ปลดล็อคชาวบ้านยะวึก จ.สุรินทร์ จากความยากจน ด้วยโมเดล ผักอินทรีย์แก้จน

Share

Loading

ว่ากันว่า ปัญหาความยากจน ถูกจัดให้เป็น “ปัญหาปีศาจเขาวงกต” เพราะมีทั้งความซับซ้อนของปัญหาที่ผูกกันเป็นเงื่อนปม ยากจะสะสาง จากความจนในครอบครัว ส่งไม้ต่อมาเป็นความจนข้ามรุ่น เป็นมรดกที่แม้ไม่มีใครอยากรับ แต่ก็ต้องรับด้วยความจำยอม

ยิ่งในภาคอีสาน ปัญหาความยากจน นับว่าเป็นปัญหาที่เกาะกินชาวอีสานมาอย่างยาวนาน ยืนยันได้ด้วยข้อมูลทางสถิติล่าสุดจาก อีสานอินไซต์ ในปี 2566 ซึ่งพิจารณาด้วย “เส้นความยากจน หรือ Poverty Line” โดยผู้ที่มีรายได้หรือค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจนนี้ก็จะถูกจัดให้เป็นคนยากจน พบว่าภาคอีสานหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนคนจนอยู่ในอันดับที่ 2 ของประเทศรองจากภาคใต้ โดยในปี 2565 จังหวัดที่มีสัดส่วนคนจนสูงสุดในอีสาน 5 อันดับแรก คือ กาฬสินธุ์ หนองบัวลำพู ศรีสะเกษ มุกดาหาร และสุรินทร์

โดยปัญหาที่เป็นต้นตอสำคัญของความยากจนในจังหวัดที่มีคนจนสูงสุดในอีสานเป็นอันดับ 5 อย่างสุรินทร์ มีทั้งเกิดจากเทรนด์ความเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับเทรนด์โลกอย่าง อัตราการเกิดของประชากรที่ลดลง ขณะที่ประชาผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งภาคอีสานก็ครองแชมป์การมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากที่สุดในประเทศไทย โดยในปี 2565 มีจำนวนผู้สูงอายุมากถึง 3,966,559 คน คิดเป็นร้อยละ 55 ของประชากรทั้งหมด และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นนี้ ย่อมส่งผลทำให้เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้มีอัตราการเติบโตช้าลงไปโดยปริยาย

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่น ตั้งแต่ความเครียดจากการทำงาน ค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพที่สูงขึ้น บวกกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาที่เกิดมาตั้งแต่วิกฤตโควิดที่ยังไม่คลี่คลาย ทั้งหมดนี้กลายเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้ครัวเรือนในอีสานมีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ โดยหนี้ส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อที่อาจไม่สร้างรายได้ (Non-Productive Loan) และร้อยละ 69 ของบัญชีหนี้ครัวเรือนทั้งหมดในประเทศไทยเป็นสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต

และข้อค้นพบสำคัญจาก อีสานอินไซต์ พบว่าในปี 2565 จังหวัดสุรินทร์มีหนี้ครัวเรือนสูงเป็นอันดับ 1 ในภาคอีสาน โดยมียอดหนี้ 346,321 บาท เพิ่มสูงขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 35

ข้อมูลที่กล่าวถึงข้างต้นนี้ ก็เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร ปัญหาความยากจน ก็ยังคงเป็นปัญหาที่เกาะกินสังคมไทย ฉุดรั้งทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ

มาถึงตอนนี้ หลายคนอาจตั้งคำถามว่า “แล้วทางออกจากปัญหาความยากจนนั้น ต้องไปทางไหน” ซึ่งถ้าวิเคราะห์จากโมเดลความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนในหลายพื้นที่ที่ผ่านมาเราพบข้อสรุปสำคัญว่าภารกิจนี้ไม่สามารถแก้ได้โดยหน่วยงานเดียวหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง ทว่า การร่วมมือกันเป็นเครือข่าย คือ หนึ่งใน Key success ที่นำสู่ความสำเร็จในการแก้ปัญหาความยากจนได้ไม่ยาก

