“โตเกียว” รุกพลังงานสะอาดเต็มสูบ! บ้านใหม่ทุกหลังต้องติดโซลาร์เซลล์

Share

Loading

ตั้งแต่เดือนเมษายน 2025 เป็นต้นไป โตเกียวจะเริ่มบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ที่กำหนดให้บ้านเดี่ยวสร้างใหม่ทุกหลังต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ นี่ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นที่มีการบังคับใช้นโยบายเชิงรุกเช่นนี้ โดยเป้าหมายสำคัญคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างจริงจัง 

การตอบสนองต่อวิกฤตโลก ทั้งด้านพลังงานและสภาพภูมิอากาศ 

ริซาโกะ นาริคิโย สมาชิกสภานิติบัญญัติท้องถิ่น กล่าวถึงแรงผลักดันของนโยบายนี้ว่า “เราเผชิญทั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศและวิกฤตพลังงานจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ เราไม่มีเวลาให้เสียไปอีกแล้ว”

ด้วยประชากรเกือบ 14 ล้านคนในโตเกียว ซึ่งเป็นมหานครที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยปีละ 8.6 ตันต่อคน ขณะที่รายงานของ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) หรือ คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ* ซึ่งเป็นองค์กรระดับโลกที่ทำหน้าที่รวบรวมและประเมินข้อมูลทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แนะนำว่า เพื่อป้องกันภาวะโลกร้อนให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อคนต่อปีควรลดลงเหลือไม่เกิน 2.3 ตัน ตัวเลขดังกล่าวแสดงถึงความท้าทายของโตเกียวในการลดการปล่อยมลพิษ แต่รัฐบาลโตเกียวตั้งเป้าหมายใหญ่ไว้ คือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 (เทียบกับระดับในปี 2000) และก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 

โซลาร์เซลล์: ตัวแปรสำคัญสู่ความยั่งยืน 

ปัจจุบัน มีอาคารเพียง 4% ในโตเกียวที่ใช้พลังงานหมุนเวียนผ่านแผงโซลาร์เซลล์ กฎระเบียบใหม่นี้จึงมุ่งหวังจะเพิ่มการใช้งานพลังงานหมุนเวียนให้เป็นที่แพร่หลาย โดยเน้นไปที่บ้านเดี่ยวสร้างใหม่ที่พัฒนาโดยผู้สร้างบ้านรายใหญ่ กฎระเบียบนี้มุ่งเน้นไปที่การควบคุมอาคารที่อยู่อาศัยใหม่ที่มีขนาดเล็ก (ไม่เกิน 2,000 ตารางเมตร) และพัฒนาโดยบริษัทขนาดใหญ่ โดยจะมีผลกระทบต่อบริษัทประมาณ 50 แห่ง ซึ่งต้องปรับตัวและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในข้อบังคับดังกล่าว

สำหรับบ้านที่ไม่เหมาะสม เช่น หลังคาหันไปทางทิศเหนือหรือมีพื้นที่จำกัด รวมถึงผู้สร้างบ้านขนาดเล็ก จะได้รับการยกเว้นจากข้อบังคับนี้ 

ประโยชน์ทั้งด้านพลังงานและการเงิน

ต้นทุนการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 4 กิโลวัตต์อยู่ที่ประมาณ 980,000 เยน (ประมาณ 214,680 บาท) แต่รัฐบาลโตเกียวคาดการณ์ว่าเจ้าของบ้านจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 10 ปีผ่านการลดค่าไฟฟ้าและการขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าสู่ระบบ นอกจากนี้ เงินอุดหนุนยังช่วยลดระยะเวลาคืนทุนเหลือเพียง 6 ปี โดยผู้ติดตั้งอาจได้รับเงินอุดหนุนสูงถึง 360,000 เยน (ประมาณ 78,860 บาท)

กรณีศึกษาการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน

นโยบายนี้ไม่ใช่เพียงความพยายามของโตเกียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งสัญญาณไปยังเมืองอื่นๆ ในญี่ปุ่นและทั่วโลกว่า การพัฒนาที่ยั่งยืนและการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศจำเป็นต้องมีการดำเนินการที่เด็ดขาดและครอบคลุม

