ทำไมทุกวันนี้เรายังไม่มี ‘หุ่นยนต์รับใช้’ มาล้างจาน รีดผ้า ถูพื้น ไปจนถึงทำกับข้าวให้เรา?

Share

Loading

ในโลกทุกวันนี้ที่เทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาเร็วมาก AI เริ่มคุยกับเราได้ฉะฉานแบบมนุษย์ ยาชนิดใหม่ๆ ที่รักษาโรคที่เคยรักษาไม่ได้เกิดขึ้นรัวๆ ท้องถนนหลายประเทศเริ่มเต็มไปด้วยรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ รถยนต์ที่บินได้ก็กำลังจะมีให้บริการ ทุกอย่างมันดูพัฒนาเร็วไปหมดราวกับว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้อีกแล้ว ทุกอย่างมันเริ่มหน้าตาคล้ายกับโลกอนาคตในหนังไซไฟ (Sci-Fi) เข้าทุกวัน แต่สิ่งหนึ่งที่หน้าตายุคปัจจุบันไม่ได้ใกล้ยุคอนาคตไฮเทคในหนังไซไฟเลยก็คือ ‘หุ่นยนต์รับใช้’

จินตนาการที่ว่าในโลกอนาคตมนุษย์จะมีหุ่นยนต์รับใช้มีมาตั้งแต่การ์ตูนดังของอเมริกาอย่าง ‘The Jetsons’ จนถึงภาพของหุ่นยนต์รับใช้พยายามยึดโลกในภาพยนตร์ I, Robot (2004) ทั้งหมดมันวางอยู่บนภาพโลกอนาคตที่มีในนวนิยายวิทยาศาสตร์ตั้งแต่ช่วงต้นยุคสงครามเย็นแล้ว

หรือพูดง่ายๆ จินตนาการว่าโลกอนาคตเราจะเต็มไปด้วยหุ่นยนต์ และพวกมันจำนวนมากจะทำงานรับใช้มนุษย์นั้นเป็นจินตนาการที่เก่าแก่มาก แต่ในขณะที่จินตนาการแบบอื่นๆ เริ่มค่อยๆ เป็นจริงหรือดูเป็นไปได้ในช่วงชีวิตของเราแน่แล้ว แต่จินตนาการที่ว่าเราจะมีหุ่นยนต์รับใช้นั้นกลับไม่ได้เข้าใกล้ความเป็นจริงในแบบเดียวกัน คำถามคือทำไม?

ถ้าเราพอจำได้ ‘หุ่นยนต์ดูดฝุ่น’ อย่าง Roomba นั้นมีมานานแล้วตั้งแต่ปี 2004 และจนถึงปัจจุบัน 20 ปีผ่านไปหุ่นรูปแบบนี้ก็เป็นหุ่นยนต์ทำความสะอาดแบบเดียวที่มนุษย์มี

เรายังไม่ได้มีอะไรที่ใกล้หุ่นยนต์เป็นตัวๆ ที่ทำงานเป็นคนรับใช้ให้เราเลย มันเกิดอะไรขึ้น

ถ้าใครจำได้ ในปี 2011 ทาง Honda ได้โชว์เดโมหุ่นยนต์ไฮเทคสุดในยุคนั้น อย่าง Asimo และมันทำได้หลายอย่างมาก คำถามคือหลังจากนั้นมันหายไปไหน

คำตอบคือ Asimo นั้นไม่สามารถ ‘คิด’ เองได้ ทุกการกระทำในเดโมคือถูกโปรแกรมเอาไว้ก่อนและมันทำได้แค่นั้น ดัดแปลงและพลิกแพลงไม่ได้ และสุดท้าย Honda ก็ปิดโปรเจกต์ Asimo ไปเงียบๆ ในปี 2022

แต่อะไรคือปัญหาที่ทำให้ Asimo ไปต่อไม่ได้ และหุ่นยนต์จากบริษัทอื่นๆ ก็ยังทำงานรับใช้มนุษย์ไม่ได้ล่ะ

