เกษตรยุคใหม่ มูลค่าสูง คาร์บอนต่ำ และ ไร้คน

Share

Loading

ในขณะที่รัฐบาลประกาศเป้าหมายให้ไทยเป็น “คลังอาหาร” ของโลก แต่พื้นที่ทำเกษตรบ้านเรากลับลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ หลายแห่งเริ่มแปรเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมอื่น การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจ และโครงสร้างการผลิตในภาคเกษตรกรรม (economic and structural transformation) ยังผลให้สัดส่วนของจีดีพีเกษตรลดลงจาก 36% ในปี 2503 เหลือ 8-9% ในปี 2562 ขณะที่สัดส่วนแรงงานภาคเกษตรลดจาก 82% เหลือ 30% ในปีช่วงเวลาเดียวกัน

ในอดีตความสำเร็จของการพัฒนาภาคการเกษตร ทำให้ช่องว่างรายได้ต่อหัวของสาขานอกภาคเกษตรและสาขาเกษตร ลดลงจาก 8 เท่าตัวในช่วงต้นทศวรรษ 2550 แต่หลังจากนั้น ช่องว่างดังกล่าวยังทรงตัวที่ 4.5-5 เท่าตัว ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียที่มีเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจคล้ายคลึงกับไทย กลับสามารถลดช่องว่างรายได้ต่อหัวระหว่างสาขานอกภาคเกษตรกับสาขาเกษตรลงเหลือเพียง 1.5 เท่าในกลางทศวรรษ 2560

หลักฐานที่บ่งชี้ว่าเกิดความชะงักงันในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาคเกษตร คือ จีดีพีเกษตรแทบจะไม่เพิ่มขึ้นในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา (เติบโตเฉลี่ย 0.23% ต่อปี ในช่วงปี 2555-2564) ผลผลิตต่อไร่ของข้าวลดลงเฉลี่ย -0.87% ต่อปีในช่วงปี 2554-2563 ขณะที่อัตราการลงทุนด้านการวิจัยมีแนวโน้มลดลง ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเกษตรภาครัฐจากเดิมเคยสูงเกือบร้อยละ 1 ของจีดีพีเกษตร ในทศวรรษ 2530 เหลือเพียงร้อยละ 0.3-0.4 ในช่วง 2543-2563 ทั้งๆ ที่การลงทุนวิจัยด้านเกษตรให้ผลตอบแทนสูงถึงร้อยละ 44

นอกจากนั้นเกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีอายุเฉลี่ยสูงกว่า 55 ปี และจำนวนมากเป็น “เกษตรกรบางเวลา” โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานนอกเกษตร ทำให้ขาดแรงจูงใจในการลงทุนปรับตัวด้านการผลิต หรือปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ เพราะต้นทุนเสียโอกาสของเวลาในภาคเกษตรสูงมาก

ขณะที่นโยบายให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรโดยไม่มีเงื่อนไขตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา เฉพาะในปี 2564-2565 รัฐบาลให้เงินอุดหนุนชาวนาภายใต้โครงการประกันรายได้ชาวนาและโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตชาวนาสูงถึง 140,000 ล้านบาท/ปี งานวิจัยต่อนโยบายดังกล่าวพบว่าเงินอุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข ทำลายแรงจูงใจของเกษตรกรในการใช้เทคโนโลยีการผลิต หรือแรงจูงใจในการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ

หากรัฐบาลต้องการสร้างมูลค่าภาคการเกษตรให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ยุทธศาสตร์ในการตั้งหลักใหม่ของภาคเกษตรไทย คือ การทุ่มการลงทุนครั้งใหญ่ในภาคเกษตร โดยเป็นการลงทุนที่ควบคู่กับการใช้แรงงานทักษะ ยุทธศาสตร์นี้นอกจากจะสามารถทำให้จีดีพีเกษตรเพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุดแล้ว ยังจะทำให้ผลิตภาพต่อแรงงาน (labor productivity) เพิ่มขึ้นในอัตราสูงสุด

ยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้านในการลดความเหลื่อมล้ำระหว่างรายได้ภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร คือ

