ผ่าเทรนด์ ‘เอไอ’ เขย่าลงทุนโลก – ปฎิวัติ เศรษฐกิจ ธุรกิจ การใช้ชีวิต!!

Share

Loading

  • ปฏิวัติธุรกิจ เศรษฐกิจ ปลุกเงินสะพัดมหาศาล
  • ‘ดีอี’ เร่งยุทธศาสตร์หนุน กำกับดูแล  เข็นไกด์ไลน์ ปูทางการใช้ ก่อนเร่งออก ก.ม. เอไอ ฉบับแรก
  • บิ๊กเทคโลก มอง คือ เอไอ คือ แกนหลักองค์กรยุคใหม่ สร้างความได้เปรียบธุรกิจ
  • คาด เอไอ หนุนเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สะพัดล้าน

“ปัญญาประดิษฐ์” หรือ AI ถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด บิ๊กเทครายใหญ่ต่างเร่งพัฒนาโมเดล AI ใหม่ๆ ออกมาแข่งกัน จนผู้ใช้เองแทบปรับตัวไม่ทัน ปี 2567 เป็นปีที่ AI มีบทบาทสำคัญหลายด้าน ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีแห่งอนาคต แต่กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างคุณค่าใหม่ๆ หลากหลายมิติในระบบเศรษฐกิจธุรกิจโลก

ปี 2568 “เอไอ” ถูกยกให้เป็นมหาอำนาจทางเทคโนโลยี ที่จะปฏิวัติโลกในทุกมิติ เศรษฐกิจ ธุรกิจ และการใช้ชีวิตของมนุษย์จะมีส่วนผสมของเอไอในแบบที่แยกกันไม่ออก

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า  กระทรวงดีอีได้ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติ (National AI Committee) หรือ บอร์ดเอไอแห่งชาติ เพื่อเป็นผู้กำหนดและวางนโยบายเกี่ยวกับแผนปฏิบัติการ AI ด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศไทยมีแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์ มีความสัมพันธ์ทั้งดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์ ระบบคอมพิวเตอร์ระดับสูง และ AI

โดยในปี 2567 ประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง มีความพยายามที่จะผลักดันกฎหมาย AI ฉบับแรกของประเทศ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและพิจารณาเรื่องจริยธรรมเอไออย่างโปร่งใส

เอ็ตด้าเจ้าภาพเขียนไกด์ไลน์ “เอไอ”

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยยังมีเพียงแค่ไกด์ไลน์ ของการใช้ AI โดย ดีอี มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจบริการดิจิทัล รับผิดชอบ

สำหรับ การเขียน AI Governance Guideline for Executives หรือ แนวทางการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีธรรมาภิบาลสำหรับผู้บริหารองค์กร ซึ่งเป็นไกด์ไลน์ฉบับแรกของไทย มีรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้บริหาร หรือเจ้าของธุรกิจควรรู้เมื่อจะนำ AI มาใช้ในองค์กร เพื่อให้สามารถใช้งาน AI ได้อย่างปลอดภัย แบ่งการกำกับดูแลเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1.กำหนดโครงสร้างการกำกับดูแล (Al Governance Structure) เป็นการนำเสนอ แนวทางการ กำหนดโครงสร้างการกำกับดูแลการประยุกต์ใช้ AI ขององค์กร โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแล ทำหน้าที่ ในการกำหนดกลยุทธ์ และนโยบาย ที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการประยุกต์ใช้ AI

2.กำหนดกลยุทธ์ในการประยุกต์ใช้ AI (Al Strategy) เป็นการมองหาโอกาส หรือประโยชน์ที่องค์กร จะได้รับจากการนำ AI มาประยุกต์ใช้ เพื่อตอบสนองเป้าหมายองค์กร พร้อมทั้งวิเคราะห์ความสำเร็จ จากการนำ AI มาประยุกต์ใช้ ความเป็นไปได้ในการดำเนินการ ความพร้อมขององค์กรและทรัพยากร

3.กำกับดูแลการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับ AI (AI Operation) เป็นการอธิบายถึงแนวปฏิบัติตลอด วงจรชีวิตของ AI เพื่อให้มั่นใจว่า AI ได้รับการออกแบบ พัฒนา และนำไปใช้งานได้อย่างสอดคล้อง ตามเป้าหมายขององค์กร รวมถึงสอดคล้อง ตามหลักการ จริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ กฎหมายและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลยังได้กำหนดสิ่งที่เชื่อมโยงกัน คือ นโยบายการขับเคลื่อนประเทศผ่านการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ เพื่อมุ่งสู่รัฐบาลดิจิทัล ภายใต้แผนนโยบายคลาวด์เป็นหลัก (Cloud first) และมุ่งเน้นให้ภาครัฐใช้คลาวด์ในการดำเนินงาน ด้วยการใช้โครงสร้างพื้นฐานบนอินเทอร์เน็ตแบบใช้ทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งภาครัฐโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ ดีจีเอ เป็นผู้ให้บริการแก่หน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ

