เปิดภารกิจพัฒนาหลักสูตร ปั้น ‘นักบริหารจัดการน้ำ’ พร้อมส่งต่อองค์ความรู้ จัดการปัญหาน้ำให้องค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วไทย
ในปี 2567 ที่ผ่านมา ประเทศไทยเกิดภัยธรรมชาติขึ้นมากมาย แต่ที่ส่งผลกระทบ สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ทำให้สูญเสียทรัพย์สินและถึงแก่ชีวิต หนีไม่พ้น น้ำท่วมในหลายพื้นที่ ขณะที่ ปัญหาน้ำแล้ง ก็ยังเกิดขึ้นในหลากหลายจังหวัดทั่วไทย ผู้ที่ได้รับผลกระทบหนักน่าจะเป็นเหล่าเกษตรกร โดยเฉพาะการทำให้ผลผลิตจากการเพาะปลูกตามที่คาดหมายไว้ สถานการณ์ที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าปัญหาเรื่องน้ำ นับเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมแก้ไข ตั้งแต่ในระดับชุมชน ท้องถิ่น ไปจนถึงระดับชาติ
ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญเร่งด่วนนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ 2 หน่วยงานหลัก ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจพัฒนาหลักสูตรสร้าง นักบริหารจัดการน้ำ ระดับท้องถิ่น เพื่อพัฒนาหลักสูตรกลางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในการพัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ และ นักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
นอกจากนั้น การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ยังเป็นการดำเนินการภายใต้แนวคิดในการสร้าง Water Academy หรือสถาบันฝึกอบรมการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเปิดกว้างให้หน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม มาอบรมร่วมกันด้วยหลักสูตรกลาง เพื่อเสริมศักยภาพสำหรับนักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับปฏิบัติระดับบริหารจัดการและระดับอำนวยการ พร้อมกับการสร้างภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ร่วมขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำไปในทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศด้วย
ต่อยอดภารกิจการสร้างความมั่นคงทางน้ำ สู่การติดอาวุธทักษะการบริหารจัดการน้ำให้ทุกภาคส่วน เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำให้ประเทศอย่างยั่งยืน
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ขยายความถึงที่มาและประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการลงนามความร่วมมือครั้งนี้ว่า
“ภารกิจหลักของ สทนช. คือการทำให้เกิดความมั่นคงและสมดุลของน้ำและอาหาร สุขภาวะที่ดี และความพร้อมรับปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยวิธีที่เหมาะสม บนฐานของระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ วิถีทางสังคม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยองค์ประกอบหลักในการขับเคลื่อนภารกิจดังกล่าว คือ พระราชบัญญัติแผนแม่บท และองค์กรบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ซึ่งปัจจัยที่จะส่งผลให้การขับเคลื่อนมีประสิทธิภาพ ทั้งในภาวะปกติ และเมื่อเกิดภัยพิบัติด้านน้ำ คือ ข้อมูลของพื้นที่ ภูมิปัญญา เทคโนโลยีและนวัตกรรม งบประมาณ ต้นแบบที่ดีและปัจจัยสำคัญที่สุด คือความร่วมมือ และศักยภาพของบุคลากรจากทุกภาคส่วน”
“สทนช. จึงมีแนวคิดในการสร้าง Water Academy หรือ สถาบันฝึกอบรมการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเปิดกว้างให้หน่วยงานและองค์การที่เกี่ยวข้อง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำทั้งทั้งภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม มาอบรมร่วมกับด้วยหลักสูตรกลางเพื่อเสริมศักยภาพ สำหรับนักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับปฏิบัติ ระดับบริหารจัดการและระดับอำนวยการ พร้อมกับการสร้างภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อร่วมขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ
“และด้วยแนวคิดนี้ สทนช. ได้ต่อยอดความร่วมมือ จากหน่วยงานและองค์กรวิชาการ ร่วมพัฒนาหลักสูตรและจัดอบรมใบหลากหลายวัตถุประสงค์ นอกจากนั้น ยังได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากอีกหลายหน่วยงาน องค์กร สถาบันการศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ล้วนยินดีร่วมพัฒนาและขยายผลหลักสูตร ในการพัฒนาศักยภาพบุคลากร และภาคีเครือข่ายของตนเองเพื่อให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
“ทั้งนี้ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบโดยตรง ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการเกิดภัยพิบัติด้านน้ำ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ จึงมีมติ ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เร่งจัดทำแผนและหลักสูตรกลาง เพื่อสร้างการรับรู้ในการปรับตัว การจัดการภัยและความเสี่ยงจากภัยพิบัติด้านน้ำ รวมทั้งให้ดำเนินการสร้างการรับรู้กับทุกภาคส่วนในระดับลุ่มน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อม ทั้งในภาวะน้ำแล้งและในภาวะน้ำท่วม”
“ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้รับการสนับสนุนสนุนอย่างดียิ่งในการร่วมพัฒนาหลักสูตรดังกล่าว ด้วยโครงการวิจัย และคณาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยพะเยา ด้วยงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม พร้อมกับการผสานโครงการและเครือข่ายนักวิจัย”
“สำหรับการกิจสร้างการรับรู้ให้กับทุกภาคส่วนในพื้นพื้นที่ลุ่มน้ำ และการพัฒนาหลักสูตรสำหรับ Water Academy หากมีความร่วมมือของภาคีสถาบันการศึกษาและเครือข่ายคณาจารย์ และด้วยการสนับสนุนของ บพท. คงประสบความสำเร็จได้ไม่ยากนัก จึงเป็นที่มาของการลงนามความร่วมมือในวันนี้”
บพท. เปิดภารกิจการพัฒนาศักยภาพ นักบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ ด้วยหลักสูตรสำหรับ Water Academy
ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. กล่าวถึงภารกิจการพัฒนาศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ และนักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ในส่วนของประทรวง อว. ว่า
“ด้วยภารกิจของกระทรวงการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)ที่มุ่งเน้นการสร้างความรู้สร้างการเปลี่ยนแปลงด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยี และพัฒนาทักษะของทรัพยากรบุคคล นี่คือภารกิจอันสำคัญของ บพท. คือ การสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยใช้การส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และดำเนินการโดยใช้ข้อมูล สร้างระบบปฏิบัติการหรือกลไกจัดการใหม่ และการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ก่อให้เกิดความเจริญในทุกมิติ และลดความเหลื่อมล้ำ หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญเพ็ญเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว คือ การเสริมสร้างศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กลไกภาครัฐ และภาคชุมชนในการบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และเป็นธรรม”
“งานนี้ถือเป็นงานที่สอดรับกับภารกิจของ หน่วย บพท. ที่สร้างองค์ความรู้ สร้างแพลตฟอร์ม สร้างคนและกลไกในพื้นที่เพื่อการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างครบวงจรโดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นอกจากนั้นก็ยังมีส่วนงานที่เกี่ยวข้องในกระทรวง อว.ที่ได้ร่วมมือในการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างยาวนาน ทั้งสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งรับผิดชอบแผนการวิจัยด้านการบริหารจัดการน้ำระดับประเทศ ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)
(สหน) และรับผิดชอบเรื่องคลังข้อมูลน้ำของประเทศและยังขับเคลื่อนเรื่องภัยพิบัติกับเครือข่ายพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ถือว่าทุกภาคส่วนเป็นหน่วยงานที่สำคัญของกระทรวง อว. ที่ได้ร่วมกันดำเนินการเพื่อให้สอดรับกับนโยบายของกระทรวง อว.”
