เมื่อเอ่ยถึง จังหวัดเชียงราย หลายคนน่าจะนึกถึง “ดินแดนเหนือสุดในสยาม” ที่มีภูมิประเทศเป็นทิวเขาสลับซับซ้อน แถมมีทะเลหมอกสวยงามไม่แพ้ที่ไหน ยิ่งในช่วงฤดูหนาว ผู้คนจากทุกสารทิศ ก็มักจะปักหมุดเดินทางไปเยี่ยมเยือนเมืองงามแห่งนี้กันอย่างเนืองแน่น ทว่าในอีกมุมหนึ่ง เสน่ห์ของเชียงรายไม่ได้มีแค่ที่กล่าวมาเท่านั้น เพราะเมืองเหนือสุดแห่งสยามนี้ ยังมีความรุ่มรวมทางวัฒนธรรม ความหลากหลายของชาติพันธุ์ ตลอดจนภูมิปัญญาล้ำค่ามากมายที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ผ่านการสร้างสรรค์ การออกแบบ อันเป็นเอกลักษณ์ และจากจุดเด่นนี้นี่เอง ที่ทำให้ เชียงราย ได้รับการขับเคลื่อนสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) มาตั้งแต่ปี 2563
โดยเป้าหมายในการขับเคลื่อน เชียงราย เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโก นี้เอง ที่สอดคล้องกับแนวทางการเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ได้วางหมุดหมายไว้เช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ อพท. จึงได้ลงพื้นที่ไปร่วมศึกษาศักยภาพและความเหมาะสมของเมืองมาตั้งแต่ปี 2563 ร่วมกับจังหวัดเชียงรายและหน่วยงานภาคีเครือข่ายจังหวัด ท้องถิ่น ตลอดจนชุมชน และด้วยการทำงานแบบร่วมมือร่วมใจกันอย่างต่อเนื่อง ในปี 2566 ชัยชนะจึงเป็นของจังหวัดเชียงราย เมื่อเชียงรายได้รับการรับรองจากยูเนสโกให้เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ UCCN ด้านการออกแบบ (City of Design) ได้สำเร็จ
เพื่อถอดบทเรียนจากความสำเร็จในการขับเคลื่อนจังหวัดเชียงรายเป็น “เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโก” อพท. ได้จัดกิจกรรมสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะชวนไปพูดคุยกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายที่มีส่วนร่วมในความสำเร็จครั้งนี้ พร้อมบอกเล่าประเด็นน่าสนใจของการปักหมุดต่อไป กับการขับเคลื่อนให้เชียงรายเป็นเครือข่ายอุทยานธรณีโลก (Global Geopark) แห่งที่ 3 ต่อจากอุทยานธรณีสตูล และอุทยานธรณีโคราช
อพท. เผยแผนขับเคลื่อน จังหวัดเชียงราย เป็น เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ & พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ระดับโลก
สำหรับการเดินทางลงพื้นที่ จังหวัดเชียงราย เพื่อร่วมกิจกรรมสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์การขับเคลื่อนเมืองเชียงรายเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบและแนวทางเดินหน้าสู่การเป็นเครือข่ายอุทยานธรณีโลก ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ อพท. ได้บอกเล่าให้ฟังถึงที่มาของการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ที่ดำเนินการควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเมืองเชียงรายเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ ว่า
“อพท. มีหน้าที่หลักในการกำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และประสานกับหน่วยงานและภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ จะใช้ เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่กำหนดโดย สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก และสำหรับเมืองเชียงราย อพท. ได้ไปร่วมศึกษาศักยภาพและความเหมาะสมของเมืองมาตั้งแต่ปี 2563 ร่วมกับจังหวัดเชียงรายและหน่วยงานภาคีเครือข่ายจังหวัด ท้องถิ่น ตลอดจนชุมชน และเห็นพ้องกันว่า เชียงราย มีความโดดเด่นในการเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบในหลากหลายมิติ”
