558- 2567 การใช้พลังงานความร้อนจากขยะในอุตสาหกรรม เติบโตเฉลี่ย 8.5% ต่อปี ขณะที่การใช้ถ่านหิน ลดลงเฉลี่ย 5.3% ต่อปี แม้ต้นทุนการใช้ RDF จะสูงกว่าถ่านหิน แต่ด้วยมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป (EU) ที่เก็บค่าธรรมเนียมสินค้าปล่อยคาร์บอนสูง ทำให้อุตสาหกรรมการผลิตที่ปล่อยคาร์บอนมาก เช่น ปูนซีเมนต์ จำเป็นต้องปรับตัวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน คาดว่าในปี 2568 การใช้ RDF จะเพิ่มขึ้นราว 5,000 ตัน ทดแทนถ่านหินได้ประมาณ 2,100 ตัน โดยการลดการใช้ถ่านหิน 1 ตัน ต้องใช้ RDF ประมาณ 2.35 ตัน ทำให้มูลค่าตลาดเชื้อเพลิงขยะ RDF ในปี 2568 คาดว่าจะเติบโตราว 6.3% จากปี 2567 แตะ 1.8 พันล้านบาท แต่ในระยะยาวธุรกิจเชื้อเพลิงขยะ RDF ยังมีความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง
ปัจจุบัน ปริมาณขยะมูลฝอยในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาครัฐต้องผลักดันนโยบายเพื่อจัดการกับปัญหาขยะ หนึ่งในนโยบายหลักคือการนำขยะไปผลิตพลังงาน แม้ประชากรไทยจะลดลงตั้งแต่ปี 2562 แต่พฤติกรรมการบริโภค เช่น การสั่งอาหารออนไลน์และการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวหลังโควิด-19 ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น การเติบโตนี้แสดงถึงความจำเป็นในการส่งเสริมการนำขยะไปผลิตพลังงาน ซึ่งไม่เพียงช่วยลดปริมาณขยะคงค้าง แต่ยังนำขยะกลับมาใช้เป็นทรัพยากรในการผลิตพลังงานอีกด้วย
ปริมาณขยะมูลฝอยและการส่งเสริมการคัดแยกขยะอย่างถูกต้องของภาครัฐ ส่งผลให้ปริมาณขยะที่สามารถแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF เพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงานเติบโตด้วย โดยในปี 2566 จำนวนขยะมูลฝอยที่ถูกกำจัดอย่างถูกต้อง อยู่ที่ 37.7% ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด เพิ่มขึ้นราว 7% เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2558 การปรับปรุงนี้ส่งผลให้มีจำนวนขยะมูลฝอยที่สามารถนำไปแปรรูปเป็น RDF เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน กระบวนการผลิตเป็น RDF จริง เพิ่มขึ้นจาก 18.5% ในปี 2558 เป็น 42.9% ในปี 2566 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 44.4% ในปีนี้ และ 47.0% ในปี 2568 การเติบโตนี้เป็นผลจากการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานจัดเก็บขยะมูลฝอย และผู้ประกอบการโรงงานผลิต RDF ตลอดจนถึงการส่งเสริมการคัดแยกขยะอย่างถูกต้องเพื่อนำไปผลิตเป็นพลังงาน
ในปี2568 คาดว่า มูลค่าตลาดเชื้อเพลิงขยะ RDF จะสูงขึ้นราว 6.3% จากการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านการจัดการกับปัญหาขยะ และการเปลี่ยนถ่ายไปสู่พลังงานทดแทนซึ่งหนุนการขยายตัวของตลาด ธุรกิจเชื้อเพลิงขยะ RDF ความต้องการ RDF ในภาคไฟฟ้า คาดว่าจะมีการเติบโตราว 9.9% ในปี 2568 จากการสนับสนุนของภาครัฐ ทำให้มีโรงผลิตไฟฟ้าขยะมากขึ้น ในขณะที่ความต้องการ RDF สำหรับผลิตพลังงานความร้อนในภาคอุตสาหกรรมการผลิต คาดว่าเพิ่มขึ้น 1.1% จากการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทนและการลดการพึ่งพาถ่านหินจากมาตรการ CBAM
แนวโน้ม RDF กับการผลิตไฟฟ้า
สำหรับผลิตไฟฟ้าในปี 2568 คาดว่า 61% ของ RDF ทั้งหมดจะถูกใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยความต้องการ RDF เพื่อผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มเติบโตกว่า 9.9% สอดคล้องกับกำลังการผลิตไฟฟ้าจากขยะที่เพิ่มขึ้น 8.2%
ความต้องการ RDF สำหรับการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นตามการส่งเสริมของภาครัฐ ที่มีการตั้งอัตราการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะสูงกว่าพลังงานทดแทนประเภทอื่นๆ ในปี 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน 282.98 เมกะวัตต์ กำหนดให้โรงไฟฟ้า เริ่มจ่ายไฟเข้าระบบ ในช่วงปี 2568-2569 โดยมีอัตรารับซื้อสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก ที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ที่ 5.08 บาท/หน่วย พร้อม FiT Premium 0.70 บาท/หน่วย ใน 8 ปีแรก และ สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่มีกำลังการผลิต 10-50 เมกะวัตต์ อัตรารับซื้ออยู่ที่ 3.66 บาท/หน่วย สูงกว่าพลังงานแสงอาทิตย์และลม ที่มีอัตรารับซื้ออยู่ที่ 2.22 บาท/หน่วย และ 3.10 บาท/หน่วย ตามลำดับ