ทั้งนี้ คลาวด์ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล อนาคตจะรองรับดาต้า เซ็นเตอร์ และการประยุกต์ใช้ AI ในอนาคต ดังนั้นรัฐบาลจึงมอบหมายให้กระทรวงดีอี เป็นผู้รับผิดชอบออกกฎหมาย AI เพื่อให้เป็นมาตรฐาน

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ AI ระดับโลก ยังน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง โดยส่วนใหญ่มองว่า AI ในปี 2568 จะถูกพัฒนาให้มีความฉลาดขึ้น องค์กรทั่วโลกต้องมอง AI และหาแนวทางประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

“ไอบีเอ็ม”มอง‘เอไอ’แกนหลักเคลื่อนองค์กร

นายอโณทัย เวทยากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2568 องค์กรจะมองหาโมเดล AI ที่มีความเฉพาะด้าน และมีขนาดเล็กลง โฟกัสที่การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน เทรนด์ที่มาแรง คือ อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI จะปูทางไปสู่ Agentic AI และปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ คือ แนวทางการใช้ AI ที่เน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ผลักดันด้วยความก้าวหน้าและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ความกดดันในแง่สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน รวมถึงความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้า

สำหรับประเทศไทยปี 2568 การลงทุน AI จะมุ่งเน้นที่การออโตเมทกระบวนการธุรกิจของส่วนงานแบ็คออฟฟิศ การปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานด้านไอที รวมถึงการออโตเมทงานด้านการขายและการจัดการวงจรชีวิตของลูกค้า

ไอบีเอ็ม ประเมินว่า ในส่วนประเทศไทย ขณะนี้ยังเป็นเพียงปฐมบทของการลงทุนด้าน AI องค์กรขนาดใหญ่ไม่น่าเป็นห่วง แต่องค์กรขนาดกลางและเล็กยังขาดทรัพยากร ติดขัดเรื่องการปรับเปลี่ยนจากระบบเดิม รวมถึงซีอีโอไม่กล้าตัดสินใจ ซึ่งหากไม่สามารถขยับตัว หรือเข้าไปมีส่วนร่วมได้เร็วย่อมทำให้เสียโอกาส

“การลงทุน AI คงไม่มีใครที่พร้อมที่สุด แต่หากรอให้พร้อม คงช้าเกินไป เป็นเรื่องที่รอไม่ได้ ต่อไป AI จะกลายเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนอนาคตองค์กร”

ปัจจุบันในระดับโลกมีองค์กรราว 10% ที่ใช้ AI แล้ว ส่วนไทยยังน้อยกว่าประมาณ 5-6% แต่หวังว่าปี 2568 จะมีการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้น ช่วงเริ่มต้นนี้กลุ่มที่ตื่นตัวอย่างมาก คือ การเงิน การธนาคาร โทรคมนาคม ค้าปลีก คาดว่าปีหน้าจะได้เห็นการใช้งานในระดับที่สูงขึ้น รวมถึงการเข้ามาของกลุ่มใหม่ๆ ทั้งเฮลท์แคร์ การผลิต และภาคการศึกษา

นายอโณทัย กล่าวว่า สิ่งสำคัญ คือ การยกระดับทักษะบุคคลากร ขณะนี้นับว่ายังไม่สายเกินไปทว่าต้องเร่งสร้าง ดึงศักยภาพที่มีออกมา โดยไทยควรเปลี่ยนจากซูเปอร์ยูสเซอร์ ไปเป็นครีเอเตอร์ได้แล้ว

ไมโครซอฟท์ชี้ปี 68 เอไอจะฉลาดขึ้น

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กล่าวว่า AI ไม่ใช่แค่เพียงกระแสของเทคโนโลยี แต่เป็นโอกาสที่ยิ่งใหญ่ในการพลิกโฉมธุรกิจ ปลดล็อคข้อจำกัดและสร้างขีดความสามารถการแข่งขันใหม่ๆ

“โจทย์ของ AI คือ เรื่องของธุรกิจ ซึ่งหัวใจสำคัญในการนำ AI เข้าไปใช้งาน คือ ผู้บริหารจะต้องให้การสนับสนุนมีการกำหนดกลยุทธ์การใช้ AI ที่ชัดเจน เพิ่มทักษะและจัดหาเครื่องมือที่เหมาะสมให้พนักงาน รวมถึงมีมาตรการการควบคุมเพื่อให้ใช้ AI ได้เกิดประโยชน์สูงสุดและมีความรับผิดชอบ”

สำหรับปี 2568 มั่นใจว่า AI ยังคงได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องให้มีความฉลาด และการทำงานที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน สร้างผลกระทบเชิงบวกและนำไปประยุกต์ใช้ในวงกว้างมากขึ้น ทั้งช่วยปลดล็อคการทำงานของพนักงาน สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กร

