รักษ์โลกให้สุด! สหรัฐหาแนวทางรีไซเคิลโซล่าเซลล์

Share

Loading

การรีไซเคิลแผงโซล่าเซลล์ ถือเป็นโจทย์สำคัญในการจัดการโซล่าเซลล์เสื่อมสภาพที่เพิ่มจำนวนขึ้นทุกวัน นำไปสู่การคิดค้นพัฒนาแนวทางรีไซเคิลโซล่าเซลล์แบบใหม่ สามารถนำวัสดุกลับมาใช้งานถึง 99%

พลังงานแสงอาทิตย์ จัดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกพลังงานสะอาดที่ได้รับความนิยมจากนานาประเทศ โดยมีหัวใจสำคัญคือแผงโซล่าเซลล์ทำหน้าที่แปลงแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้า แม้ตัวแผงจะมีอายุการใช้งานยาวนานแต่เมื่อหมดอายุก็จำเป็นต้องมีการควบคุมดูแลเคร่งครัด เพื่อป้องกันอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุนี้จึงเริ่มมีแนวทางรีไซเคิลแผงโซล่าเซลล์ประสิทธิภาพสูง โดยสามารถนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ได้ถึง 99%

SOLARCYCLE สู่การนำแผงโซล่าเซลล์เสื่อมสภาพกลับมาใช้ใหม่

ผลงานนี้เป็นของบริษัทสตาร์ทอัพ SOLARCYCLE กับการวางแผนจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลแผงโซล่าเซลล์ภายในรัฐจอร์เจีย สหรัฐฯ ด้วยนวัตกรรมทำให้แผงโซล่าเซลล์ที่นำไปผ่านกระบวนการ สามารถกู้คืนวัสดุที่ใช้ในกระบวนการผลิตทั้งหมดกลับมาใช้ใหม่ได้กว่า 99%

โดยพื้นฐานการรีไซเคิลโซล่าเซลล์ของ SOLARCYCLE จะเริ่มต้นจากการถอดกล่องสายไฟและเฟรมอะลูมิเนีมที่เป็นกรอบออกจากแผงกระจกซึ่งทำจากซิลิคอน ชิ้นส่วนโลหะที่ถอดออกจะถูกนำไปบดแล้วนำไปผ่านสารละลาย เพื่อคัดแยกโลหะมีค่าอย่างทองแดงและเงินออกจากแผงวงจร

ในส่วนของตัวกระจกโซล่าเซลล์จะถูกนำไปแช่สารละลาย ร่วมกับเครื่องรีไซเคิลแผงโซล่าเซลล์ที่เป็นสิทธิบัตรของทางบริษัท ในการคัดแยกชิ้นส่วนที่อยู่ในล่าเซลล์ให้แยกออกจากกันอย่างหมดจด ส่งผลให้ภายหลังการรีไซเคิลวัสดุที่ใช้ในกระบวนการทั้งพลาสติก โลหะ และซิลิคอนจะถูกคัดแยกออกจากกันโดยสมบูรณ์

ด้วยเทคโนโลยีที่ SOLARCYCLE คิดค้นช่วยให้พวกเขาสามารถนำวัสดุที่ถูกใช้ในการผลิตโซล่าเซลล์แต่ละแผง นำกลับมาใช้ใหม่ได้มากถึง 95 – 99% พร้อมกันนั้นยังสามารถนำวัสดุที่ผ่านกระบวนการรีไซเคิลมาเป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต ให้กลายเป็นแผงโซล่าเซลล์ใหม่ได้อีกครั้ง

นี่จึงถือเป็นแนวทางจัดการขยะจากแผงโซล่าเซลล์ที่มีประสิทธิภาพและพร้อมนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทันที

ความจำเป็นและความก้าวหน้าในการรีไซเคิลแผงโซล่าเซลล์

ปัจจุบันทั่วโลกมีอัตราการเติบโตของพลังงานแสงอาทิตย์อย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากบริษัทด้านพลังงาน Ember ในสหราชอาณาจักรระบุว่า ในปี 2024 มีการติดตั้งโซล่าเซลล์ทั่วโลกกว่า 593 กิกะวัตต์ จากการขยายตัวภายในหลายประเทศตั้งแต่จีน สหรัฐฯ อินเดีย เยอรมนี หรือแม้แต่ซาอุดีอาระเบียก็ตาม

อัตราการเติบโตนี้แสดงให้เห็นถึงความสนใจเปลี่ยนผ่านมาใช้พลังงานสะอาดที่สูงขึ้น แต่นั่นก็นำมาสู่การตั้งคำถามเมื่อโซล่าเซลล์ที่ใช้ผลิตพลังงานหมดอายุการใช้งานเราจะมีแนวทางจัดการอย่างไร มิเช่นนั้นในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าเมื่อโซล่าเซลล์ในช่วงเวลานี้เสื่อมสภาพ จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น

ในกรณีที่นำไปฝังกลบโดยไม่ได้มีการจัดการอย่างถูกต้อง เป็นไปได้สูงว่าโลหะหนักและสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการผลิตอาจเกิดการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม ในกรณีนำไปเผาทำลายโดยไม่ผ่านกระบวนการก็อาจมีการปล่อยก๊าซไดออกซินหรือฟูแรนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้เองหลายประเทศทั่วโลกที่มีการผลักดันพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้งาน จึงต้องเริ่มหาทางจัดการแผงโซล่าเซลล์ที่หมดอายุการใช้งานเช่นกัน โดยเฉพาะแผงโซล่าเซลล์รุ่นเก่าที่เสื่อมสภาพหรือไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีที่เริ่มมีปลดระวางการใช้งาน

แนวทางรับมือแผงโซล่าเซลล์เสื่อมสภาพมีอยู่หลายรูปแบบ อย่างบริษัท SOLARCYCLE มีแผนจัดตั้งโรงงานรีไซเคิลในสหรัฐฯ 3 แห่ง ด้วยการสนับสนุนจากนโยบายพลังงานสะอาดของโจ ไบเดน ผู้ว่าการรัฐจอร์เจีย และบริษัทชั้นนำอย่าง Microsoft เพื่อให้สามารถผลิตโซล่าเซลล์จากวัสดุเหลือใช้ได้โดยไม่ต้องพึ่งพาการนำเข้า โดยพวกเขาตั้งเป้าจะนำแผงโซล่าเซลล์เสื่อมสภาพทั้งหมดในสหรัฐฯราว 25 – 30% กลับมาใช้ใหม่ภายในปี 2030

หลายประเทศเร่งเดินหน้าแนวทางรีไซเคิลโซล่าเซลล์รวมถึงประเทศไทย เช่น เทคโนโลยี Heatedd blade ของทาง สวทช. ที่สามารถดึงวัสดุของแผงโซล่าเซลล์กลับมาใช้ใหม่ได้ราว 80% หรือการนำวัสดุเหลือใช้จากโซล่าเซลล์มาผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ก็อาจช่วยลดขยะจากแผงโซล่าเซลล์ลงได้หลายแสนตัน/ปี

คงต้องรอดูว่าเมื่อพลังงานแสงอาทิตย์มีการใช้งานแพร่หลายยิ่งขึ้น การจัดการแผงโซล่าเซลล์ในอนาคตจะเป็นเช่นไร

แหล่งข้อมูล

https://www.posttoday.com/smart-life/716126