นั่ง Time Machine ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1980 จุดเริ่มต้นสำคัญของ 4GL (Fourth-Generation Language) ที่มีการตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า การเขียนโปรแกรม นับจากนี้ จะมีการรณรงค์เรื่องการ Coding ให้น้อยลงเรื่อยๆ สำหรับการพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์
แน่นอนว่า การเขียน Code ที่น้อยลง ย่อมทำให้ระยะเวลาในการสร้างระบบงานสั้นลงตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการส่งเสริมให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ หรือประสบการณ์ด้าน Programming สามารถสร้างระบบได้ด้วยตนเอง
ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ ภายใต้แนวคิด No-Code Development Platform ที่ทุกๆ คนไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องเทคนิคด้านการเขียนโปรแกรม แต่สามารถสร้าง Web และ App ด้วยตัวเองได้
กำจัดจุดอ่อน และแก้ Pain Point ของคนที่ไม่ได้จบคอมฯ ที่ต้องการสร้าง Web และ App ของตัวเองแบบไม่ต้องไปจ้างใคร
แนวคิด No-Code จึงเกิดขึ้น เปลี่ยนมุมมอง และการปฏิบัติ จากการพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ผ่านการเขียนโปรแกรม หรือ Coding มาเป็นการใช้ Graphical User Interface (GUI) เพียงแค่ลาก “ปุ่ม” คลิก เลื่อน วาง โดยมี Template และคำสั่ง หรือ Library รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือ Plugin ต่างๆ ที่เตรียมมาไว้ให้อย่างพร้อมสรรพ
No-Code Platform จึงเป็นแนวคิดที่เป็นมิตรกับคนทำธุรกิจ มากกว่า Developer หรือโปรแกรมเมอร์ เพราะ No-Code เป็น Platform ที่ใช้งานง่าย เหมาะสำหรับทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทางกลับกัน เหล่า Developer ยิ่งชอบใจ เพราะประหยัดเวลา และแรงกายแรงใจไปได้มาก เนื่องจาก Developer มี Logic ในการเขียนโปรแกรมที่แน่นอยู่แล้ว เมื่อมาเจอเครื่องทุ่นแรงแบบนี้ยิ่งดีใจกันยกใหญ่
ในส่วนของบุคคลทั่วไปที่ไม่ได้จบคอมฯ No-Code Platform อาจต้องอาศัย “ทักษะทางศิลปะ” เป็นตัวนำมากสักหน่อย เพราะ No-Code นั้น ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับ Syntax ภาษาคอมพิวเตอร์อะไรเลย ทว่า ต้องมีทักษะด้านการปรับแต่ง User Interface (UI) หรือเลือก Layout สำเร็จรูป ให้มีรูปร่างหน้าตาที่สวยงาม และใช้งานง่ายๆ เท่านั้น
นั่ง Time Machine เดินหน้ามาในปี ค.ศ. 2014 ที่ Forrester Research ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า No-Code ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่ง ซึ่งนำมาใช้ในการพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ ที่มุ่งเน้นให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านการเขียนโปรแกรม สามารถสร้างสรรค์ Web และ App ใหม่ๆ ได้ด้วยตนเอง
ลองไปดูความเเตกต่างระหว่างการ Coding แบบเดิม กับแนวคิด No-Code และ Low-Code กันสักเล็กน้อย
การ Coding รูปแบบเก่า หรือการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ดั้งเดิม (Traditional Coding) คือการสร้างระบบโดยการเขียน Code โดยโปรแกรมเมอร์ทั้งหมด ส่วน Low-Code คือการเขียนโปรแกรมผ่าน Visual Modelling ในการสร้างระบบโดยลดการเขียน Code ลง และ No-Code คือการสร้างสรรค์ระบบงานคอมพิวเตอร์ เช่น Web และ App โดยไม่มีการเขียน Code เลยแบบ 100%
ข้อดีของ No-Code Platform
1.รวดเร็ว: สามารถสร้าง Solution หลาย Platform ในคราวเดียว ทำ Prototype ให้ Stakeholder ทดสอบได้อย่างรวดเร็ว และสมบูรณ์แบบภายในระยะเวลาอันแสนสั้น