“และอีกหนึ่งหน่วยงานสำคัญ ที่มีส่วนในการสร้างความมั่นคงทางน้ำให้ประชาชนไทย คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งของ อปท. คือ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างครบวงจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในสภาวะปกติ อปท. สามารถบริหารจัดการสมดุลน้ำให้เพียงพอในพื้นพื้นที่ และเป็นทรัพยากรน้ำที่มีคุณภาพ และเมื่อเกิดภัยพิบัติด้านน้ำ อปท. ก็ต้องสามารถรับมือได้อย่างทันท่วงทีและฟื้นตัวได้เร็ว หรือ Resilience“
“และ อปท. จำเป็นต้องใช้ข้อมูลที่แม่นยำด้านน้ำ ผังน้ำ บริบทของพื้นพื้นที่ ภูมิปัญญาพื้นถิ่น และเทคโนโลยีนวัตกรรมที่เหมาะสมในการบริหารจัดการน้ำ และกลไกการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนการเสริมสร้างขีดความสามารถของ อปท. ให้เป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูงในการบริหารจัดการน้ำครบวงจร จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ บพท. ต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นผ่านการขับเคลื่อนด้วยข้อมูลความรู้และนวัตกรรมจากเครือข่ายมหาวิทยาลัยในพื้นพื้นที่ และบุคลากรระดับผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม”
“โดยร่วมมือกันออกแบบหลักสูตรสำหรับ Water Academy และสำหรับบุคลากรในระดับพื้นพื้นที่นั้น และมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาทักษะบริหารจัดการน้ำหรือลุ่มน้ำ ผ่านการเรียนรู้บนฐานสมรรถนะเพื่อให้สามารถพัฒนาฐานข้อมูล กลไกการจัดการ และบูรณาการเครือข่ายความร่วมมือได้อย่างสัมฤทธิผล”
ถอดบทเรียนการพัฒนาหลักสูตรกลาง การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และบทบาทของท้องถิ่นนำสู่การจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ
ต่อมา มีการบรรยายในหัวข้อ “ถอดบทเรียนการดำเนินการพัฒนาหลักสูตรกลางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ” โดย ผศ.น.สพ.ดร.วินัย แก้วละมุล อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เน้นย้ำว่า
“ในการจัดหลักสูตรการจัดการน้ำเชิงพื้นที่ ต้องแบ่งออกเป็น Module ที่ 1 การจัดการน้ำเชิงระบบและการวิเคราะห์สถานการณ์และการเก็บข้อมูลแหล่งน้ำ Module ที่ 2 พัฒนาข้อมูลและแนวทางการแก้ไขปัญหาด้านน้ำ และ Module ที่ 3 กลไกการจัดการด้านน้ำและแผนงานโครงสร้างด้านน้ำ และในการจัดการน้ำเชิงพื้นที่รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะกลุ่มเป้าหมาย ต้องมีการเตียมความพร้อม การดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และการติดตามการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วย”
และในช่วงสุดท้าย ได้เปิดเวทีอภิปรายเชิงวิชาการเรื่อง “Next Episode : บทบาทของท้องถิ่นกับการจัดการน้ำอย่างชาญฉลาด” โดยมีผู้แทนจากทั้งภาคส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คณะกรรมการลุ่มน้ำ และผู้แทนภาคประชาชน จากทุกภูมิภาค ซึ่งใจความสำคัญคือการถอดบทเรียนความสำเร็จจากการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ ที่เกิดขึ้นได้เพราะภูมิปัญญาของประชาชน การมีผู้นำท้องถิ่นที่เข้มแข็ง
และ อีกหนึ่ง Key success สำคัญ คือ ความร่วมมือของทุกภาคส่วน ตลอดจนความร่วมมือล่าสุดของ สนทช. และ บพท. ในการพัฒนาศักยภาพ ติดอาวุธทักษะสำคัญในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้กับภาคองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและคนทำงานในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ทุกพื้นที่แก้ไขและป้องกันปัญหาน้ำทุกรูปแบบ และเสริมสร้างความมั่นงคงทางน้ำได้อย่างตรงจุดมากขึ้น
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2025/01/19/water-management-program-mou-pmua/