5 เทรนด์นวัตกรรมการแพทย์ดาวรุ่ง น่าจับตาต่อปี 68 หากพัฒนาต่อจะสร้างโอกาสที่จะพลิกโฉมอนาคตวงการแพทย์อย่างไร?
1.AI
AI เปลี่ยนโลก ข้อนี้ใช้ได้กับวงการแพทย์ด้วยเช่นกัน โดยในปีที่จะถึงเราอาจะได้เห็นการนำเอา AI มาใช้ในการช่วยแพทย์รวบรวมข้อมูล ประมวลผล และช่วยแพทย์ในการวินิจฉัยโรค และเพิ่มความรวดเร็วในการวินิจฉัย อย่างไรก็ตามแพทย์จะเป็นฝ่ายที่ต้องตัดสินใจเช่นเดิม
นอกจากนี้ AI ยังสามารถทำให้ระบบธุรการต่างๆ มีความสะดวกรวดเร็ว ทำให้บุคลากรทางการแพทย์โฟกัสที่การรักษาได้มากยิ่งขึ้นด้วย
แม้ว่า AI จะมีประโยชน์มาก แต่ระบบที่เกิดขึ้นซึ่งใช้ AI เข้ามาช่วยนั้นจำเป็นต้องทำบนรากฐานของความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลเป็นฐานสำคัญ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล
2.การแพทย์แม่นยำ
การแพทย์แม่นยำ (Precision Medicine) คือ แนวทางในการรักษาและป้องกันโรคที่ใช้ข้อมูลทางพันธุกรรม การทดสอบทางชีวภาพ และข้อมูลเฉพาะตัวของผู้ป่วย เช่น ไลฟ์สไตล์ สิ่งแวดล้อม และปัจจัยทางสุขภาพอื่นๆ เพื่อปรับการรักษาให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคลมากขึ้น แทนที่จะใช้วิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐานเดียวกันสำหรับทุกคน เช่น การเลือกยา หรือวิธีการรักษาที่ตรงกับลักษณะเฉพาะของแต่ละคน ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น
นอกจากนี้ การพัฒนาด้านจีโนมิกส์ หรือการศึกษาชุดข้อมูลของยีน จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาพัฒนาแนวทางการรักษาแบบการแพทย์แม่นยำอีกทางหนึ่ง
เนื่องจากการพัฒนาด้านจีโนมิกส์รุดหน้าไปมาก นักวิทยาศาสตร์สามารถถอดรหัสมนุษย์คนใดคนหนึ่งได้ในระยะเวลาที่รวดเร็วและค่าใช้จ่ายที่ตำ่มากขึ้น รวมถึงมีการใช้ข้อมูลจีโนมส่วนบุคคล เพื่อปรับการรักษาและป้องกันโรค ซึ่งช่วยให้สามารถคาดการณ์ความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ตั้งแต่ยังเด็กได้ และเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้
อีกทั้งยังเห็นความก้าวหน้าของการศึกษาจีโนมของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในร่างกายมนุษย์ (เช่นในลำไส้) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งผลต่อสุขภาพ การเจ็บป่วย และกระบวนการเมตาบอลิซึม
ส่วนที่น่าจับตามองมากที่สุด คือ ความสามารถที่จะแก้ไขพันธุกรรม ซึ่งหากพัฒนาไปถึงจุดที่นำมาใช้ได้แล้ว มนุษย์อาจสามารถรักษาโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคมะเร็ง โรคทางระบบประสาท และโรคพันธุกรรมอื่น ๆ ซึ่งสามารถแก้ไขความผิดปกติทางพันธุกรรมในระดับเซลล์ได้
3.Telemedicine
การแพทย์ทางไกล ถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงโควิด 19 ซึ่งมีประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นอำนวยความสะดวกต่อผู้ป่วยในกรณีที่ไม่สามารถเดินทางมายังโรงพยาบาลได้ เพิ่มโอกาสการรักษาให้แก่ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล อีกทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายการมาโรงพยาบาล และลดความแออัดในโรงพยาบาล
สำหรับประเทศไทยได้มีการใช้การแพทย์ทางไกลเข้ามาในระบบแล้ว ล่าสุดได้มีความพยายามที่จะทำ ‘ตู้ห่วงใย’ ซึ่งก็จะใช้ระบบการแพทย์ทางไกลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ
4.Wearable Pocket IOT
อุปกรณ์สวมใส่ที่สามารถตรวจวัดสัญญาณชีพต่าง ๆ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ระดับออกซิเจนในเลือด หรือข้อมูลสุขภาพอื่น ๆ จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามสภาวะสุขภาพและการป้องกันโรค เนื่องจากสามารถติดตามสุขภาพได้ตลอด 24 ชม.หากสวมใส่ และสามารถตรวจจับปัญหาสุขภาพได้แบบเรียลไทม์ อีกทั้งยังสามารถแจ้งเตือนผู้ใช้งานได้ รวมไปถึงในบางประเภทที่สามารถแจ้งเตือนไปยังแพทย์ได้ด้วย
นอกจากนี้ อุปกรณ์ดังกล่าวยังทำหน้าที่เสมือนเครื่องมือที่จะช่วยผู้ใช้งานรู้จักที่จะป้องกันโรคด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยลดภาระหนักทางสาธารณสุข ซึ่งปัจจุบันต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายในเรื่องการรักษามากขึ้นในแต่ละปี
5.3D Printing
ในปี 2025 แนวโน้มของการใช้ 3D Printing ในวงการแพทย์ทั่วโลก มีแนวโน้มที่จะก้าวหน้าหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์อวัยวะและเนื้อเยื่อ ที่อาจพัฒนาถึงขั้นนำไปใช้ในห้องทดลองได้ การผลิตกระดูกหรืออวัยวะเทียมที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน หรือการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
แหล่งข้อมูล