  1. การเพิ่มอัตราการลงทุนในภาคเกษตรจาก 15-20% ของจีดีพีเกษตร เป็น 30% โดยเน้นการลงทุนในเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่
  2. การเพิ่มการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาการเกษตร
  3. การลงทุนในทุนมนุษย์เพื่อให้มีขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่

ประเทศไทยควรมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ด้านการเกษตรในรูปแบบเดิมไปสู่ “การทำเกษตรมูลค่าสูง” ด้วยการทำเกษตรแบบประณีตหรือเกษตรแม่นยำสูง ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีหมุนเวียน เพื่อยกระดับการผลิตและคุณค่า เป็นสินค้าเกษตรโภชนาการสูง ตลอดจนเพื่อใช้ประโยชน์ด้านวัสดุชีวภาพ ด้านเภสัชกรรม ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ ส่งผลต่อรายได้สุทธิที่ดีกว่าเดิม และเกิดความคุ้มค่าการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

ปัญหาโลกร้อน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยการทำเกษตรยุคใหม่ จากข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย พบว่า ภาคเกษตรมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 2 คิดเป็นร้อยละ 15.23 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด รองจากภาคพลังงาน ที่มีสัดส่วนร้อยละ 69.96 เมื่อพิจารณาเฉพาะภาคเกษตร การปลูกข้าวเป็นกิจกรรมที่มีปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด มีสัดส่วนถึงร้อยละ 50.58 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคเกษตรทั้งหมด ดังนั้น ควรมีการส่งเสริมการเกษตรคาร์บอนต่ำ เพื่อบรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม

แต่หากพูดถึงประเทศที่มีความก้าวล้ำทางเทคโนโลยี ต้องมีชื่อของประเทศ “จีน” ที่เป็นผู้นำใหม่ด้านเทคโนโลยีของโลก ด้วยผลงานอันน่าทึ่งที่แสดงถึงศักยภาพอันล้ำสมัยของเทคโนโลยีปรากฏต่อสายตาชาวโลก ทั้งเทคโนโลยีบนโลกและในอวกาศ

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน หรือ บีไอซี นำเสนอความก้าวหน้าด้านการเกษตรของเขตปกครองตนเองกว่างซีที่กำลังเริ่มต้นยุค “เครื่องจักรกลอัตโนมัติทำงานในนา โดรนบินว่อนเต็มท้องฟ้า และชาวนานั่งจิบชาอยู่หน้าจอ”

การทดสอบการผลิตข้าวบน “นาข้าวไร้คน” เป็นการปลูกข้าวนาปรัง โดยใช้พันธุ์ข้าวกว่างเหลียงเซียง เบอร์ 2 ผลการทดสอบได้ผลผลิตข้าวเปลือก 458 กิโลกรัม/หมู่จีน (ราวไร่ละ 190.8 กิโลกรัม) และต้นข้าวรุ่นที่ 2 หรือข้าวล้มตอ ได้ผลผลิตข้าวเปลือกอีก 440 กิโลกรัม/หมู่จีน (ราวไร่ละ 184.9 กิโลกรัม) ซึ่งสูงกว่าผลผลิตเฉลี่ยในพื้นที่ปลูกทั่วไป

“นาข้าวอัจฉริยะอี้หนง” เป็นความร่วมมือระหว่างกรมเกษตรและชนบทกว่างซี ศูนย์บริการเครื่องจักรการเกษตรกว่างซี เทศบาลเมืองกุ้ยก่าง และทีมผู้เชี่ยวชาญของ ศาสตราจารย์หลัว ซีเหวิน ประจำมหาวิทยาลัย South China Agricultural University โดยใช้รูปแบบการดำเนินการเชิงบูรณาการระหว่าง “สหกรณ์เกษตร + มหาวิทยาลัย + นาชาวบ้าน”

แนวทางดังกล่าว ถือเป็นต้นแบบการเรียนรู้ที่ดีสำหรับภาคการเกษตรของ “ประเทศไทย” ด้านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้สนับสนุนกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนรวม ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยอย่างยั่งยืน

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/11/29/modern-agriculture/