Aluminium Loop ขับเคลื่อนความยั่งยืนเต็มรูปแบบ ด้วยนวัตกรรมการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมแบบวงจรปิด (Closed Loop) ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ครบจบในที่เดียว
ในยุคที่ เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรับมือกับปัญหาและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก Aluminium Loop ได้เข้ามาปฏิวัติวงจรการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมในประเทศไทย ด้วยการพัฒนาระบบรีไซเคิลกระป๋องและขวดอะลูมิเนียมแบบวงจรปิด (Closed Loop) ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทำให้การ รีไซเคิล เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ง่ายและสามารถทำได้อย่างไม่รู้จบภายในประเทศ โดยที่คุณภาพของบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมรีไซเคิลยังคงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ถือเป็นระบบที่สามารถสร้างความยั่งยืนได้อย่างไร้ขีดจำกัด
กระบวนการของ Aluminium Loop จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันก็ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นไปที่การลด ปัญหาขยะ หลังการบริโภคได้อย่างมหาศาล ผ่านการนำวัสดุกลับมารีไซเคิล รวมถึงลดการใช้ทรัพยากรใหม่ด้วยการใช้ทรัพยากรเดิมหมุนเวียน Aluminium Loop จึงเป็นผู้ริเริ่มและขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมที่ช่วยเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทาน และสนับสนุนสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
วิสัยทัศน์เพื่อความยั่งยืนของ Aluminium Loop
Aluminium Loop ก่อตั้งโดย ภวินท์ ชยาวิวัฒน์กุล ซึ่งมีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียม จากการดำรงตำแหน่ง รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์องค์กร บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด หรือ TBC ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมแนวหน้าของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้ “ภวินท์” เข้าใจถึงโครงสร้างพื้นฐานของอุตสาหกรรมนี้ ประกอบกับความมุ่งมั่นและการให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนที่กำลังเป็นมาตรฐานการดำเนินธุรกิจของโลกยุคใหม่ จึงได้ริเริ่ม Aluminium Loop โดยมีวิสัยทัศน์ที่ต้องการให้บรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมไม่เพียงตอบโจทย์ด้านการเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกที่สามารถรีไซเคิลได้ แต่ยังพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง นำไปสู่การคิดค้นและพัฒนาระบบรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมแบบครบวงจร ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นโมเดลที่ก้าวล้ำที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
รู้จักระบบการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมในประเทศไทย
Aluminium Loop มีกระบวนการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมภายในประเทศอย่างครบวงจร ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพที่โดดเด่น เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้ออำนวยสำหรับการรีไซเคิลแบบ Closed Loop โดยปัจจุบันมีเพียง 4 ประเทศในเอเชียที่สามารถดำเนินระบบรีไซเคิลอะลูมิเนียมภายในประเทศได้ นั่นจึงทำให้ “ความร่วมมือ” เป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนให้ Aluminium Loop มุ่งไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการสร้างสรรค์ ขับเคลื่อน และขยายวงจรการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมที่ยั่งยืนที่สุดในโลก ภายใต้ความร่วมมือกับพันธมิตรรายสำคัญ ดังนี้
ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ บริษัท ไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด (TBC) ดำเนินงานในฐานะโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยมีกำลังการผลิตสูงถึง 5,000 ล้านกระป๋องต่อปี และมีแผนที่จะเพิ่มเป็นมากกว่า 7,000 ล้านกระป๋อง ภายใน 2 ปีข้างหน้า ด้วยประสบการณ์การดำเนินงานกว่า 30 ปี โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยจากความร่วมมือกับ Ball Corporation ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมระดับโลก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ผู้เก็บรวบรวม ระบบการเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมใช้แล้วในประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับผู้เก็บขยะได้เป็นอย่างดี ด้วยคุณค่าของตัววัสดุที่มีมูลค่ารับซื้อค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับบรรจุภัณฑ์อื่น ๆ ทำให้มีประสิทธิภาพในการเก็บรวบรวมสูง จนก่อเกิดเป็นวัฒนธรรมการรีไซเคิลที่แข็งแกร่ง โดย Aluminium Loop ได้ผสานความร่วมมือกับ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ รีไซเคิล จำกัด (TBR) ผู้คัดแยกและเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วรายใหญ่ของประเทศ
ผู้รีไซเคิล บริษัท แองโกล เอเซีย เทรดดิ้ง จำกัด (Anglo Asia Trading) ได้ใช้นวัตกรรมการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมผ่านกระบวนการทำความสะอาด กำจัดสี และบด เพื่อเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมใช้แล้วให้เป็นอะลูมิเนียมรีไซเคิลอัดก้อน
ผู้ผลิตวัตถุดิบ บริษัท ยูเอซีเจ (ประเทศไทย) จำกัด (UACJ Thailand) ทำหน้าที่เปลี่ยนอะลูมิเนียมรีไซเคิลให้เป็นวัตถุดิบอะลูมิเนียมใหม่ โดยผ่านขั้นตอนการหลอม ขึ้นรูปเป็นแท่ง รีดเป็นแผ่น และจัดส่งในรูปแบบม้วนอะลูมิเนียม (Aluminium Coil) เพื่อนำไปใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต่อไป
กระบวนการทั้งหมดนี้ของ Aluminium Loop สามารถทำได้ภายในรัศมี 400 กิโลเมตร ซึ่งเป็นหนึ่งในระยะทางที่สั้นที่สุดในโลก ส่งผลต่อการลดการปล่อยมลพิษจากการขนส่ง และทำให้การดำเนินงานตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทานมีความสะดวกและแข็งแกร่ง โดยการผลิตบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมใหม่จากวัสดุอะลูมิเนียมรีไซเคิลนอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนด้านการเงิน เวลา และทรัพยากร ยังส่งเสริมความยั่งยืนให้สามารถเกิดขึ้นจริงอีกด้วย
การรีไซเคิลแบบ Closed Loop ดีอย่างไร?
