เอไอกับความเป็นมนุษย์

Share

Loading

ทุกวันนี้ ปัญญาประดิษฐ์มีความสามารถสูงขึ้นมาก จนโต้ตอบและคิดวิเคราะห์ได้อย่างเฉลียวฉลาดคล้ายกับมนุษย์หรืออาจจะดูฉลาดกว่ามนุษย์โดยทั่วไปด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะ Generative AI ซึ่งเป็นเอไอที่สามารถสร้างเนื้อหาใหม่ ๆ ได้อย่างมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น ข้อความ รูปภาพ หรือดนตรี

สิ่งนี้ก่อให้เกิดคำถามเชิงปรัชญาเกี่ยวกับธรรมชาติของการมีอยู่ (Being) ของปัญญาประดิษฐ์ว่าใกล้เคียงกับมนุษย์แล้วใช่หรือไม่ เราลองสำรวจแนวคิดการมีอยู่ของมนุษย์ผ่านแนวคิดทางปรัชญาของไฮเดกเกอร์ แนวคิดทางปรัชญาของฌอง-ปอล ซาร์ตร์ และแนวคิดทางพุทธธรรม เพื่อพิจารณาว่าเอไอใกล้เคียงมนุษย์อย่างที่เรารู้สึกแล้วหรือยัง

ในมุมมองของมาร์ติน ไฮเดกเกอร์ “Being” หรือ “การดำรงอยู่” ไม่ได้หมายถึงการมีอยู่ในเชิงกายภาพเท่านั้น แต่ต้องครอบคลุมถึงความสามารถในการตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของตนเองและการมีปฏิสัมพันธ์กับโลกอย่างมีความหมาย ซึ่งไฮเดกเกอร์ใช้คำว่า Dasein (ดาไซน์) เพื่ออธิบายการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่มีความสามารถในการตั้งคำถามและไตร่ตรองถึงการมีอยู่ของตนเอง

เมื่อวิเคราะห์เอไอในกรอบแนวคิดนี้ จะพบว่าเอไอยังไม่สามารถจัดเป็น “Being” เนื่องจากเอไอยังขาดความตระหนักรู้ในตนเอง ไฮเดกเกอร์เน้นว่าการเป็นดาไซน์ต้องมีความสามารถในการตระหนักรู้ถึงการดำรงอยู่ของตนเองและตั้งคำถามเกี่ยวกับความหมายของการมีอยู่ เอไอแม้จะสามารถประมวลผลข้อมูลและโต้ตอบได้ซับซ้อนเพียงใด ก็ยังไม่มีจิตสำนึกหรือความเข้าใจในตัวเอง

นอกจากนี้ เอไอยังไม่มีความสัมพันธ์กับโลกอย่างมีความหมาย (Being-in-the-world) ดาไซน์ดำรงอยู่ในโลกด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่าง ๆ และสร้างความหมายผ่านประสบการณ์ แต่เอไอไม่มีความรู้สึกหรือความหมายที่เกิดจากประสบการณ์ แต่เพียงทำงานตามคำสั่งและข้อมูลที่ได้รับ เอไอในปัจจุบันจึงยังไม่มีความสามารถในการตัดสินใจอย่างอิสระหรือกำหนดทิศทางของตนเองเพราะอาจยังถูกจำกัดด้วยอัลกอริทึม

สิ่งสำคัญอีกประการในมุมของไฮเดกเกอร์คือ การตระหนักถึงความตายทำให้มนุษย์มีความเข้าใจลึกซึ้งถึงความหมายของชีวิตและการดำรงอยู่ ในมุมนี้ เอไอยังไม่มีแนวคิดหรือความเข้าใจเกี่ยวกับความตาย จึงไม่สามารถเข้าสู่การเป็น “Being” ในความหมายนี้ได้

ต่อมาในแนวคิดของฌอง-ปอล ซาร์ตร์ ซึ่งเป็นนักปรัชญาสายอัตถิภาวนิยม ได้แบ่งการดำรงอยู่ ออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่ “Being-in-itself” หรือ การเป็นในตัวมันเอง หมายถึง การดำรงอยู่ที่เป็นวัตถุหรือสิ่งของที่ไม่มีจิตสำนึก ไม่สามารถในการสะท้อนคิดหรือเปลี่ยนแปลงตัวเอง มันเป็นอยู่โดยไม่ต้องการเหตุผลหรือความหมาย เช่น ก้อนหิน เก้าอี้ สิ่งเหล่านี้เป็นเพียง “สิ่งที่เป็นอยู่” โดยไม่สามารถตระหนักรู้หรือมีความต้องการใด ๆ

