- “สกอตแลนด์” เปิดตัว “บ้านพลังงานไฮโดรเจน” ที่ใช้ไฮโดรเจนให้ความร้อนและทำอาหาร และมีแผนที่จะขยายให้ครอบคลุมบ้านถึง 300 หลังในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
- “พลังงานไฮโดรเจน” ถือเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนในบ้านเรือน แต่ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมมาก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง
- งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่า การใช้ระบบไฮโดรเจนให้ความร้อนภายในบ้านอาจมีประสิทธิภาพน้อยกว่าและมีราคาแพงกว่าทางเลือกอื่น ๆ
“สกอตแลนด์” เปิดตัว “บ้านพลังงานไฮโดรเจน” ในโครงการ H100 Fife ของบริษัทเครือข่ายก๊าซ SGN โดยใช้ไฮโดรเจนเพื่อให้ความร้อนและทำอาหารได้ และมีแผนที่จะขยายให้ครอบคลุมบ้านถึง 300 หลังในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
จอห์น สวินนีย์ มุขมนตรีสกอตแลนด์ ร่วมในงานเปิดตัวบ้านพลังงานไฮโดรเจนแห่งนี้ พร้อมระบุว่า “บ้านเหล่านี้ทำให้ผู้อยู่อาศัยได้เห็นว่าไฮโดรเจนมีบทบาทอย่างไรในการสร้างความอบอุ่นและความสะดวกสบายให้กับบ้านโดยไม่ปล่อยคาร์บอนเลย ผมรู้สึกยินดีกับก้าวสำคัญนี้ในโครงการนี้และหวังว่าโครงการนี้จะเสร็จสมบูรณ์”
บ้านสาธิตทั้ง 3 หลังตั้งอยู่ในเมืองเลเวนมัธ บนชายฝั่งตะวันออกของไฟฟ์ แสดงให้เห็นว่าไฮโดรเจนสามารถให้ความร้อนและทำอาหารได้คล้ายกับก๊าซธรรมชาติมาก แต่ต่างที่พลังงานไฮโดรเจนจะไม่ปล่อยคาร์บอนเลย
บ้านพลังงานไฮโดรเจน
การปล่อยความร้อนในครัวเรือนเป็นหนึ่งในแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ใหญ่ที่สุด คิดเป็น 22% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของสหราชอาณาจักร “พลังงานไฮโดรเจน” ถือเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคส่วนนี้ ซึ่งภายในปี 2030 ยุโรปตั้งเป้าที่จะนำเข้าและผลิตไฮโดรเจนหมุนเวียนให้ได้ 20 ล้านตัน และภายในปี 2050 สหภาพยุโรปจะต้องผลิตไฟฟ้าพลังงานไฮโดรเจนให้ได้ 10%
แต่การจะเปลี่ยนใช้พลังงานไฮโดรเจน จะต้องเปลี่ยนเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านใหม่ รวมถึงเตาทำอาหารและหม้อต้ม ซึ่ง Bosch บริษัทวิศวกรรมและเทคโนโลยี ได้เปิดตัวเตาทำอาหารไฮโดรเจนเครื่องแรก โดยจะนำมาทดสอบในบ้านที่โครงการ H100 Fife
บ้านที่ใช้พลังงานไฮโดรเจนแทบจะไม่แตกต่างจากบ้านทั่วไป และเครื่องใช้ไฟฟ้าทำงานในลักษณะเดียวกัน โดยการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ฝั่งซัพพลายเออร์ ดังนั้นจึงถือเป็นวิธีลดคาร์บอนที่ไม่ส่งผลกระทบกับผู้อยู่อาศัยน้อยที่สุดวิธีหนึ่ง
แม้ว่าสหภาพยุโรปจะมีเป้าหมายที่ชัดเจน แต่การนำไฮโดรเจนไปใช้ในระดับครัวเรือนกลับยังต่ำ โดยมีโครงการขนาดเล็กเพียงไม่กี่โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง
บ้านพลังงานไฮโดรเจนแห่งแรกในยุโรปสร้างเสร็จในปี 2022 ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอิตาลี ใช้เป็นหอพักสำหรับนักศึกษา ซึ่งใช้พลังงานไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้าและให้ความร้อน ในเวลาไล่เลี่ยกันเนเธอร์แลนด์ก็มีบ้าน 12 หลังที่ใช้ระบบไฮโดรเจนให้ความร้อนในย่าน เช่นเดียวกับบ้านสร้างใหม่ราว 80-100 ที่เมืองฮูเกวีน มาพร้อมกับระบบเครือข่ายไฮโดรเจน
