‘ดีอี’ ชัตดาวน์ ‘โมบาย แบงก์กิ้ง’ ชี้ 30 เม.ย.นี้ ชื่อไม่ตรงโอนไม่ได้

Share

Loading

“ประเสริฐ” คิกออฟ 1 ก.พ.นี้ เริ่มมาตรการสกัดซิมผี-บัญชีม้า เผยข้อมูลล่าสุดมีชื่อไม่ตรงซิมกว่า 30.9 ล้านเบอร์ ต้องไปแจงกับธนาคารภายใน 30 เม.ย.นี้ หากไม่ดำเนินการจะโอนไม่ได้ ระบุพบบัญชีเสี่ยงมิจฉาชีพ 2.4 ล้านเบอร์ ย้ำไม่มีการแจ้งผ่าน SMS รอแจ้งเตือนผ่านแอปฯเท่านั้น

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงดีอี เริ่มคิกออฟ มาตรการ “Mobile Banking” เร่งสกัด “บัญชีม้า” ตัดตอน “โจรออนไลน์” ว่า วันพรุ่งนี้ (1 ก.พ.2568) หากตรวจพบรายชื่อเจ้าของหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ไม่ตรงบัญชีที่ทำธุรกรรมออนไลน์ (โมบาย แบงก์กิ้ง) ประชาชนจะได้รับข้อความผ่านแอปพลิเคชันของแบงก์ เพื่อให้ประชาชนยืนยันตัวตันผ่านศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือ ภายในวันที่ 30 เม.ย. 2568

ทั้งนี้ หากไม่ดำเนินการภายในกำหนด บริการโมบาย แบงก์กิ้ง อาจถูกระงับการใช้งานโอนเงินไม่ได้ ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับข้อความแจ้งเตือน ยังไม่ต้องดำเนินการแต่อย่างใด และข้อย้ำว่าธนาคารไม่มีการแจ้งเตือนผ่าน SMS อย่างเด็ดขาด

สำหรับการ Cleaning Mobile Banking เพื่อให้ชื่อผู้ใช้งานโมบาย แบงก์กิ้ง ตรงกับชื่อเจ้าของซิมหมายเลขโทรศัพท์มือถือ โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ทั้งนี้ จากการดำเนินการตรวจสอบหมายเลขโทรศัพท์จำนวนกว่า 120 ล้านหมายเลข แล้วเสร็จเมื่อสิ้นเดือน พ.ย. 2567 และได้แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

-กลุ่มที่ 1 ลูกค้าที่ค่ายมือถือ แจ้งเป็น M (ชื่อเจ้าของซิม และ โมบาย แบงก์กิ้งตรงกัน) มีจำนวนประมาณ 75.8 ล้านหมายเลข คิดเป็น 63.02%

-กลุ่มที่ 2 ลูกค้าที่ค่ายมือถือ แจ้งเป็น N (ชื่อเจ้าของซิม และโมบาย แบงก์กิ้งไม่ตรงกัน) มีจำนวนประมาณ 30.9 ล้านหมายเลข คิดเป็น 25.68%

-กลุ่มที่ 3 ลูกค้าที่ค่ายมือถือ แจ้งกลับมาเป็น P (ไม่พบชื่อเจ้าของซิม/ไม่มีข้อมูล) มีจำนวน 13.5 ล้านหมายเลข คิดเป็น 11.29%

ในส่วนของ กลุ่ม P (ไม่พบชื่อเจ้าของซิม) กลุ่มลูกค้าที่เปิดบัญชีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 และเปิดใช้งาน โมบาย แบงก์กิ้ง ก่อนปี พ.ศ. 2566 ที่ตรวจสอบจากค่ายมือถือแล้ว แต่ไม่พบชื่อเจ้าของซิม (ดำเนินการพร้อมกัน 2.4 ล้านเลขหมาย ซึ่งเข้าข่ายเป็นแก๊งมิจฉาชีพ) อีกทั้งยังมีข้อมูลพบว่ามีผู้ต้องสงสัยบางรายใช้ชื่อจดทะเบียนเปิดบัญชีเพียงคนเดียวมีมากกว่า 400 บัญชี

โดยกรณี หมายเลขโทรศัพท์มือถือที่ใช้ลงทะเบียนกับธนาคารมีข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์ สามารถติดต่อศูนย์บริการโทรศัพท์มือถือที่ใช้บริการด้วยตนเอง เพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงดีอี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการพิจารณายกเว้น ในกลุ่มบุคคลดังต่อไปนี้

1.เบอร์มือถือที่จดทะเบียนในชื่อหน่วยงานราชการ (เช่น สำนักงานอัยการสูงสุด) หรือองค์กรที่ใช้โดยพนักงานหรือเจ้าหน้าที่ จะได้รับการพิจารณาเป็นข้อยกเว้น และไม่จำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรการนี้

2.ลูกค้าที่มีความจำเป็น หรือข้อจำกัดเฉพาะ เช่น ไม่สามารถเปลี่ยนเบอร์มือถือได้ เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมาย หรือเอกสาร สามารถยื่นคำขอยกเว้น พร้อมเอกสารประกอบแสดงเหตุผลต่อธนาคาร

3.กลุ่มบุคคลในครอบครัว เช่น พ่อ แม่ บุตร พี่น้อง ปู่ ย่า ตายาย คู่สมรส (จดทะเบียน) โดยจะต้องแสดงเอกสารความสัมพันธ์ต่อธนาคาร ได้แก่ เอกสารที่ออกโดยหน่วยงานราชการ เช่น ทะเบียนบ้าน สูติบัตร ทะเบียนสมรส เป็นต้น และเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของเบอร์โทรศัพท์ เช่น ใบกำกับภาษี ใบเสร็จ ค่าโทรศัพท์

4.นิติบุคคล ได้แก่ บริษัทเอกชน หรือนิติบุคคลตามกฎหมาย (กรณีที่ลงทะเบียนในนามนิติบุคคล และให้พนักงานในองค์กรใช้งาน) จะต้องมีเอกสารรับรองจากบริษัท ที่มีข้อความระบุชื่อ เบอร์โทรศัพท์ และอนุญาตให้ใช้เบอร์โทรศัพท์ผูกโมบาย แบงก์กิ้ง

5.ผู้ที่ต้องได้รับความดูแลตามกฎหมาย ได้แก่ ผู้ไร้ความสามารถ ผู้เสมือนไร้ความสามารถ และผู้พิการ จะต้องนำเอกสารตามคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้อนุบาล หรือเอกสารตามคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้พิทักษ์ บัตรผู้พิการ หรือเอกสารที่หน่วยงานราชการออกให้ มายื่นแสดงต่อธนาคาร

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1164686