“โดยเชื่อว่าถ้าพูดถึงจุดเด่นด้านภูมิปัญญาในการออกแบบของเชียงราย หลายคนอาจนึกถึงการออกแบบลวดลายผ้าทอหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆของเชียงรายที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน ทว่า ในนิยามของ เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ ยังหมายถึงความโดดเด่นในการออกแบบอาหาร หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน อาคาร ไปจนถึงการออกแบบและการวางผังเมือง ซึ่งเชียงรายก็มีจุดเด่นของการออกแบบในด้านต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งสิ้น”
“และในส่วนของการทำงานร่วมกับหน่วยงานและภาคีเครือข่าย ก็เริ่มจากการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เชียงราย เพื่อผลักดันให้เชียงรายเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบก็มีความน่าสนใจ โดย อพท.จะทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนี่ก็เป็นหลักการทำงานสำคัญที่ อพท.ใช้ในการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ในทุกพื้นที่ โดยจะวางแนวทางและพูดคุยกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไว้ชัดเจนเพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักที่จะรับไม้ต่อในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป ภายหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาที่ อพท. กำหนดไว้ว่าจะทำงานในพื้นที่ และดำเนินการตาม Exit Plan”
“ต่อมา ในส่วนของการทำงานร่วมกับชุมชน อพท. ก็จะใช้เกณฑ์ CBT Thailand เป็นเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย และใช้เครื่องมือในการทำ Creative Tourism กับทางเชียงราย โดยที่ผ่านมา ชุมชนก็ต้องเข้ามาร่วมกับโครงการ CBT Thailand เพื่อให้ผ่านการรับรอง ซึ่งก็มีขั้นตอนการดำเนินที่เข้มงวด เพื่อวางมาตรฐานให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนให้เชียงราย”
“อย่างไรก็ดี ในการขับเคลื่อนพื้นที่พิเศษเชียงราย ความท้าทายอยู่ที่เชียงรายเป็นพื้นที่พิเศษที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของ อพท. เท่าที่ประกาศมา เพราะกินพื้นที่กว่า 12,000 ตารางกิโลเมตร จนมาในปี 2566 เราก็ได้รับข่าวดีว่าเชียงรายได้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโก ซึ่งก็ทำให้เราได้ธีมหลักของเมือง เป็นพลังที่ชัดเจนในการพัฒนาและขับเคลื่อนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่เชียงราย โดยยึดการนำเสนอความโดดเด่นของเชียงรายในด้านการออกแบบในแง่มุมต่างๆ”
“มาในปี 2567 เราพยายามผลักดันให้เชียงรายมีแหล่งท่องเที่ยวที่ติดอันดับสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 100 แห่งของโลก Sustainable Destination Top 100 ซึ่งตอนนี้จากการพูดคุยกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง เพื่อร่วมมือกันคัดเลือกและผลักดันแหล่งท่องเที่ยวในเชียงรายให้ติดอันดับสุดยอดแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 100 แห่งของโลก แม้จะไม่ทันภายในปี 2567 แต่ก็จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง”
“ส่วนในปี 2568 เราจะขับเคลื่อน อุทยานธรณีเชียงราย ที่เป็นอุทยานธรณีระดับท้องถิ่น (ระดับจังหวัด) ให้เป็น อุทยานธรณีระดับประเทศ และ อุทยานธรณีระดับโลก ต่อไป ซึ่งต้องยอมรับว่าภารกิจนี้มีความท้าทายและยากมาก ต้องอาศัยความร่วมมือและความพยายามของทุกฝ่าย แต่ก็จะเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ อพท. ให้ความสำคัญ และจะจับมือกับทุกภาคส่วนให้แน่นเพื่อพิชิตเป้าหมายนี้ให้ได้”
