การเกิดขึ้นของโครงการคอมพิวเตอร์มือถือสำหรับนักเรียนทุกคน (One Tablet PC Per Child) ในปี พ.ศ. 2554 ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของแวดวงการศึกษาไทย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากพิจารณาถึง “แผนปฏิบัติการด้านดิจิทัลเพื่อการศึกษา (พ.ศ. 2566 – 2570)” เราจะสัมผัสได้ถึงความพยายามของหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลนโยบายด้านการศึกษาของประเทศซึ่งเล็งเห็นความจำเป็นของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามาพัฒนาการจัดการศึกษาผ่านโครงการนำร่องมากมาย สอดคล้องกับนโยบายด้านดิจิทัลเพื่อการศึกษาในต่างประเทศ อาทิ การส่งเสริมให้ผู้สอน บุคลากรทางการศึกษา และสถานศึกษา พัฒนาและใช้สื่ออิเล็คทรอนิกส์ (e-Contents) เพื่อการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตามมาตรฐานที่กำหนด ทั้ง e-Book, e-Library, Courseware, LMS (Learning Management System) รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์สื่ออิเล็คทรอนิกส์ (e-Content Center) และการพัฒนาระบบการเรียนรู้ด้วย ICT (e-Learning System) ในรูปแบบที่หลากหลาย รวมถึงการจัดให้มีระบบคอมพิวเตอร์และชุดอุปกรณ์เพื่อการเรียนการสอน เพื่อการจัดสร้าง Virtual University, Virtual Classroom และ Virtual Laboratory ชุดอุปกรณ์เพื่อการจัดทำ Distance Learning และการจัดการศึกษาในรูปแบบอื่นที่เหมาะสมกับการจัดการเรียนการสอนในแต่ละระดับ รวมทั้งเร่งพัฒนาซอฟแวร์เพื่อการให้บริการ (Front Office) ตามภารกิจของหน่วยงานในทุกระดับ เช่น Smart Card, e-Registration, e-Counseling, e-Testing, e-Loan, e-Academy, e-Platform, Classroom without walls, Outdoor education และการพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้และการฝึกอบรมให้ครอบคลุมผู้เรียนทุกระดับอย่างทั่วถึง (Appropriate Curriculum) ทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า e-Education
e-Education คือการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดการศึกษาทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่กระบวนการสรรหาบุคลากรของสถาบันการศึกษา กระบวนการรับนิสิต งานทะเบียนและวัดผล งานหลักสูตรและการสอน งานห้องสมุด งานแนะแนว งานวิจัยและพัฒนา งานกิจการนักศึกษา การจัดการความรู้ ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหารสถานศึกษา งานอาคารสถานที่ งานสวัสดิการและสิ่งอำนวยความสะดวก ฯลฯ
ในปัจจุบัน คำว่า e-Education เพิ่งเริ่มเป็นที่รู้จักแพร่หลาย แม้ว่าหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลนโยบายด้านการศึกษาของประเทศไทยจะยังไม่ประกาศยุทธศาสตร์การสร้าง e-Education ขึ้นอย่างเป็นทางการ อาจเพราะยังไม่มีการสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับ e-Education จากผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาภายในประเทศที่ชัดเจนนัก
ปรากฏการณ์นี้มิใช่เรื่องแปลก เนื่องจากในวงวิชาการด้านการศึกษาระดับสากลเองก็มีข้อมูลอ้างอิงเกี่ยวกับ e-Education ค่อนข้างจำกัดเช่นกัน เห็นได้จากการที่มีบทความวิชาการและงานวิจัยเพียงไม่กี่ชิ้นซึ่งทำการศึกษาประเด็น e-Education อย่างเป็นทางการ
กระนั้นก็ดี ยังมีงานวิจัยเกี่ยวกับ e-Education ที่น่าสนใจหยิบยกมาพูดถึงเพื่อเป็นแนวทางการจัดการศึกษาของไทย โดยเฉพาะงานวิจัยเรื่อง The Paradigms of e-Education ของ Jyrki Pulkkinen, Finland และงานวิจัยเรื่อง A conceptual framework for implementing e-education ของ Hemduth Rugbeer, South Africa