เพื่อให้เห็นภาพนี้ร่วมกัน วันนี้เราขอหยิบเอาเรื่องราวการสู้เอาชนะความยากจนของ ชุมชนยะวึก ตำบลยะวึก อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ ที่ใช้กลไกของเครือข่าย บ้าน-วัด-โรงเรียน หรือที่เราคุ้นเคยกันในชื่อ “บวร” บวกกับการสนับสนุนจาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ที่รวมทัมนักวิจัย เพื่อลงพื้นที่ดำเนินโครงการวิจัยการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ด้วยการนำโมเดลการปลูก ผักอินทรีย์แก้จน ไปใช้ ภายใต้การสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

นอกเหนือจากนั้น ยังได้แรงสนับสนุนเป็นอย่างดีจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในทุกระดับ ที่มีความเข้าใจในพื้นที่และมีความสัมพันธ์กับชาวบ้านและกลุ่มคนจนเป้าหมายเป็นอย่างดี ทำให้การต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนนี้ สามารถฟันฝ่าได้ทุกอุปสรรค ก่อให้เกิดผลลัพธ์เป็นคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชาวชุมชนยะวึกที่จับต้องได้

ถอดบทเรียน “ใจบันดาลแรง” สู้เอาชนะความจนในรูปแบบของ คนยะวึก

บนเวที “สู้ชนะความจนบนฐานพลังความรู้และพลังภาคี” ที่จัดขึ้นเพื่อถอดบทเรียนโมเดล ผักอินทรีย์แก้จน ภายใต้โครงการวิจัยแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จแม่นยำ ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท. ได้ให้ข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการบูรณาการงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อนำสู่การแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ ว่า

“จากนโยบายของทาง กระทรวง อว. ที่มีใจความสำคัญ คือ การทำวิจัยในยุคนี้ต้องเป็น งานวิจัยที่กินได้ ต้องนำไปปรับใช้และทำให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนดีขึ้น ซึ่งนี่เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ ที่เป็นที่มาของการออกแบบแพลตฟอร์มเอาชนะความยากจน ของ บพท. ซึ่งจริงๆ แล้ว เรื่องของการขจัดความยากจนนั้น เราทำกันมาอย่างยาวนาน ยิ่งเป็นผู้นำส่วนท้องถิ่น นักวิจัย นักวิชาการ กลุ่มคนเหล่านี้ต้องเคยอยู่ในสนามการต่อสู้เอาชนะความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยแทบทั้งสิ้น แต่แน่นอนว่าคำถามที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา คือ ทำมสถานการณ์ความยากจนในไทยนั้น จึงไม่ดีขึ้นสักที”

“ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา เราพูดถึงแต่ “โครงการแก้จน” แต่ไม่เคยพูดกันถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็น “ครัวเรือนยากจน” ที่แท้จริงกันเลย โครงการแก้จส่วนใหญ่ จึงเป็นโครงการพัฒนาอาชีพ โครงการพัฒนากลุ่มเกษตรกร ซึ่งล้วนเป็นโครงการทีดี แต่กลับลงไม่ถึงครัวเรือนยากจน”

“ดังนั้นที่จังหวัดสุรินทร์ ตั้งแต่ในสมัยอดีตผู้ว่าราชการจังหวัด ดร.พิจิตร บุญทัน เราได้ดำเนินการสร้างระบบข้อมูลครัวเรือนยากจน : Surin-BI ขึ้น เพื่อนำสู่การระบุครัวเรือนยากจนเป้าหมายในจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งต่อมาได้พัฒนาต่อยอดเป็นระบบฐานข้อมูลบริหารจัดการแก้ปัญหาความยากจน ด้วย Surin Poverty Database ที่ผู้เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาความยากจนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลร่วมกัน ลดการช่วยเหลือครัวเรือนยากจนซ้ำซ้อน และช่วยแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างตรงจุดและครอบคลุม”