“ขณะเดียวกัน จังหวัดเชียงรายมีเป้าหมายจะดำเนินโครงการต่างๆ ตามพันธะสัญญาในการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ที่สำคัญในปีต่อๆ ไป คือ การออกแบบหลักสูตรเมืองสร้างสรรค์เชียงรายสำหรับสอนในโรงเรียนห้องถิ่น การจัดตั้งศูนย์การออกแบบเพื่อความยั่งยืน การจัดงานประกวดการออกแบบดอกไม้ระดับนานาชาติ งานแฟชั่นชาติพันธุ์เชียงราย การออกแบบเมืองเชียงรายเพื่อการพัฒนาอย่างยังยืน และงานสร้างสรรค์ (Workshop) ศิลปะชาติพันธุ์”
“และจากผลสำเร็จในการเข้าเป็นสมาชิก UCCN ของจังหวัดเชียงราย ด้วยแนวคิดการออกแบบเพื่อการพัฒนาอย่างยังยืน สร้างความประทับใจแก่สมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโกและเรียกร้องให้เมืองเชียงรายรับเป็นเจ้าภาพจัดประชุม The UNESCO City of Design Subnetwork Meeting 2027 อีกด้วย”
“ต่อมา ในปี 2569 คาดว่าเราจะผลักดันในส่วนของพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย ระดับนานาชาติของเชียงราย ซึ่งจะเป็นความร่วมมือของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กับภาคีเครือข่ายในจังหวัดเชียงราย ที่สุดแล้วในปี 2570 เราได้วางภาพของ จังหวัดเชียงราย เป็น Destination Branding ของเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์และเป็นตัวแทนของเมืองล้านนาที่มีสีสัน ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทุกมุมโลกให้เดินทางมาสัมผัสเสน่ห์ของเมืองเชียงรายได้อย่างสมบูรณ์”
แชร์นโยบายเดินหน้าเมืองเชียงราย รักษาตำแหน่งเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ
“อย่างไรก็ดี การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโกนี้ มีอายุ 4 ปีนับแต่ประกาศ” ดร.ชูวิทย์ กล่าวเพื่อให้ความรู้ พร้อมเน้นย้ำว่า
“ดังนั้น ในปี 2568 อพท. จะยังคงเดินหน้าร่วมขับเคลื่อนจังหวัดเชียงรายในฐานะเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโกอย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมกับจังหวัดเชียงรายในการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านนวัตกรรมการท่องเที่ยว ศูนย์การเรียนรู้การท่องเที่ยวยั่งยืน ตลอดจนการพัฒนาและยกระดับกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชนเป้าหมายให้มีมาตรฐาน เพื่อให้สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเมืองเชียงรายตามแนวทางของการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก หรือ Membership Monitoring Guidelines ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ต้องดำเนินการในอนาคต”
ด้าน นรศักดิ์ สุขสมบูรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้กล่าวถึงนโยบายและแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนของจังหวัดเชียงรายว่า
“นโยบายด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวยั่งยืนของเมืองเชียงรายจะเน้นการพัฒนาใน 3 ด้าน คือ หนึ่ง การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทาง สาธารณูปโภค ไปจนถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ต ให้มีความพร้อมให้มากที่สุด สอง การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเชียงราย ไม่ว่าจะเป็นการปรับภูมิทัศน์ ไปจนถึงการพัฒนา เสริมสร้าง ให้แหล่งท่องเที่ยวชุมชนมีความเข้มแข็ง สาม เป็นการส่งเสริมผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม ร้านอาหาร หรือผู้ประกอบการในชุมชน ที่เราจะจัดการอบรมเติมความรู้ให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงราย”