ขณะที่ ฟินแลนด์กำลังก่อสร้างโครงการ 3H2 Helsinki Hydrogen Hub ซึ่งจะสามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียว จากพลังงานลมนอกชายฝั่ง ได้ประมาณ 3 เมกะวัตต์ต่อปี จากนั้นจะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถบรรทุก ในขณะที่ความร้อนส่วนเกินจากการผลิตไฮโดรเจนจะนำไปใช้ให้ความร้อนแก่บ้านเรือนในท้องถิ่น
กระบวนการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนนั้นมีด้วยกันหลายประเภท ขึ้นอยู่กับกระบวนการผลิตและสารตั้งต้นที่นำมาผลิต สำหรับ “ไฮโดรเจนสีเทา” (Grey hydrogen) คือไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งในกระบวนการผลิตยังมีการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ แต่เนื่องด้วยมีต้นทุนต่ำที่สุดทำให้มีสัดส่วนสูงถึง 95% ของไฮโดรเจนที่ผลิตได้ทั่วโลกในปัจจุบัน
ขณะที่ “ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน” (Blue hydrogen) มีการผลิตคล้ายกับไฮโดรเจนสีเทา แต่ใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอนไว้ใต้พื้นดิน แทนที่จะปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ จึงถือว่าไฮโดรเจนสีน้ำเงินเป็นเชื้อเพลิงคาร์บอนต่ำ และสะอาดกว่าไฮโดรเจนสีเทา แต่ก็มาพร้อมกับราคาสูงกว่าเช่นกัน
“ไฮโดรเจนสีเขียว” (Green hydrogen) เกิดจากการผลิตโดยนำน้ำไปแยกองค์ประกอบทางเคมีด้วยไฟฟ้า ที่เรียกว่ากระบวนการอิเล็กโทรไลซิส จึงถือว่าเป็นพลังงานสะอาดไม่ก่อให้เกิดคาร์บอน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ก็มาพร้อมกับราคาสูงลิ่ว และมีสัดส่วนการผลิตต่ำกว่า 1% ในปัจจุบัน
ปัจจุบันเชื้อเพลิงไฮโดรเจนคิดเป็นประมาณร้อยละ 2 ของพลังงานรวมของสหภาพยุโรป และเกือบทั้งหมดเป็นไฮโดรเจนสีเทา รัฐสภายุโรปประมาณการว่าในแต่ละปีมีคาร์บอนประมาณ 70-100 ล้านตัน ที่มาจากการผลิตไฮโดรเจน
ตามข้อมูลของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ ปริมาณพลังงานหมุนเวียนที่จำเป็นในการทำให้ไฮโดรเจนทั้งหมดเป็นสีเขียวจะอยู่ที่ประมาณ 3,000 เทระวัตต์ชั่วโมง (TWh) ซึ่งเทียบเท่ากับความต้องการไฟฟ้าสำหรับทั้งยุโรป
ไฮโดรเจนเหมาะกับการใช้ในบ้าน?
ไฮโดรเจนเป็นธาตุที่พบมากที่สุดในโลก แต่จัดการได้ยาก การขนส่งและการจัดเก็บที่ปลอดภัยต้องอาศัยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และการติดตามอย่างใกล้ชิด
ในช่วงต้นปี 2022 การศึกษาของกลุ่มวิจัยด้านพลังงาน Regulatory Assistance Project ระบุว่าไฮโดรเจนไม่น่าจะมีบทบาทสำคัญในการทำความร้อนภายในบ้าน โดยแจน โรสนาว ผู้เขียนร่วมของการศึกษากล่าวว่า
“การใช้ไฮโดรเจนเพื่อทำความร้อนอาจดูน่าสนใจในตอนแรก แต่งานวิจัยอิสระทั้งหมดเกี่ยวกับหัวข้อนี้ล้วนสรุปตรงกันว่า การทำความร้อนด้วยไฮโดรเจนมีประสิทธิภาพน้อยกว่าและมีราคาแพงกว่าทางเลือกอื่น ๆ เช่น ปั๊มความร้อน ระบบทำความร้อนในเขตเมือง และพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์”
ขณะที่ รายงานของสถาบันเศรษฐศาสตร์พลังงานและการวิเคราะห์ทางการเงิน (IEEFA) ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนมกราคม 2025 พบว่าการเผาไฮโดรเจนก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย และเป็นวิธีที่ไม่มีประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
แหล่งข้อมูล