2.ประหยัด: สามารถลดเวลาในการดำเนินโครงการ หรือ Project โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการใหญ่ๆ โดยไม่ต้องลองผิดลองถูก หรือเข้าไปในขั้นตอนของจริงต่างๆ ด้วยตัวเอง แต่ผ่าน No-Code Prototype จัดการกับไอเดียใหม่ๆ โดยไม่จำเป็นต้องรอให้โครงการสำเร็จ นอกจากประหยัดเวลาแล้ว ยังประหยัดทรัพยากรขององค์กร ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า เมื่อเทียบกับวิธีการ Coding แบบเดิม
3.ความเสี่ยงต่ำ และ ROI สูง: เนื่องจาก No-Code ได้รับการสนับสนุนด้านมาตรฐานอุตสาหกรรม จึงมีความปลอดภัยสูง และมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เราจึงสามารถมุ่งความสนใจไปที่การสร้างรายได้ของธุรกิจที่สำคัญกว่าได้ เพราะ Workflow ทั้งหมดของ No-Code ได้รับการปกป้องเป็นอย่างดีนั่นเอง
4.ประยุกต์ใช้งานง่าย: การเผชิญหน้ากับปัญหาการพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Bug ที่ No-Code Platform เปิดให้เราสามารถตั้งค่าการเปลี่ยนแปลงในเวอร์ชั่นปัจจุบัน กลับไปเป็นเวอร์ชั่นก่อนหน้าที่สเถียรกว่า ได้ด้วยการคลิกเพียงครั้งเดียว ทำให้เราแก้ไขปัญหาได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
5.การติดตั้งที่สะดวก และการ Support ในระยะยาวที่ดี: Platform LC/NC (No-Code/Low-Code) สนับสนุนวงจรการพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ (System Development Life Cycle: SDLC) ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุด แน่นอนว่า ย่อมรวมถึง DevOps และ CI/CD นอกจากนี้ API ของ LC/NC ยังช่วยประสานงานกับเครื่องมือภายนอก เพื่อสนับสนุนการบริหารโครงการ, DevOps, การทดสอบ และ CICD Pipeline อีกด้วย
ส่วนข้อเสียของ No-Code Platform
1.ข้อจำกัดระยะยาว: ยิ่งธุรกิจมีความซับซ้อนมากขึ้นจากเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ในระยะยาว การใช้ LC/NC อาจไม่ตอบโจทย์ เพราะเราไม่สามารถปรับระบบให้เหมาะกับเป้าหมายทางธุรกิจได้
2.ฟังก์ชันที่จำกัด: การใช้ LC/NC Platform จะมาพร้อมกับจำนวนฟังก์ชันที่จำกัด เนื่องจากเราได้เลือกแล้วว่า ต้องการพัฒนาระบบงานคอมพิวเตอร์ในเวลาอันรวดเร็ว ดังนั้นอาจจะต้องแลกมาด้วยฟังก์ชั่นที่จำกัดนั่นเอง โดยหากเราอยากเพิ่มเติมส่วนของ Code ที่เราต้องการจะกำหนดเอง อาจจะมีค่าใช้จ่ายที่แพงกว่าระบบที่เราสร้างเองขึ้นมาใหม่ทั้งหมด
3.ข้อจำกัดด้านความปลอดภัย: Solution แบบ LC/NC Platform แม้จะมีความปลอดภัยในตัวของมันเอง แต่ก็ยังไม่สามารถให้คำยืนยันเกี่ยวกับระดับของความปลอดภัย เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีการพัฒนาแบบ Stand Alone เนื่องจากเราจะไม่สามารถควบคุมความปลอดภัยของข้อมูล หรือการเข้าถึง Source Code ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถค้นพบช่องโหว่ในโปรแกรมได้เลย
ทั้งนี้ Gartner มีการคาดการณ์ว่า ภายในปี ค.ศ. 2024 แนวคิดการนำ No-Code มาใช้ในการพัฒนา App หรือ Web มีความเป็นไปได้สูงถึง 65% ดังนั้น การก้าวเข้าสู่ยุคทองของ No-Code ที่เราๆ ท่านๆ สามารถสร้าง Application Software และ Website ได้เองโดยที่ “ไม่ต้องเขียนโปรแกรม” คืออนาคตของการสร้างสรรค์ระบบที่เราควรให้ความสำคัญในการเรียนรู้ เพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนั่นเอง
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2025/02/07/no-code-development-platform/