การได้อยู่ท่ามกลางของธรรมชาติ ทำให้ตระหนักถึงความจริงที่มักถูกลืมไปว่า เราคือธรรมชาติและธรรมชาติก็คือเรา ประสบการณ์การอาบป่า shinrin-yoku ไม่ใช่แค่การเดินเล่นท่ามกลางต้นไม้ ไม่ใช่การเพลิดเพลินกับความสวยงามของสีเขียวอันสดใสในใบไม้ต่างๆ แต่เป็นการสะท้อนคิดและการฝึกฝน เพื่อทำความเข้าใจ “ความสัมพันธ์ของมนุษย์กับระบบนิเวศ” ทุกย่างก้าวบนพื้นป่าและทุกลมหายใจที่สูดอากาศบริสุทธิ์ ทำให้รู้สึกถึงความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ ในฐานะองค์ประกอบเล็กๆ ของธรรมชาติ
ความเชื่อมโยงนี้เป็นหัวใจสำคัญของการคิดใหม่เกี่ยวกับนโยบาย ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ระบบที่เราสร้างขึ้นไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือการเมือง ก็ควรสะท้อนความสัมพันธ์นี้
นโยบายในอนาคตไม่ควรมองธรรมชาติเป็นเพียงทรัพยากรที่ต้องจัดการ แต่ควรปรับตัวให้สอดคล้องกับจังหวะชีวิตและวัฏจักรของโลกธรรมชาติ สร้างความสมดุล แทนที่จะพยายามควบคุม จากมุมมองของมนุษย์ให้เป็นในแนวทางที่มนุษย์ต้องการโดยไม่คำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เรามองเห็นและไม่เห็น
แนวคิดการมองความยั่งยืนแบบเดิม มักให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาแบบเส้นตรง หรือการรักษาสภาพที่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่วิธีคิดนี้มาจากรากฐานในกรอบนโยบายที่เน้นตัวเลข เป้าหมายและการพัฒนาแบบเส้นตรง ที่มุ่งสู่ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ แต่ถ้าเรามองความยั่งยืนผ่านเลนส์ของธรรมชาติและจิตวิญญาณ “ความยั่งยืน” ไม่ได้หมายถึง การคงสภาพเดิมหรือการเติบโตอย่างไม่สิ้นสุด แต่เป็นการปรับตัว การเปลี่ยนแปลง และการฟื้นตัว
ความเป็นจริงของธรรมชาติไม่ได้มีเพียงมิติเดียว แต่มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา “ความยั่งยืน” ในกรอบนโยบายควรสะท้อนถึงความซับซ้อนนี้ เช่นเดียวกับธรรมชาติที่ไม่ได้เติบโตเป็นเส้นตรง แต่หมุนเวียนผ่านการเกิด การเติบโต การเสื่อมสลาย ก่อนที่จะกลับมาการฟื้นฟูอีกครั้ง
นโยบายที่ยั่งยืนควรน้อมรับกลไกเชิงวัฏจักรนี้ และเตรียมพร้อมสำหรับช่วงเวลาของการหยุดพัก การปรับสมดุล และการเริ่มต้นใหม่ แทนที่จะต้านทานการเปลี่ยนแปลง
ในแนวคิดเรื่องอนาคต เรามักพูดถึงรูปแบบของการเปลี่ยนแปลง 4 รูปแบบ คือ แบบเส้นตรง วัฏจักร แบบเกลียว และลูกตุ้มน้ำหนัก
วิธีที่เราจินตนาการถึงอนาคตจะมีผลโดยตรงต่อวิธีการออกแบบนโยบาย นโยบายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติควรก้าวข้ามกรอบคิดที่เน้นความก้าวหน้าแบบเส้นตรง และโอบรับความเป็นวัฏจักร
เช่นเดียวกับที่ป่าไม้มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล นโยบายควรเตรียมพร้อมสำหรับช่วงเวลาแห่งการพักฟื้นและการเริ่มต้นใหม่ เช่น การออกแบบนโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุนการหยุดพักชั่วคราวเพื่อลดการใช้ทรัพยากร หรือการสร้างนโยบายสังคมที่ให้ชุมชนมีพื้นที่ในการฟื้นตัวในช่วงเวลาวิกฤติ
