- วิจัยพบ “สารเคมีตลอดกาล” ในหลอดกระดาษ ไม่แตกต่างจากหลอดพลาสติก นั่นหมายความว่าหลอดกระดาษอาจไม่ได้ปลอดภัยอย่างที่คิด
- สาร PFAS มีคุณสมบัติในการขับไล่คราบน้ำมัน น้ำ คราบสกปรก และดิน รวมถึงมีความเสถียรทางความร้อนและลดแรงเสียดทาน จึงนำมาใช้เพื่อรักษาหลอดกระดาษให้คงสภาพ
- นักวิจัยแนะนำว่าหลอดทางเลือดที่ดีที่สุดคือ “หลอดสเตนเลส” เพราะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่มีสาร PFAS อีกทางเลือกที่ดีและเป็นไปได้คือ “ไม่ใช้หลอด”
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ลงนามยกเลิกการใช้ “หลอดกระดาษ” กลับมาใช้ “หลอดพลาสติก” โดยมีผลบังคับใช้ทันที พร้อมสั่งให้หน่วยงานรัฐบาลกลางเลิกซื้อหลอดกระดาษ กำจัดหลอดกระดาษ และไม่มีการนำหลอดกระดาษมาใช้ภายในหน่วยงานรัฐอีก
ทรัมป์ต่อต้านการใช้หลอดกระดาษมาโดยตลอด เขาให้สัมภาษณ์กับนักข่าวว่า “เรากำลังกลับไปใช้หลอดพลาสติก ผมเคยใช้มันหลายครั้งแล้ว มันไม่ได้เรื่องเลย บางทีก็เปื่อยหรือแตกออก ยิ่งถ้าใช้กับของร้อน ยิ่งใช้ได้แค่ไม่กี่นาที บางทีก็ไม่กี่วินาทีด้วยซ้ำ มันเป็นเรื่องไร้สาระ”
ในช่วงหาเสียงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2020 ทรัมป์ได้จำหน่ายหลอดพลาสติกประทับตราทรัมป์ในราคา 15 ดอลลาร์สำหรับแพ็ค 10 ชิ้น เพื่อทดแทนหลอดกระดาษที่เขาเรียกว่าเป็นสัญลักษณ์ของเสรีนิยม ซึ่งแคมเปญดังกล่าวทำรายได้เกือบ 500,000 ดอลลาร์ในช่วงไม่กี่สัปดาห์แรกเท่านั้น
คำสั่งของทรัมป์ในครั้งนี้เป็นการเพิกถอนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่ระบุว่า มลพิษจากพลาสติกว่าเป็นเรื่อง “วิกฤติ” โดยในเดือนพฤศจิกายน 2024 โจ ไบเดน ประธานาธิบดีในขณะนั้นได้ประกาศกลยุทธ์ระดับชาติเพื่อป้องกันมลภาวะจากพลาสติก โดยจะค่อย ๆ เลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากบรรจุภัณฑ์อาหาร การดำเนินงาน และกิจกรรมต่าง ๆ ภายในปี 2027 และจากการดำเนินงานของรัฐบาลกลางทั้งหมดภายในปี 2035
หลอดกระดาษถูกยกย่องว่าเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า แต่ในแง่การใช้งานแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังไม่ตอบโจทย์จริงตามที่ทรัมป์พูด นอกจากนี้งานวิจัยหลายชิ้นยังระบุว่าหลอดกระดาษยังอาจไม่เป็นมิตรต่อสุขภาพของมนุษย์มากนัก
‘หลอดกระดาษ’ มี ‘สารเคมีตลอดกาล’
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ป ในเบลเยียม ตรวจสอบหลอดกระดาษ 39 ยี่ห้อที่ทำจากวัสดุ 5 ชนิด ได้แก่ กระดาษ ไม้ไผ่ แก้ว สเตนเลส และพลาสติก ผลการศึกษาพบ “สารเคมีตลอดกาล” หรือที่เรียกว่า “PFAS” ในหลอดทั้งหมด ยกเว้นหลอดที่ทำจากสเตนเลส สิ่งที่น่าประหลาดใจที่สุดก็คือ PFAS ถูกตรวจพบมากที่สุดในหลอดที่ทำจากวัสดุจากพืช เช่น หลอดกระดาษและหลอดไม้ไผ่
คณะกรรมการกำกับดูแลเทคโนโลยีระหว่างรัฐ ระบุว่าสารเคมีตลอดกาลถูกนำมาใช้กับหลอดกระดาษ เพื่อให้หลอดทนน้ำได้มากขึ้น เพราะสาร PFAS มีคุณสมบัติในการขับไล่คราบน้ำมัน น้ำ คราบสกปรก และดิน รวมถึงมีความเสถียรทางความร้อนและลดแรงเสียดทาน ซึ่งเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการรักษาหลอดกระดาษให้คงสภาพ
อย่างไรก็ตาม ธิโม กรอฟเฟน นักวิทยาศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยแอนต์เวิร์ปผู้เขียนการศึกษากล่าวว่ายังทราบแน่ชัดว่าสาร PFAS ทั้งหมดที่พบในกระดาษและหลอดไม้ไผ่มาจากกระบวนการผลิตหลอด หรือสารเหล่านี้มีอยู่ในวัตถุดิบมาตั้งแต่แรก เช่น กระบวนการผลิตกระดาษ หรือฝังอยู่ในเนื้อเยื่อจากดินที่ปนเปื้อน