ต้องเข้าใจก่อนว่าในการทำงานรับใช้มนุษย์ หุ่นยนต์ที่จะรับใช้ได้ดีสุดก็ต้องมีรูปร่างเหมือนมนุษย์ เพราะสภาพแวดล้อมของมนุษย์ถูกสร้างมาเพื่อรองรับสิ่งที่มีร่างกายแบบมนุษย์ เช่น ถ้าหุ่นยนต์เตี้ยเกินไป ก็จะขึ้นไปทำความสะอาดชั้นวางของ หรือกระทั่งเช็ดโต๊ะไม่ได้ ถ้าไม่มีขา หุ่นยนต์ก็จะขึ้นพื้นที่สูงต่ำไม่ได้ และก็ยังไม่นับว่าสิ่งของต่างๆ รอบตัวมนุษย์นั้นถูกออกแบบมาให้สิ่งที่มี ‘มือ’ อย่างมนุษย์เท่านั้นใช้ ดังนั้นหุ่นยนต์ก็จำเป็นต้องมีแขนและมือแบบมนุษย์ เพื่อจะทำความสะอาดสิ่งเหล่านี้ได้

จะสร้างหุ่นยนต์แบบนี้ต้องการเทคโนโลยีอะไรบ้าง เรายังขาดอะไรบ้าง ทาง IEEE Spectrum สรุปไว้ดีมากๆ ว่ามันแบ่งเป็น 2 มิติ ด้านฮาร์ดแวร์กับซอฟต์แวร์

ด้านฮาร์ดแวร์ เทคโนโลยีพื้นฐานที่ต้องการในการสร้างตัวหุ่นยนต์ก็ได้แก่ เซนเซอร์ที่จะทำให้หุ่นยนต์รับรู้โลก คอมพิวเตอร์ที่หุ่นยนต์จะต้องใช้ประมวลผลข้อมูล แบตเตอรี่ที่จะให้พลังงานทั้งหมดกับหุ่นยนต์ และพวกเทคโนโลยีที่จะทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนไหวซึ่งอธิบายง่ายๆ ก็คือพวก ‘ระบบข้อต่อและกล้ามเนื้อ’ ของหุ่นยนต์ (Actuator)

ในเทคโนโลยีเหล่านี้ ทั้งเซนเซอร์ คอมพิวเตอร์ และแบตเตอรี่พัฒนาไปไกลแล้ว และหุ่นยนต์ที่นำเทคโนโลยีพวกนี้มารวมกันแล้วเอาออกมาใช้แล้ว คือพวกรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโตมัติ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ยังพัฒนาไปช้ามาคือพวก ‘ข้อต่อและระบบกล้ามเนื้อ’ ของหุ่นยนต์ รวมถึงเทคโนโลยีสำหรับการเคลื่อนไหวโดยรวมๆ อันที่จริงมีการพัฒนาอยู่ แต่ก็ไม่ได้พัฒนาเร็วเท่าเซนเซอร์ คอมพิวเตอร์ และแบตเตอรี่แน่ๆ ทำให้ร่างกายของหุ่นยนต์ที่มุ่งจะมีร่างกายเหมือนมนุษย์ห่างไกลความสมบูรณ์มากๆ คือมันไม่ได้ไม่พัฒนา แต่มันพัฒนาไปหลายทางและทุกวันนี้ปี 2024 นักพัฒนาหุ่นยนต์ก็ยังลองผิดลองถูกว่าควรจะใช้ระบบอะไรทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนไหวดี นำมาสู่ปัญหาต่อมา ‘ซอฟต์แวร์’

ในอดีตเราต้องป้อนโปรแกรมใส่หุ่นยนต์เองหุ่นยนต์ถึงทำอะไรได้ แต่ปัญหาคือเราต้องสอนมันทุกแบบ มันประยุกต์ไม่เป็น เช่นงานง่ายๆ อย่างการล้างจาน เราต้องสอนหุ่นยนต์ล้างจานทุกแบบในโลก เราต้องสอนหุ่นยนต์ใช้ซิงค์ล้างจานทุกแบบในโลก เราต้องสอนหุ่นยนต์ใช้ฟองน้ำทุกชนิดในโลก เอาแค่นี้มันก็แทบไม่มีทางเป็นไปได้แล้ว เพราะแค่เริ่มเราก็ไม่มีทางจะรู้จักจานทุกแบบในโลกได้แล้ว ทำให้พอมี AI วิธีการสอนมันจึงต่างไป คือเราค่อยๆ สอนหุ่นยนต์ว่าอะไรคือจาน อะไรคือการล้างจาน และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ล้างจานใช้อย่างไร ผลในทางทฤษฎีก็คือ ได้หุ่นยนต์ที่จะล้างจานได้ แต่ปัญหาก็ย้อนกลับมาที่ฮาร์ดแวร์ ‘กลไกการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์’