Jonathan Rowson นักคิดด้านปรัชญา จิตวิทยา และนโยบายสาธารณะ ได้ตั้งคำถามว่าจิตวิญญาณสามารถช่วยให้เราได้ข้อมูลในเชิงนโยบายได้หรือไม่
การเชื่อมโยงแนวคิดเชิงจิตวิญญาณกับการออกนโยบายที่นำไปใช้ได้จริงจำเป็นต้องเชื่อมโยงกับ “ระบบนิเวศนโยบาย” ซึ่งรวมถึงคน วัฒนธรรม และโครงสร้าง และคำนึงถึงความเข้าใจของปรากฏการณ์ทางสังคม ซึ่งมนุษย์อยู่ภายใต้โครงสร้างและเงื่อนไขของการดำรงชีวิตในสังคม
ในแง่นี้ จิตวิญญาณไม่ได้เป็นแค่แนวคิดเชิงปรัชญา แต่เป็นแรงผลักดันที่ทำให้ผู้คนเห็นคุณค่าและความเชื่อมโยงกันในสังคม ซึ่ง Andrew Samuels ได้ใช้คำว่า “Social Spirituality” หรือจิตวิญญาณทางสังคม ซึ่งคือการสร้างเป้าหมายร่วมกันและความรับผิดชอบร่วมกันในการดำเนินชีวิต
การออกแบบนโยบายในอนาคตจึงควรชวนให้พวกเราถามคำถามเชิงลึกขึ้นกว่าเดิมว่า เราให้ความสำคัญกับอะไร? เราฟังเสียงของใคร? เราได้สร้างเงื่อนไขให้มนุษย์สามารถเติบโตทางจิตวิญญาณหรือไม่? และการตัดสินใจของเราสะท้อนถึงความเชื่อมโยงระหว่างเรากับธรรมชาติและกันและกันหรือไม่?
ท่ามกลางวิกฤติสภาพภูมิอากาศ การรวมมิติด้านจิตวิญญาณและอนาคตศึกษามาเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบนโยบายไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป
แต่กลายเป็นสิ่งจำเป็น ความยั่งยืนเริ่มต้นจากการตระหนักถึงตำแหน่ง จุดยืน ฐานะของเราในธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายและมีประสิทธิผล ต้องมาจากการคำนึงถึงการจัดการ โครงสร้าง วัฒนธรรมและสังคมเชิงลึก รวมถึงจินตนาการถึงความยั่งยืนในมุมมองของความเป็นจริงในธรรมชาติที่เห็นได้จากวัฏจักรและการหมุนเวียน
การออกนโยบายที่ยั่งยืนเพื่ออนาคตจึงมาพร้อมความอ่อนน้อมถ่อมตน การใคร่ครวญ และความเคารพต่อเครือข่ายระบบนิเวศที่เชื่อมโยงทุกชีวิตบนโลกใบนี้ การออกแบบนโยบายแบบนี้ไม่เพียงช่วยสร้างอนาคตที่ยั่งยืน แต่ยังสร้างอนาคตที่เปี่ยมไปด้วยความหมายและความสมดุลระยะยาว
Mathew Taylor นักคิดและนักนโยบายสาธารณะชาวอังกฤษ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง Chief Executive ของ Royal Society of Arts (RSA) และเป็นที่ปรึกษาด้านนโยบายของรัฐบาลสหราชอาณาจักร มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนแนวคิด “การออกแบบนโยบายที่ขับเคลื่อนด้วยปัญญาและการไตร่ตรอง” (Reflective Policymaking)
ซึ่งหมายถึง การใคร่ครวญที่จะสะท้อนถึงเป้าหมายสูงสุดของความเป็นมนุษย์ การตั้งคำถามกับกรอบความคิดเดิมที่ครอบงำเราอยู่และการปลูกฝังสติและการตระหนักรู้ในกระบวนการตัดสินใจ รวมไปถึงการมองภาพใหญ่กว่ามิติการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่คำนึงถึงมิติทางอารมณ์ จิตวิทยา และศีลธรรมของสังคมด้วย
ในวิกฤติสภาพภูมิอากาศ การปรับนโยบายให้สอดคล้องกับจังหวะของธรรมชาติและภูมิปัญญาเชิงจิตวิญญาณ เป็นแสงสว่างแห่งความหวัง ที่เราจะสามารถร่วมกันสร้างระบบที่ดูแลทั้งผู้คน สิ่งมีชีวิตที่เรามองเห็นและมองไม่เห็น ในระบบนิเวศของโลกใบนี้ให้ดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน
แหล่งข้อมูล