ขณะเดียวกัน การศึกษาวิจัยในปี 2021 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Chemosphere พบว่าหลอดกระดาษหรือหลอดที่ย่อยสลายได้ส่วนใหญ่ที่ทดสอบมีสาร PFAS ในปริมาณที่ตรวจพบได้ แต่ในขณะที่หลอดพลาสติกกลับไม่มีสาร PFAS ที่สามารถวัดได้
แม้ว่า สาร PFAS ที่พบในหลอดกระดาษอาจจะไม่ได้มีปริมาณมากนัก เมื่อเทียบกับวัสดุอื่น ๆ แต่สารเคมีตลอดกาลสามารถสะสมตัวอยู่ในร่างกายระยะยาวได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและรบกวนระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์ ทั้งภาวะน้ำหนักแรกเกิดต่ำ คอเลสเตอรอลสูง โรคไทรอยด์ และความเสี่ยงต่อมะเร็งไต มะเร็งตับที่เพิ่มขึ้น แต่นักวิจัยยังไม่รู้ว่าต้องมีปริมาณสารเคมีระดับใด ถึงจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้
กรอฟเฟนกล่าวว่า ผู้บริโภคอาจไม่ต้องกังวลกับการใช้หลอดกระดาษเท่ากับพลาสติกต่าง ๆ “นี่เป็นช่องทางสะสมสารเคมีที่เราหลีกเลี่ยงได้ และหลอดไม่น่าจะเป็นอันตรายมาก แต่เนื่องจากสาร PFAS สามารถสะสมอยู่ในร่างกาย ผู้คนจึงควรลดการสัมผัสสารเหล่านี้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้”
‘หลอดกระดาษ’ ดีต่อสิ่งแวดล้อม ?
หลอดกระดาษและไม้ไผ่ได้รับความนิยมมากขึ้นในฐานะทางเลือกที่ดีต่อโลก แต่นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า หลอดกระดาษก็อาจไม่ได้ดีกว่าหลอดพลาสติกมากนัก เพราะตราบใดที่มีสาร PFAS ปะปนอยู่ ก็จะไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป
สาร PFAS มักอยู่ในพลาสติกหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น บรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอาง พรม เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งทอ เช่น เสื้อกันฝนหรือชุดออกกำลังกาย โดยมีชื่อเล่นว่า “สารเคมีตลอดกาล” เนื่องจากสลายตัวได้ช้ามาก จะคงอยู่ในอากาศ น้ำ และดินเกือบถาวร อีกทั้งสามารถซึมออกจากหลุมฝังกลบลงในน้ำและดิน และส่งผลเป็นพิษต่อสัตว์ รวมถึงตับเสียหายหรือปัญหาการสืบพันธุ์
การศึกษาของกรอฟเฟนตรวจพบ “กรดไตรฟลูออโรอะซิติก” สารเคมีตลอดกาลที่ละลายน้ำได้สูงและเป็นอันตรายกับระบบสืบพันธุ์ ในหลอดกระดาษ 5 อันและหลอดไม้ไผ่ 1 อัน แต่กรอฟเฟนก็ยังยืนยันว่าหลอดที่ทำจากพืชยังคงดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าพลาสติก
“ผมยังคาดหวังว่าหลอดพลาสติกจะเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า เพราะแน่นอนว่าพลาสติกจะสลายตัวเป็นไมโครพลาสติกที่สัตว์สามารถบริโภคได้” เขากล่าว
หลอดพลาสติกไม่สามารถรีไซเคิลได้ จึงลงเอยในหลุมฝังกลบ ถูกเผาในเตาเผาขยะ หรือกลายเป็นขยะที่ปนเปื้อนมหาสมุทร แม่น้ำ ทะเลสาบ และลำธาร เนื่องจากพลาสติกไม่ย่อยสลายง่าย จึงสามารถคงอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานถึง 200 ปี อันตรายต่อสัตว์ที่อาศัยอยู่ในทะเล
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รัฐต่าง ๆ รวมถึงแคลิฟอร์เนีย โคโลราโด นิวยอร์ก และโอเรกอน ห้ามใช้หลอดพลาสติกในร้านอาหาร และเครือร้านอาหารอย่างสตาร์บัคส์ก็ได้เลิกใช้หลอดพลาสติก แต่ลูกค้าสามารถขอได้หากยังต้องการ
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม นักวิจัยแนะนำว่าหลอดทางเลือดที่ดีที่สุดคือ “หลอดสเตนเลส” เพราะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ไม่มีสาร PFAS และรีไซเคิลได้ทั้งหมด แต่หลอดสเตนเลสก็มีราคาแพงเมื่อเทียบกับหลอดอื่น ๆ และร้านค้าไม่ได้แจกฟรี ดังนั้นอีกทางเลือกที่ดีและเป็นไปได้คือ “ไม่ใช้หลอด” ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาทั้งทางเคมีและสิ่งแวดล้อมได้ในคราวเดียวกัน
แหล่งข้อมูล