“ขณะที่ ทางทีมนักวิจัย มรภ.สุรินทร์ ก็เข้ามามีส่วนในการช่วยวิเคราะห์ฐานทุนครัวเรือน ฐานทุนสังคม ในพื้นที่ เพื่อวางแผนการนำโมเดลแก้ปัญหาความยากจนลงไปในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจากการวิเคราะห์เราพบว่า จังหวัดสุรินทร์มีฐานทุนทางสังคมที่ดีระดับประเทศ ทั้งในมิติด้านศาสนา กลไกของจังหวัด กลไกทางท้องถิ่น ดังนั้น ถ้าเราผนึกกำลังทุกเครือข่ายอย่างจริงจัง ใช้พลังความรู้นำ ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญญาและการบ่มเพาะทักษะที่ถูกต้อง”

“และเมื่อเราได้พบปะกับหมู่บ้าน ทาง มรภ.สุรินทร์ ก็ส่งโมเดลแก้จนไปหลายรูปแบบ แต่มีโมเดลหนึ่งที่เรานำเสนอและชักชวนให้ชาวบ้านมาร่วมปลูกผัก อินทรีย์แก้จน และความท้าทายของชุมชนยะวึก คือ เป็นครัวเรือนที่ไม่เคยได้รับโอกาส ได้รับความช่วยเหลือเรื่องความยากจน ชาวบ้านไม่มีที่ทางทำกิน ไม่มีความรู้เรื่องการผลิตผัก ไม่มีทรัพยากรอะไรเลย ซึ่งความท้าทายนี้ได้เปลี่ยนสู่ความร่วมมือในการร่วมกันออกแบบรูปแบบของความช่วยเหลือ ทั้งจากทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทางภาคศาสนา ผ่านทางเจ้าคณะจังหวัด และการออกแบบการให้ความรู้โดยมหาวิทยาลัย และที่สำคัญ คือ การออกแบบความช่วยเหลือโดยภาครัฐ ส่วนกลางอย่าง บพท. และส่วนภูมิภาค”

“มาในวันนี้ ความสำเร็จที่ได้เห็น ย้อนกลับไปให้คิดถึงวันที่ผมได้คุยกับชาวบ้านที่ยะวึก ในช่วงแรกที่มีโครงการนี้ ในวันนั้น คุณลุงคนหนึ่งบอกผมว่า เขารู้สึกภูมิใจในความเป็นคนยะวึก ภูมิใจที่ได้เข้าร่วมโครงการ ผักอินทรีย์แก้จน และภูมิใจในตัวเองที่จะตั้งใจปลูกผักอย่างดีที่สุด โดยจะไม่กู้ยืมเงินมาทำ ไม่กลับไปเป็นหนี้เหมือนเก่า ภูมิใจที่ลุกยืนขึ้นมาได้ด้วยตนเอง”

“ดังนั้น สุดท้าย การต่อสู้เอาชนะความยากจน ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ นอกเหนือจาก การล้อคเป้าครัวยากจนที่แม่นยำ เพื่อส่งความช่วยเหลือไปได้อย่างตรงจุด ความช่วยเหลือที่เป็นความร่วมมือแบบูรณาการของทุกภาคส่วน แล้ว Key Success ที่สำคัญที่สุด คือ คน ถ้าชาวบ้าน ชาวชุมชน ไม่ลุกขึ้นมายืนด้วยลำแข้งตนเอง ทำด้วยตนเอง และปรับแนวคิดเพื่อให้มีความเฉลียวฉลาดในการวางแผนใช้เงิน ก็ไม่มีทางที่จะหายจนได้แบบทุกวันนี้”

ผนึกกำลังเครือข่ายภาควิชาการ + ศาสนา ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ โมเดล ผักอินทรีย์แก้จน ชุมชนยะวึก

ดังที่กล่าวข้างต้นว่าความสำเร็จในการสู้เอาชนะความจนของชุมชนยะวึก มีผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จหลายภาคส่วน ซึ่งในวันนี้เราขอกล่าวถึง 2 ภาคส่วนสำคัญ นั่นคือ ภาควิชาการ และ ศาสนา