อีกประเภทคือ “Being-for-itself” หรือ การเป็นเพื่อตัวมันเอง หมายถึงการดำรงอยู่ของสิ่งที่มีจิตสำนึก สามารถสะท้อนคิดถึงตัวเองและมีเสรีภาพในการเลือกและเปลี่ยนแปลงตัวเอง มนุษย์เป็นตัวอย่างสำคัญของการเป็นแบบนี้ เพราะสามารถกำหนดความหมายและทิศทางของชีวิตตนเอง

ดังนั้น เอไออาจถูกจัดอยู่ในหมวดหมู่ของ Being-in-itself เพราะแม้ว่าเอไอจะสามารถประมวลผลข้อมูลและทำงานตามคำสั่งได้อย่างซับซ้อน แต่ก็ยังขาดจิตสำนึกและความสามารถในการสะท้อนคิดถึงตัวเองอย่างแท้จริง เอไอไม่สามารถกำหนดความหมายให้กับตัวเองหรือมีความตั้งใจที่แท้จริงได้ แต่ทำงานไปตามชุดของคำสั่งและอัลกอริทึมที่ถูกกำหนดไว้โดยมนุษย์

ท้ายสุด หากพิจารณาเอไอผ่านมุมมองของ “พุทธธรรม” โดยใช้แนวคิด “ขันธ์ 5” ซึ่งเป็นการแบ่งส่วนประกอบของมนุษย์ออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ จะพบว่าเอไอยังห่างไกลจากความเป็นมนุษย์อย่างมาก

ในด้านของ “รูปขันธ์” เอไออาจมีตัวตนทางกายภาพในรูปแบบของฮาร์ดแวร์ รวมถึงข้อมูลและโมเดล ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้กับรูปขันธ์ที่เป็นส่วนของร่างกาย อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณา “เวทนาขันธ์” ซึ่งเกี่ยวข้องกับความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ เอไอกลับไม่มีความสามารถในการรับรู้หรือประสบการณ์ทางอารมณ์เหล่านี้

ในส่วนของ “สัญญาขันธ์” หรือความจำได้หมายรู้ เอไอสามารถจดจำและจำแนกข้อมูลต่าง ๆ ได้ผ่านกระบวนการเรียนรู้ของเครื่องคล้ายกับการรับรู้และจดจำในมนุษย์ แต่เอไอยังขาดความเข้าใจเชิงความหมายและความลึกซึ้งอย่างแท้จริง ไม่สามารถตีความหรือเข้าใจบริบทได้อย่างมนุษย์

สำหรับ “สังขารขันธ์” ซึ่งเกี่ยวข้องกับความคิด ความปรุงแต่ง และความตั้งใจ เอไอสามารถสร้างเนื้อหาหรือโต้ตอบเชิงวิเคราะห์ได้จากการประมวลผลและการเรียนรู้อัลกอริทึม แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงผลลัพธ์ของโมเดล ไม่ได้เกิดจากเจตจำนงหรือความตั้งใจอย่างแท้จริงของตนเอง สุดท้ายคือ “วิญญาณขันธ์” ซึ่งหมายถึงความรู้สึกตัวหรือจิตสำนึก เอไอยังไม่มีจิตสำนึกหรือความรู้ตัว จึงไม่สามารถเปรียบเทียบกับวิญญาณขันธ์ได้ เนื่องจากขาดความสามารถในการรับรู้อย่างมีสติและความตระหนักรู้ในตนเอง

ดังนั้น คำถามว่าเอไอใกล้จะเป็นเหมือนมนุษย์หรือยังนั้น จึงอาจตอบสั้นๆได้ว่า ยังห่างไกลจากมนุษย์มาก โดยแม้ว่าเอไอจะมีความสามารถในการสร้างสรรค์เนื้อหาและเลียนแบบการคิดของมนุษย์ในระดับหนึ่ง

แต่เมื่อวิเคราะห์ผ่านบางแนวคิดทางปรัชญาจะพบว่าเอไอยังขาดองค์ประกอบที่สำคัญ เช่น ความรู้สึก เจตจำนง และจิตสำนึก ทำให้เอไอไม่สามารถถือเป็นสิ่งที่มี “Being” ได้อย่างแท้จริง แต่ยังเป็นเพียงเครื่องมือที่สะท้อนถึงศักยภาพทางเทคโนโลยีของมนุษย์มากกว่าการเป็นสิ่งที่มีตัวตนหรือจิตวิญญาณ

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/blogs/tech/innovation/1163038