“ส่วนของการดำเนินการเรายังได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชน ที่เป็นภาคเครือข่ายที่มีความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น สมาคมท่องเที่ยว สมาคมโรงแรม ไปจนถึงหอการค้าจังหวัด โดยเฉพาะที่เชียงราย เรามี บริษัท เชียงรายพัฒนาเมือง (ซีอาร์ซีดี) จำกัด ที่เป็นตัวเชื่อมประสานขับเคลื่อนตามแนวทางเมืองสร้างสรรค์ด้วย นอกจากนั้น เรายังมีหน่วยงานพันธมิตร ทั้ง ททท. อพท. TCEB ที่มาช่วยเติมเจต็มให้การดำเนินการของทางจังหวัดเชียงรายมีความเข้มแข็ง ไม่ว่าในด้านธุรกิจหรือการท่องเที่ยว เพื่อทำให้เมืองเชียงรายมีความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศต่อไป”
ใช้ Industrial Design & Vernacular Design เป็นเข็มทิศนำทางการพัฒนาเมืองเชียงราย ต่อยอดความสร้างสรรค์ของคนเมืองเชียงรายสร้างความกินอยู่ดีให้กับคนทั้งจังหวัด
นอกเหนือจากการใช้ Service Design มาปรับใช้ เพื่อพัฒนาเมืองเชียงรายสู่ Wellness City แล้ว อีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการพัฒนาเมืองเชียงรายยังอยู่ที่การนำแนวคิด Industrial Design มาจับด้วย โดย รศ.ดร.พลวัฒ และคุณพร้อมพร ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมามีการตั้งกลุ่ม Chiang Rai Creative Common Designer ที่ตั้งใจพัฒนาผู้ประกอบการศิลปะให้เติบโต ควบคู่ไปกับการส่งเสริมและพัฒนา Creator Residence Illustrator (Content Industrial) โดยในเชียงรายมีคนที่มีทักษะด้านสถาปนิกอยู่จำนวนไม่น้อยเลย คือ จะมีที่พักอาศัยอยู่ที่เชียงราย แต่ออกแบบงานส่งออกไปทั่วโลก เราจึงใช้จุดเด่นตรงนี้ในการต่อยอดสู่กลุ่มที่มาร่วมออกแบบ ขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์เชียงราย
“และต่อมา เป็นการปรับเอาแนวคิด Vernacular Design มาใช้ โดยเรามีความเชื่อว่า ชาวเชียงรายที่กระจายอยู่ทั่วทุกอำเภอในเชียงราย มีความเป็นนักออกแบบ จึงมีแนวทางที่กำลังใช้ขับเคลื่อนและสร้าง Design Community ขึ้นมา และต่อยอดสู่การเปิด Design School ที่ อพท. จะสนับสนุนต่อไป”
“สำหรับความพร้อมของเชียงรายในการสนับสนุนผู้ประกอบการท้องถิ่น ยังอยู่ที่ภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วนด้วย อย่างที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ก็มีห้องแล็บทันสมัยที่ตอบโจทย์ผู้ผลิตเครื่องสำอาง มีโรงงานต้นแบบที่มีพื้นที่สำหรับทำ Food Test เป็นศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ มีศูนย์สมุนไพรไทย ที่เปิดกว้างให้ Young Entrepreneurs ที่อยู่ในเครือข่ายนักออกแบบสร้างสรรค์ไปใช้ได้ ซึ่งจากการนำแนวทางที่ปรับใช้จริงนี้ไปพรีเซนท์กับทางยูเนสโก ก็ได้รับผลตอบรับที่ดี ซึ่งทางยูเนสโกมองว่าเราสามารถทำในสิ่งที่เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบทั่วโลกไม่ทำกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
“และการที่เมืองเชียงรายได้รับการประกาศให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโก ก็ทำให้เรามีแนวทางการพัฒนาเมืองที่ชัดเจนขึ้น อย่างการจัดงานจัดแสดงงานศิลปะในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale Chiang Rai 2023 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่าง 9 ธันวาคม 2566 ถึง 30 เมษายน 2567 พบว่ามีนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้ความสนใจ และทำให้เชียงรายมีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นถึง 66 เปอร์เซ็นต์”
“ดังนั้น เรามองว่าการทำให้ทุกคนในเชียงรายเห็นเป้าหมายตรงกันในการขับเคลื่อนเชียงรายให้เป็น Creative City มีการใช้แนวคิด Creative Thinking ในการพัฒนาเมืองเชียงรายในทุกมิติ ย่อมทำให้ Economic of Scale เกิดขึ้น มีการกระจายรายได้ให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม”
“และความพิเศษของเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบเชียงราย ยังอยู่เชียงรายเป็นเมืองเดียวในโลกที่ Focal Point หรือผู้ประสานงานเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์เป็นภาคเอกชน 100 เปอร์เซ็นต์ และตรงนี้เองที่ทางยูเนสโกมองว่าทำให้เกิดความยั่งยืน เพราะส่วนใหญ่ Focal Point ของเมืองจะเป็นผู้ที่มีตำแหน่งปกครองเมือง ซึ่งมีวาระในการเปลี่ยนแปลงทำให้ดูแลงานด้านเมืองสร้างสรรค์ได้ไม่ต่อเนื่อง ทั้งที่กรอบการพัฒนา “เมืองสร้างสรรค์” จะเป็น character ที่อยู่กับเมืองตลอดเวลา ดังนั้น ยูเนสโก จึงยกย่องเมืองเชียงรายว่าเป็นต้นแบบ หรือ Best Practice ที่เมืองสร้างสรรค์อื่นทั่วโลกควรนำไปปรับใช้เป็นตัวอย่าง เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ได้อย่างยั่งยืน”
“เครือข่ายอุทยานธรณีระดับโลกของยูเนสโก” หมุดหมายใหม่ของเชียงรายกับความท้าทายที่จะขับเคลื่อนไปให้ถึง
ดังที่ได้เกริ่นข้างต้นแล้วว่า นอกจากการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์แล้ว อพท. ยังได้ร่วมกับกรมทรัพยากรรณี องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายและคณะกรรมการอำนวยการอุทยานธรณีเชียงราย ขับเคลื่อนการดำเนินงานของอุทยานธรณีเชียงรายมุ่งเป้าสู่การเป็นอุทยานธรณีระดับโลกของยูเนสโก ตามที่ได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับกรมทรัพยากรธรณี เมื่อปี 2563 โดยใช้แนวคิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นเครื่องมือในการยกระดับอุทยานธรณีเชียงรายสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เป็น
พื้นที่สร้างโอกาสให้ชุมชนท้องถิ่นที่ใช้ประโยชน์จากหรัพยากรธรณี อาทิ น้ำพุร้อน ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ควบคู่ไปกับการพัฒนาการศึกษาในท้องถิ่นและการอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีคุณค่า
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา อพท. ได้นำเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยังยืนโลก GSTC ไปสร้างความรู้ความเข้าใจในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนแก่ชุมชนท้องถิ่น และพัฒนาจนเกิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวอุทยานธรณีเชียงรายแล้ว 3 เส้นทาง ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเภอเชียงแสน อำเภอแม่สาย และอำเภอแม่จัน ได้แก่
เส้นทางที่ 1 “รอยเลื่อนอดีตโยนกนคร
เส้นทางที่ 2 เสน่ห์แห่งตำนาน “ถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน”
เส้นทางที่ 3 เป็นเส้นทางท่องเที่ยวเชิงผจญภัย อัศจรรย์ ธรรมชาติ ธรณีวิทยาเชียงราย”
*ในปี 2568 อพท. วางเป้าหมายการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อยกระดับการบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างมีมาตรฐานตามเกณฑ์ GSTC รวมถึงสร้างการรับรู้และสร้างความร่วมมือในการขับเคลื่อนอุทยานธรณีเชียงรายสู่การเป็นอุทยานธรณีระดับประเทศ และการเป็นเครือข่ายอุทยานธรณีโลก (Global Geopark) ของยูเนสโกในลำดับถัดไป ทั้งนี้ อพท. นำโครงการพัฒนาและการบริหารจัดการธรณีวิทยา (Geopark) ของจังหวัดเชียงราย เข้าเป็นส่วนหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเชียงรายระยะ 5 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกด้วย
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2024/12/30/chiangrai-creative-city-unesco-lesson-learn/