ผศ.ดร.นิศานาถ แก้ววินัด หัวหน้าชุดโครงการวิจัยการบริหารจัดการเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า

“ชุดโครงการวิจัยนี้มุ่งใช้พลังความรู้จากงานวิจัย เชื่อมโยงกับพลังภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ซึ่งมีทั้งบ้าน-วัด-โรงเรียน-องค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการกระตุ้นให้คนจนลุกขึ้นต่อสู้เอาชนะความยากจนด้วยตัวเองตามหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าด้วยการระเบิดจากข้างใน โดยมีกลุ่มครัวเรือนคนจนเป้าหมายในตำบลยะวึก อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์เป็นกลุ่มตัวอย่างในโครงการวิจัย”

“กระบวนการคัดเลือกครัวเรือนคนจนเข้าร่วม โครงการวิจัยจะสังเคราะห์ข้อมูลครัวเรือนคนจนจากฐานข้อมูล 3 แหล่งคือ TPMAP, PPPCONNEXT และ SURIN POVERTY DATA BASE แล้วคัดกรองเพิ่มเติมร่วมกับคณาจารย์โรงเรียนบ้านยะลึกและคณะสงฆ์ตำบลยะวึก รวมทั้งอาสาสมัครองค์กรปกครองท้องถิ่น เพื่อเฟ้นหากลุ่มครัวเรือนคนจนที่ต้องพึ่งพาเงินกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในการให้บุตรหลานได้มีโอกาสรับการศึกษา เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นครัวเรือนยากจนของจริง”

“และกลุ่มครัวเรือนคนจนที่ผ่านกระบวนการคัดเลือก จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในโครงการผักอินทรีย์แก้จน บนพื้นที่ของโรงเรียนบ้านยะวึก เพื่อรับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการทำแปลงปลูกผักแบบเกษตรปราณีต ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดิน หมักดิน ทำปุ๋ยคอก ทำน้ำหมักชีวภาพ ทำสารชีวภัณฑ์ การเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และการจัดการแปลง”

ผศ.ดร.นิศานาถ ยังได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าครัวเรือนยากจนในโครงการนี้ มีความทรหดอดทน และไม่ท้อแท้ท้อถอย แม้ต้องเผชิญทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ดินเค็ม แต่ก็อดทนต่อสู้ฟันฝ่ามาได้ ด้วยกำลังใจจากคณะสงฆ์นำโดยพระพรหมโมลี อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 และพระระราชวิมลโมสี เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากภาคีในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศบาลตำบลยะวึก

จนกระทั่งในวันนี้ ผศ.ดร.นิศานาถ เน้นย้ำถึงผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจว่า

“ในวันนี้ จากครัวเรือนยากจนกลุ่มเป้าหมาย 50 ครัวเรือน มีรายได้เฉลี่ยปีละ 36,000 บาท มีค่าใช้จ่ายลดลงปีละ 18,000 บาท ขณะเดียวกันกองทุนชุมชน ที่ครัวเรือนยากจนร่วมกันแบ่งปันเงินที่ได้รับมอบจากพระพรหมโมลี มาจัดตั้งขึ้นก็ขยายขนาดเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 24,000 บาท ด้วยเงินสมทบบำรุงแปลงผัก ตามสัญญาประชาคม ที่ครัวเรือนยากจนพร้อมใจกันจ่ายในอัตราแปลงละ 10 บาทต่อเดือน”

และอีกหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ ชุมชนยะวึก เป็นต้นแบบชุมชนที่สามารถสู้เอาชนะความยากจนได้ นั่นคือ พระสงฆ์ ที่มีส่วนในการบำบัดฟื้นฟู ชุบชูหัวจิตหัวใจของชาวชุมชนยะวึก จากหัวใจที่แฟ่บให้ฟูขึ้นมา และมีกำลังใจในการต่อสู้เพื่อชีวิตที่ดีขึ้น นำโดย พระพรหมโมลี อดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 11 และพระราชวิมลโมลี เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ซึ่งบนเวทีนี้ พระครูปริยัติกิจธำรง และ พระครูปลัดสุวัฒนอุดมคุณ รองเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ได้แชร์มุมมองในเรื่องของการยกระดับจิตใจสร้างขวัญกำลังใจร่วมกับโครงการปลูก ผักอินทรีย์แก้จน ว่า