งานวิจัยของ Jyrki Pulkkinen เรื่อง The Paradigms of e-Education ได้ชี้ประเด็นสำคัญ 2 ประการเกี่ยวกับอนาคตภาพของ e-Education
ประการแรกก็คือ e-Education ในฐานะแนวโน้มจำเป็นสำหรับการจัดการศึกษาในอนาคตอันใกล้นี้ และประเด็นที่ 2 ซึ่งสำคัญมากก็คือ ความท้าทายของนักวิชาการทางด้านการศึกษาที่จะหลอมรวมการวิจัยทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารให้เข้ากับทฤษฎีทางด้านการบริหารการศึกษา
งานวิจัยของ Jyrki Pulkkinen ชี้ให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของแวดวงการศึกษาในอนาคต ยุคที่โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการจัดการศึกษาล้วนพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแบบ 100%
ส่วนงานวิจัยของ Hemduth Rugbeer เรื่อง A conceptual framework for implementing e-education นั้น ได้นำเสนอประเด็นคล้ายกับงานวิจัยของ Jyrki Pulkkinen หากแต่ Hemduth Rugbeer ได้เน้นไปที่ตัวเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารค่อนข้างมากกว่าของ Jyrki Pulkkinen
อาจเป็นเพราะว่า Hemduth Rugbeer เป็นนักวิจัยจากประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งขาดแคลนเครื่องไม้เครื่องมือในการจัดการศึกษา Hemduth Rugbeer จึงไม่เน้นไปที่ตัวระบบการศึกษาเหมือน Jyrki Pulkkinen ซึ่งเป็นนักวิจัยจากประเทศฟินแลนด์ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อมกว่า
อย่างไรก็ดี ประเด็นหนึ่งซึ่งน่าสนใจที่ Hemduth Rugbeer ได้นำเสนอไว้ก็คือ การจัดให้ e-Education เป็นหน้าที่หลักของผู้บริหารสถานศึกษา Hemduth Rugbeer มองว่าผู้บริหารสถานศึกษาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการนำ e-Education มาใช้ หากว่าผู้บริหารสถานศึกษาไม่มีภาวะผู้นำในเรื่องการสนับสนุนให้มี e-Education แล้ว การจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพก็ไม่อาจเดินหน้าไปได้ในอนาคตอย่างแน่นอน
เมื่อนำกรณีศึกษาจากงานวิจัยทั้ง 2 ชิ้นดังกล่าวมาใช้เสมือนเป็นแนวทางการจัดการศึกษาของไทย ในแง่ของการนำ e-Education มาใช้ในการจัดการศึกษา ผมขอนำเสนอกระบวนทัศน์การใช้ e-Education ในระบบการจัดการศึกษาในอนาคต ดังต่อไปนี้
1.ขณะนี้ในประเทศไทย แม้หลายฝ่ายจะมองว่า การใช้ e-Education ในระบบการจัดการศึกษานั้น ยังเป็นเรื่องใหม่ หรือ “เป็นเรื่องของอนาคต” ทว่า เมื่อพิจารณาในบริบทของสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมทางด้านการจัดการศึกษา โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาประยุกต์ใช้กับการจัดการศึกษา เช่น สถาบันอุดมศึกษาเอกชนบางแห่ง หรือมหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่ง ก็จะเห็นทิศทางการนำ e-Education มาใช้กับระบบการจัดการศึกษาบ้างแล้ว กระนั้นก็ดี ในปัจจุบันก็ยังไม่มีสถาบันใดกล่าวอ้างว่าสถาบันการศึกษาของตนใช้ e-Education อย่างเต็มรูปแบบแต่อย่างใด
เหตุดังนั้น หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลนโยบายด้านการศึกษาของประเทศ จึงจำเป็นต้องเร่งผลักดันให้เกิดการนำ e-Education มาใช้ในระบบการจัดการศึกษา โดยผนึกรวมเอาโครงการคอมพิวเตอร์มือถือสำหรับนักเรียนทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของแผนดังกล่าวด้วย