ยุคแห่ง GenAI ปฏิวัติองค์กร

บริษัทวิเคราะห์ชั้นนำระดับโลก ต่างคาดการณ์เม็ดเงินของ AI ว่าจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโลกธุรกิจ อย่าง “แมคคินซี่” คาดการณ์ว่า Gen AI มีศักยภาพเพิ่มมูลค่าให้กำไรต่อปีของบริษัททั่วโลกได้ถึง 4.4 ล้านล้านดอลลาร์

สถาบันการศึกษาคุณค่าทางธุรกิจของไอบีเอ็ม (IBV) ระบุว่า ปัจจุบันมีองค์กรกว่า 75% กำลังทดลองใช้ Gen AI ในห้าหรือมากกว่าห้าฟังก์ชัน และ Gen AI จะช่วยให้ ROI (Return on Investment) ของ AI ทะยานเพิ่มขึ้นจาก 13% ในปี 2565 ไปเป็น 31% ในปี 2566

Gen AI ในไทยเม็ดเงินสะพัด

ขณะที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า คาดการณ์ว่าการใช้งาน AI ในไทยจะเพิ่มขึ้นเกินกว่า 50% ภายในปี 2573 เพิ่มขึ้นจาก 17% ในปี 2562 ตลาด AI ของไทยจะมีมูลค่าประมาณ 1.14 แสนล้านบาทภายในปี 2573 และจะมีกว่า 300 ยูสเคสด้าน AI โดยเฉพาะในภาคการผลิต ประกันภัย ยานยนต์ และสาธารณสุข

ด้าน สตาทิสต้า คาดการณ์ว่า ขนาดตลาด Gen AI ในประเทศไทยจะโตถึง 179.50 ล้านดอลลาร์ในปี 2567 และจะโตเฉลี่ย 46.48% ต่อปี จนมีขนาด 1,773 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2573

การ์ทเนอร์ รายงานว่า ขณะนี้เกือบครึ่งหนึ่งขององค์กรธุรกิจได้ขยับจากการสำรวจความเป็นไปได้ของการใช้ AI ไปสู่การทดลองนำร่อง โดยมี 10% ที่ก้าวสู่ขั้นตอนการเริ่มใช้งานจริง

จะเห็นได้ว่า ภาพรวมตัวเลขการลงทุนรวมถึงการเติบโตของ AI ยังเป็นไปอย่างก้าวกระโดด ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า ทั่วโลกจะใช้จ่ายด้าน AI สูงถึง 3 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 108 ล้านล้านบาท) ในช่วงปี 2566-2570 ยิ่งไปกว่านั้น ภายในปี 2573 เทคโนโลยี AI จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาลถึง 16 ล้านล้านดอลลาร์ (ประมาณ 576 ล้านล้านบาท)

เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ พีดับบลิวซี ที่ประเมินว่า AI อาจมีส่วนสนับสนุนต่อเศรษฐกิจโลกได้มากถึง 15.7 ล้านล้านดอลลาร์ปี 2573 มากกว่าผลผลิตปัจจุบันของจีนและอินเดียรวมกัน

ขณะที่ ผลวิจัยจากเคียร์นีย์ (Kearney) พบว่า AI จะมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573 จากการเข้าไปยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ และขับเคลื่อนนวัตกรรมอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เปิด 5 เทรนด์เชิงกลยุทธ์เอไอองค์กร

สำหรับ 5 เทรนด์ เชิงกลยุทธ์ที่จะกำหนดอนาคต AI ขององค์กรในเอเชียแปซิฟิกและในประเทศไทยปี 2568 ที่น่าจับตา ประกอบด้วย

Strategic AI : ผลตอบแทนที่ขับเคลื่อนด้วยAIจะทวีความสำคัญ เปลี่ยนโฟกัสจาก GenAI กับงานที่มีความเสี่ยงต่ำ ไปสู่การใช้เพื่อเพิ่มความได้เปรียบและความคุ้มค่าต่อการลงทุน

Rightsizing AI : โมเดลขนาดเล็กลง สร้างขึ้นเพื่อตอบวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจงขององค์กร สร้างสมดุลระหว่างสมรรถนะ การบริหารจัดการทรัพยากร และความยืดหยุ่น

Unified AI : สร้างความโปร่งใสการกำกับดูแล บูรณาการระบบการใช้AIอย่างมีความรับผิดชอบ

Agentic AI : ผสมผสาน AI กับระบบอัตโนมัติ เพื่อสร้างประสิทธิภาพการดำเนินงาน คุณค่าให้ธุรกิจ ยกระดับประสบการณ์ลูกค้า และเสริมการตัดสินใจอย่างมีนัยสำคัญ

Human-Centric AI : เปลี่ยนแปลงจากการใช้เครื่องมือ AI อย่างเดียว สู่การใช้ศักยภาพนวัตกรรม AI โดยมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1160089