การรีไซเคิลแบบวงจรปิด หรือ Closed Loop เป็นระบบที่มุ่งเน้นการรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ให้หมุนเวียนกลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดเดิมที่พร้อมใช้งานใหม่ ซึ่งบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมสามารถรีไซเคิลเป็นบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมใหม่ได้ครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยคุณสมบัติของอะลูมิเนียมที่สามารถหลอมเป็นวัตถุดิบตั้งต้นได้ใหม่โดยไม่สูญเสียคุณภาพ ทั้งยังไม่ต้องปรับเปลี่ยนส่วนประกอบของวัสดุใหม่ ช่วยลดการใช้ทรัพยากร ลดการใช้พลังงานในการผลิตลงกว่า 95% นำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมหาศาล ก่อเกิดเป็นวงจรการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยั่งยืนอย่างแท้จริง
แตกต่างจากการรีไซเคิลแบบวงจรเปิด หรือ Open Loop ที่เปลี่ยนวัตถุประสงค์ของวัสดุจากผลิตภัณฑ์เดิมก่อนการรีไซเคิลไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น จากกระป๋องอะลูมิเนียมไปเป็นชิ้นส่วนรถยนต์ หรือเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งถึงแม้จะช่วยต่ออายุ ให้วัสดุอะลูมิเนียม แต่ต้องเพิ่มการใช้ทรัพยากรใหม่และใช้พลังงานในการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน จึงอาจเป็นการตัดวงจรความยั่งยืนของระบบการรีไซเคิลที่ Aluminium Loop ให้ความสำคัญ และต้องการผลักดันให้ผู้บริโภคเข้าใจถึงกระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง โดยการรีไซเคิลแบบวงจรปิด คือมาตรฐานสูงสุดที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล และเป็นวงจรที่สมบูรณ์แบบที่สุดในโลก
ความท้าทายและเป้าหมายในอนาคตของ Aluminium Loop
แม้จะประสบความสำเร็จในการยกระดับการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมในประเทศไทย โดยตลอดโครงการจนถึงปัจจุบันได้เก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมกลับมารีไซเคิลมากกว่า 1,000 ล้านใบ Aluminium Loop ยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอื่น ๆ ทั้งในด้านต้นทุนที่ต้องกระตุ้นให้ผู้บริโภคยอมรับบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมในฐานะบรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่ยั่งยืน แม้ว่าจะมีต้นทุนที่สูงกว่าบรรจุภัณฑ์อื่นๆ ก็ตาม รวมถึงการสื่อสารถึงระบบการรีไซเคิลแบบวงจรปิดให้สามารถเข้าใจได้ง่ายและชัดเจนว่าดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างไร เพื่อทำให้เกิดความตระหนักรู้และความเข้าใจของผู้บริโภคในวงกว้าง รวมถึงป้องกันความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการอ้างถึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเกินจริง (Greenwashing)
ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญของ Aluminium Loop คือการขยายปริมาณการเก็บกลับบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมใช้แล้วในปีนี้ให้ได้ 800 ล้านใบ และขยายจนครอบคลุมปริมาณการใช้งานบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมทั้งหมดในประเทศไทยให้มาเข้าร่วมระบบรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนของ Aluminium Loop ควบคู่กับการมุ่งมั่นพัฒนาให้บรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมมีความยั่งยืนครอบคลุมหลายมิติมากขึ้น โดยมีแผนจะเปิดตัวโครงการ Aluminium Solar ภายในปีนี้ ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในกระบวนผลิต และยังตั้งเป้าผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมที่สามารถปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในอนาคต ซึ่งจะยิ่งส่งเสริมให้พันธมิตรของ Aluminium Loop เพิ่มการใช้พลังงานทดแทน รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดทั้งกระบวนการ
การสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อรักษาและผลักดันการรีไซเคิลอย่างยั่งยืน
นอกจากความร่วมมือจากพันธมิตรแล้ว ยังเห็นถึงความจำเป็นในการได้รับแรงสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อรักษาความพยายามในการสร้างระบบที่ยั่งยืนของ Aluminium Loop สำหรับบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียมในประเทศไทย ทั้งการสนับสนุนด้านการวิจัยเกี่ยวกับระบบรีไซเคิลและความยั่งยืน รวมถึงการออกมาตรการและนโยบายที่สนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดความเข้าใจและการเปรียบเทียบระหว่างบรรจุภัณฑ์และระบบการรีไซเคิลต่างๆ ได้อย่างตรงไปตรงมา ปราศจากอคติ โดยหวังว่าการสนับสนุนนี้จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือในการสื่อสารถึงข้อดีของบรรจุภัณฑ์อะลูมิเนียม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และยังผลักดันภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนคิดค้นและสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืนมากขึ้น
แหล่งข้อมูล
https://www.bangkokbiznews.com/corporate-moves/environment/1166089