2.กล่าวสำหรับนโยบาย Anywhere Anytime “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” โครงการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ ทุกเวลา หรือ Anywhere Anytime งบประมาณ ระยะที่ 2 ปี งบฯ ผูกพันตั้งแต่ปี 2569-2573 จำนวน 29,765,253,600 บาท แจกอุปกรณ์เสริมการสอนของนักเรียนและครู ไม่ว่าจะเป็นแท็บเล็ต โครมบุ๊ก โน้ตบุ๊ก หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ในรูปแบบเช่าใช้งาน พร้อมสัญญานอินเตอร์เน็ตคุณภาพสูง
โดยในปี 2568 ได้ขอจัดสรรเครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวให้แก่นักเรียน จำนวนกว่า 6 แสนคน ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ในกลุ่มโรงเรียนคุณภาพชุมชนและโรงเรียนขยายโอกาส
ส่วนปี 2569 ได้ขอจัดสรรงบประมาณไปจำนวน 2.9 หมื่นล้านบาท สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่เหลือทั้งหมด ประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งในงบประมาณของปี 2569 จะขยายผลไปยังนักเรียนชั้นมัธยมต้นในโรงเรียนคุณภาพ คาดว่า จะมีเด็กและครูได้รับอุปกรณ์เสริมการเรียนการสอนรวมกว่า 1.8 ล้านคน ถือเป็นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพการศึกษาไทยที่จะได้เห็นภาพอย่างชัดเจน
นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ดำเนินโครงการส่งเสริมการเรียนรู้อาชีวศึกษาทุกที่ทุกเวลา งบประมาณ 3,302 ล้านบาท ประกอบด้วย โครงการจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนเพื่อส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ทุกที่ทุกเวลา 3,212 ล้านบาท สำหรับแจกให้ครูและนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) 1-3 จำนวน 159,332 ราย
และโครงการผลิตสื่อวีดิทัศน์ หรือสื่อโทรทัศน์เพื่อการศึกษาอาชีวศึกษา 90,000 บาท โดยอนุมัติก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ระยะเวลา 4 ปี (ปีงบประมาณ 2569-2572) เพื่อดำเนินโครงการเช่นกัน
ต่อประเด็นดังกล่าว ผมคิดว่า การริเริ่มนโยบาย Anywhere Anytime “เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา” ถือเป็นแนวความคิดที่ดีในกรณีของโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีการศึกษา นั่นก็คือ เป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบและกลวิธีการสอนบูรณาการเข้ากับการเรียนรู้ผ่านระบบสารสนเทศและการสื่อสารแบบพลิกโฉมหน้าระบบการจัดการศึกษาของประเทศไทยเอาเลยทีเดียว
ซึ่งในจุดนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี หากเรามองไปที่กระบวนทัศน์การใช้ e-Education ในระบบการจัดการศึกษาของไทยในอนาคต ซึ่งหากมีการดำเนินการตามนโยบายเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนครบทุกระดับชั้น ก็เท่ากับว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ระบบการจัดการศึกษาของไทยจะก้าวไปสู่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาบูรณาการการจัดระบบการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเต็มที่
คงเหลือก็แต่ การวางระบบ e-Education อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต และคงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่หากว่าแนวนโยบายของรัฐบาลไทยดังกล่าว จะไปตรงกับบทสรุปจากงานวิจัยของ Jyrki Pulkkinen เรื่อง The Paradigms of e-Education และงานวิจัยของ Hemduth Rugbeer เรื่อง A conceptual framework for implementing e-education เข้าอย่างจัง!
ทั้งนี้เนื่องเพราะ กระบวนทัศน์การใช้ e-Education ในระบบการจัดการศึกษากำลังเป็นแนวโน้มสำคัญสำหรับการจัดการศึกษาของโลกยุคหน้านั่นเอง
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2025/02/18/anywhere-anytime-e-education/