เมื่อมองในภาพรวม กฎระเบียบใหม่นี้ของโตเกียวไม่เพียงตอบสนองความเร่งด่วนของปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่ยังสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ด้วยการเปลี่ยนบ้านทุกหลังให้เป็นส่วนหนึ่งของการผลิตพลังงานหมุนเวียน โตเกียวกำลังก้าวสู่การเป็นเมืองต้นแบบที่แสดงให้เห็นว่าความเปลี่ยนแปลงเพื่อโลกที่ดีกว่าสามารถเริ่มต้นได้จากระดับท้องถิ่นและสร้างแรงกระเพื่อมไปสู่อนาคตที่ยั่งยืนทั่วโลก

ในภาพรวมของทั้งประเทศ ญี่ปุ่นกำลังก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดด้วยการผสมผสานระหว่างนโยบายภาครัฐที่แข็งแกร่ง โดยปี 2024 พลังงานแสงอาทิตย์ได้ก้าวขึ้นเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ด้วยกำลังการผลิตกว่า 14 เทระวัตต์-ชั่วโมง (TWh) เพิ่มขึ้นถึง 12.4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนถึงการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในเทคโนโลยีการผลิตพลังงานหมุนเวียน

ไม่ใช่แค่ความตื่นตัวของภาคเอกชนเท่านั้น แต่รัฐบาลญี่ปุ่นยังสนับสนุนอย่างจริงจังด้วยเงินอุดหนุนจำนวนมหาศาล เปิดโอกาสให้ประชาชนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 5 กิโลวัตต์ พร้อมแบตเตอรี่ 10 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในราคาที่เอื้อมถึงได้เพียง 1 ล้านเยน หลังหักเงินอุดหนุน นี่จึงเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ตลาดพลังงานแสงอาทิตย์เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) จะสูงถึง 9.2% ในอนาคตอันใกล้

ขณะที่นวัตกรรม Perovskite คือกุญแจสู่อีกขั้นสู่ความสำเร็จของญี่ปุ่น เพราะในโลกของพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่มีอะไรจะตื่นเต้นไปกว่าการมาถึงของเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ Perovskite (PSC) ที่มีน้ำหนักเบาและยืดหยุ่น สามารถติดตั้งบนพื้นที่ที่ไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้ เช่น ผนังอาคารหรือแม้กระทั่งกระจกหน้าต่าง โครงการสาธิตในโตเกียวที่บริษัทไอทีใหญ่แห่งหนึ่งติดตั้ง PSC บนผนังศูนย์ข้อมูล เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีนี้พร้อมจะเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับพลังงานสะอาด

ญี่ปุ่นกำลังเดินหน้าสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มรูปแบบ โดยตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งให้ได้ถึง 108 กิกะวัตต์ภายในปี 2030 เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีแผนผลิตไฟฟ้าราว 20 กิกะวัตต์ ซึ่งเทียบเท่ากับผลผลิตของเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 20 เครื่อง โดยใช้เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ Perovskite ที่มีคุณสมบัติบางและยืดหยุ่น(โค้งงอ)ได้ พร้อมวางแผนเปิดตัวในเชิงพาณิชย์ในปีงบประมาณ 2040 การพัฒนาเหล่านี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของญี่ปุ่นในการสร้างอนาคตที่สะอาดและยั่งยืนอย่างแท้จริง

ความสำเร็จในการขับเคลื่อนภารกิจโซลาร์เซลล์ของญี่ปุ่น และความเคลื่อนไหวล่าสุดของโตเกียวเป็นสัญญาณชัดเจนว่าญี่ปุ่นกำลังเดินหน้าสู่อนาคตที่พลังงานแสงอาทิตย์ไม่ได้เป็นเพียงทางเลือก แต่เป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวัน ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ การพัฒนานวัตกรรม และความมุ่งมั่นในความยั่งยืน แดนอาทิตย์อุทัยนี้กำลังสร้างแรงบันดาลใจให้ทั่วโลกมุ่งสู่พลังงานสะอาดที่ยั่งยืนในแบบเดียวกัน

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2025/01/05/tokyo-new-home-solar-policy/