“พระพุทธศาสนามีหลักคำสอนสำคัญ คือ ความมีเมตตา ที่ไม่ได้หมายถึงแค่ การมีเมตตากับคนอื่น แต่เราต้องมีความเมตตาแก่ตนเอง เพื่อสร้างกำลังใจและความศรัทธาในหัวใจให้กับทุกคน ซึ่งจะค่อยๆ ทำให้จิตใจเราเข้มแข็ง ยอมรับและเข้าใจสังคม แม้จะมีคนตราหน้าเราว่า “คนจนมาแล้ว” ก็ต้องปล่อยวางและมองผ่าน พร้อมลุกขึ้นมาต่อสู้ ลงมือทำ บอกตัวเองว่าถึงจะเป็นคนจน แต่เราเป็นคนจนที่ยิ่งใหญ่ เรามีจิตใจที่อยากทำเพื่อส่วนร่วม มีจิตอาสา มีแนวคิดในการดำเนินชีวิตว่า “ถึงตัวจะจน แต่ไม่จนใจ” เพียงแค่นี้ อาตมาเชื่อว่าทุกคนก็สามารถสู้เอาชนะความจนได้ถ้วนทั่วทุกคนแล้ว”

ทิ้ง “ความยากจน” เป็นอดีต พร้อมส่งต่อความสำเร็จของการแก้จน สู่ทุกชุมชนทั่วไทย

รามาวดี อินอุไร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผักอินทรีย์แก้จน ชุมชนยะวึก ได้ถ่ายทอดความรู้สึกจากใจและความตั้งใจต่อไปกับการอยากเป็น “พลังเล็ก” ที่ช่วยส่งต่อความสำเร็จของการหลุดพ้นจากความยากจนให้กับทุกชุมชนทั่วไทยว่า

“เราได้ร่วมโครงการวิจัยของ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในชุมชนยะวึก ตั้งแต่ปี 2564 และระหว่างทางก่อนมาถึงวันนี้ที่ชาวชุมชนยะวึกได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พออยู่พอกิน เราต้องผ่านทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นจากวิกฤตโควิด ปัญหาน้ำท่วม และเมื่อย้ายไปทำการเกษตรในพื้นที่ใหม่ ก็ต้องไปสู่กับปัญหาดินเป็นกรวด ดินเค็ม และปัญหาการขาดแคลนน้ำทำการเกษตร แต่ทุกปัญหาก็คลี่คลายไปในทางดีขึ้น เมื่อทาง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ได้เข้ามาทำโครงการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาความยากจนซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากทาง บพท. กับทางชุมชน”

“โดยที่ผ่านมา เมื่อมีทีมอาจารย์เข้ามานำเสนอให้เราปลูก ผักอินทรีย์แก้จน ชาวบ้านยะวึก ก็มาร่วมโครงการนี้ด้วยใจ เพราะเรารู้ดีว่าเราเป็นคนจน เราเลยมีความตั้งใจที่จะทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเล็กๆของเรานี้ช่วยเหลือตัวเองได้ และเมื่อเราเข้มแข็ง เราก็อยากเป็นพลังเล็กๆเพื่อช่วยเหลือสังคมต่อไป โดยเราได้รับกำลังใจและหลักคิดดีๆทั้งจากคณะสงฆ์ หน่วยงานราชการ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และที่พวกเราสู้จนสำเร็จในวันนี้ เพราะเราอยากหลุดพ้นจากความยากจน มีชีวิตที่ดี และอยากให้ทุกคน ทุกภาคส่วนที่สู้เพื่อพวกเราได้ภูมิใจ”

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2024/11/24/surin-stop-poverty-lesson-learn/