ตราบที่มันยังไม่มีมาตรฐานเดียวกันว่าหุ่นยนต์จะต้องเคลื่อนไหวอย่างไร ซอฟต์แวร์ที่หุ่นยนต์ตัวหนึ่งเรียนรู้มาก็จะไม่มีค่าเลยกับหุ่นยนต์อีกตัวที่มีกลไกการเคลื่อนไหวอีกอย่าง พูดอีกแบบง่ายๆ คือ ถ้าเราพัฒนา AI กับหุ่นยนต์ตัวหนึ่งที่ใช้ระบบการเคลื่อนไหวด้วยข้อต่อจนล้างจานคล่อง เจ้า AI ที่ว่ามานี้ มันจะเอามาใช้กับหุ่นยนต์อีกตัวที่ใช้ระบบการเคลื่อนไหวผ่านกลไกกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นเทียมไม่ได้เลย หรือจริงๆ มันน่าจะใช้กับหุ่นยนต์ที่มีจำนวนข้อต่อไม่เท่ากันยังไม่ได้ด้วยซ้ำ เหล่านี้ทำให้พัฒนาการหุ่นยนต์ยังไปต่อยาก

แล้วถามว่าทำไมหุ่นยนต์ยังไม่มีร่างกายที่ตายตัว เอาง่ายๆ คือ ทุกวันนี้มีเป็นสิบๆ บริษัทที่สร้างหุ่นยนต์รูปแบบมนุษย์มา ทุกตัวมีรายละเอียดร่างกายต่างกัน ดังนั้นซอฟต์แวร์ก็ต่างกันหมด และทุกเจ้าก็ดูจะอยากให้หุ่นยนต์ของตัวเองเป็นเจ้าตลาด

และด้วยสถานการณ์ตอนนี้ อยากให้คิดง่ายๆ ว่ามันเหมือนยุคกลางๆ ทศวรรษ 2000 ที่เป็นยุคบุกเบิกสมาร์ทโฟน ผู้ผลิตทุกเจ้ามีสมาร์ทโฟนพร้อมระบบปฏิบัติการของตัวเอง แข่งกันเป็นสิบปี กว่าจะเหลือแค่ 2 ระบบปฏิบัติการแบบ iOS และ Android อย่างทุกวันนี้

พัฒนาการของหุ่นยนต์ก็คงจะไม่ต่างกัน คือสักวันหนึ่งมันก็อาจมีผู้ชนะสัก 2-3 ราย ที่จะเป็นตัวกำหนดพัฒนาการหุ่นยนต์ของมนุษยชาติ พร้อมทั้งเก็บผลประโยชน์ต่างๆ จากอำนาจดังกล่าว ไม่ได้ต่างจากที่ Apple และ Google นั้นได้เงินทองและอำนาจมหาศาลผ่านการที่มนุษย์ทั้งโลกใช้มือถือไม่ระบบ iOS ก็ Android

แต่ก่อนจะมองไปไกลขนาดนั้น ก็ย้อนกลับมาที่ ‘ความยาก’ ในการพัฒนาหุ่นยนต์ให้ใช้ได้จริง ที่ทุกวันนี้พัฒนาการมันก็ยังไม่ถึงไหน และเอาง่ายๆ แค่เรื่องรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติที่เริ่มเอามาทดลองใช้แล้ว พอเริ่มเกิดอุบัติเหตุ ภาครัฐก็ลงมาจัดการควบคุมดูแลทันที ทำให้นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยีอีกแล้ว แต่เป็นเรื่องของการต่อรองกับอำนาจรัฐด้วย เมื่อมีมิตินี้เข้ามาเกี่ยวข้อง เทคโนโลยีจะไปต่อได้หรือไม่มันก็เป็นเรื่องของการเมืองพอๆ กับวิทยาศาสตร์

ดังนั้น ในความอีนุงตุงนังทั้งหมด ก็บอกเลยได้เลยว่า เราน่าจะยังไ่ม่มี ‘หุ่นยนต์รับใช้’ โผล่มาเร็วๆ นี้แน่นอน และตลกร้ายก็คือ เราอาจมีอะไรที่ไฮเทคไซไฟแบบนิคมอวกาศได้ก่อนที่เราจะมีหุ่นยนต์มาคอยทำงานบ้านให้เราเสียอีก

แหล่งข้อมูล

https://www.facebook.com/photo/?fbid=1133894128298922&set=a.811136580574680