อัตรารับซื้อที่สูงกว่านี้ ได้ดึงดูดผู้ประกอบการมาลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะชุมชน ซึ่งมีจำนวนโรงไฟฟ้าที่รอจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2568 รวม 31.5 เมกะวัตต์ ทำให้คาดว่าความต้องการ RDF จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 65,000 ตันในปีหน้า ปัจจุบัน กกพ. ยังไม่มีแผนเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มเติมจากข้างต้น แต่ได้มีการเตรียมการที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมเพิ่มอีก 30 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ RDF จากขยะอุตสาหกรรม ที่ผลิตในโรงงาน จึงไม่ส่งผลต่อความต้องการ RDF จากขยะชุมชน
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว ความต้องการ RDF จากขยะชุมชนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามร่างแผนพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงาน 4 ทางเลือก พ.ศ 2567-2580 (ร่างแผน AEDP 2024) ที่มีการปรับเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มขึ้นเป็น 1,142 เมกะวัตต์ หากรัฐบาลต้องการบรรลุเป้าหมายนี้ ยังจำเป็นต้องเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนอีก 752.7 เมกะวัตต์ซึ่งจะทำให้ความต้องการ RDF มีมากถึง 1.3 ล้านตันในอนาคต
ความเสี่ยงของธุรกิจเชื้อเพลิงขยะ RDF
อย่างไรก็ตาม ความต้องการ RDF ในภาคการผลิตไฟฟ้า ยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐ เช่น ในช่วงปี 2565-2566 การอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าขยะล่าช้า เนื่องจากผู้ประกอบการรอการกำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน ส่งผลให้ความต้องการใช้ RDF ชะลอตัวลง
นอกจากนี้พลังงานจากขยะ ยังต้องแข่งขันกับพลังงานสะอาดประเภทอื่นๆ ที่ภาครัฐอาจสนับสนุนมากกว่า เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำกว่าพลังงานจากขยะมากกว่าเท่าตัว
ห่วงโซ่อุปทานของเชื้อเพลิงขยะ ต้องอาศัยการประสานงานระหว่างหลายหน่วยงานของภาครัฐ เช่น การจัดเก็บขยะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทย ส่วนการกำหนดนโยบายการรับซื้อพลังงาน เป็นหน้าที่ของกระทรวงพลังงาน เป็นต้น การทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานนี้ จำเป็นต้องมีความสอดคล้อง เพื่อสนับสนุนความพร้อมของอุปทาน RDF ในภาคพลังงาน
ธุรกิจเชื้อเพลิงขยะ RDF อาจเผชิญความเสี่ยงจากการที่ปริมาณขยะมูลฝอยถูกนำไปรีไซเคิลมากขึ้น แทนที่จะถูกนำไปแปรรูปเป็นพลังงาน ในต่างประเทศ เช่น ยุโรป การรีไซเคิลขยะ กำลังได้รับความนิยมมากกว่าการใช้ขยะเพื่อผลิตพลังงาน เนื่องจากการรีไซเคิลสามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่าพลังงานที่ได้จากการเผาขยะ สำหรับประเทศไทย ระหว่างปี 2556-2566 อัตราการเติบโตของขยะที่ถูกรีไซเคิล สูงกว่าการรวบรวมขยะเพื่อผลิตพลังงานถึง 3.0%
การเติบโตของธุรกิจ RDF อาจไม่ยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากกระบวนการผลิตพลังงานจากขยะ มักมาจากการเผาไหม้ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้พลังงานขยะอาจถูกลดบทบาทได้ในอนาคตจากข้อกำหนดสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่สหราชอาณาจักร จะนำพลังงานขยะเข้าสู่ระบบสิทธิการซื้อขายใบรับรองการปล่อยคาร์บอน (Emission Trading Scheme) ในปี 2571 ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลด้านมลพิษจากพลังงานขยะ
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2024/11/21/renewable-energy-from-waste/