ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียวและมหาวิทยาลัยวาเซดะ สองมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ได้สร้างความฮือฮาในแวดวงวิทยาการด้วยการพัฒนามือ “ไบโอไฮบริด”(Biohybrid) ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเท่าที่เคยมีมา ซึ่งประกอบด้วยโครงสร้างเนื้อเยื่อมนุษย์ที่เพาะเลี้ยงและกล้ามเนื้อมีชีวิต นับเป็นก้าวสำคัญที่ผสานเทคโนโลยีชีวภาพและวิศวกรรมหุ่นยนต์เข้าด้วยกันอย่างสมบูรณ์แบบ
ทีมนักวิจัยนำโดย Xinzhu Ren และ Shoji Takeuchi จากบัณฑิตวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สารสนเทศและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยโตเกียว ร่วมกับ Yuya Morimoto รองศาสตราจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวาเซดะ ได้เผยถึงการสร้างมือหุ่นยนต์ที่มีข้อต่อหลายข้อ สามารถขยับได้เหมือนมือมนุษย์ ขับเคลื่อนด้วยเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อที่มีชีวิต มือไบโอไฮบริดนี้มีความยาว 18 เซนติเมตร และขนาดฝ่ามือ 6 เซนติเมตร เทียบเท่าฝ่ามือทารกแรกเกิด โดยมีนิ้วทั้งห้านิ้วที่สามารถเคลื่อนไหวอิสระได้อย่างเป็นธรรมชาติ สามารถทำท่าเป่ายิ้งฉุบ กระดาษ และกรรไกรได้
“เป่ายิ้งฉุบ” เป็นเกมคลาสสิกในโรงเรียนหรือวิธีที่รวดเร็วในการตัดสินใจสำหรับผู้ที่ยังตัดสินใจไม่ได้ แต่ถ้าคุณเลือกกระดาษ คุณจะแพ้ให้กับหุ่นยนต์มือนี้ ซึ่งเชี่ยวชาญศิลปะของการเคลื่อนไหวแบบกรรไกร และแม้ว่าการเคลื่อนไหวนี้อาจดูเหมือนเป็นการเคลื่อนไหวที่เรียบง่าย แต่ในโลกแห่งชีววิทยาและแขนขาเทียม การเคลื่อนไหวนี้ถือเป็นก้าวกระโดดสู่ระดับใหม่ของความสมจริงและความสามารถในการใช้งาน
บทคัดย่อของผลงานนี้ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Science Robotics เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อธิบายว่า “เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อที่เพาะเลี้ยงทำหน้าที่เป็นแหล่งพลังงานในหุ่นยนต์ไบโอไฮบริดที่สามารถแสดงการเคลื่อนไหวที่หลากหลาย แต่การออกแบบปัจจุบันมักจะจำกัดการเคลื่อนไหวในระดับเล็กๆ ซึ่งทำให้ความยืดหยุ่นและการควบคุมลดลง เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เราจึงพัฒนามือไบโอไฮบริดที่มีนิ้วหลายข้อต่อ ขับเคลื่อนด้วยตัวกระตุ้นเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อหลายตัว (MuMuTAs) ซึ่งเป็นมัดของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อบางๆ MuMuTA สามารถให้การเคลื่อนไหวเชิงเส้นที่มีแรงหดตัวสูง (ประมาณ 8 มิลลินิวตัน) และการหดตัวในระยะทางที่ยาว (ประมาณ 4 มิลลิเมตร) ซึ่งสามารถแปลงเป็นการงอของนิ้วหลายข้อต่อได้ด้วยกลไกขับเคลื่อนด้วยสายเคเบิล เราประสบความสำเร็จในการควบคุมการเคลื่อนไหวของมือไบโอไฮบริด โดยสามารถควบคุมนิ้วแต่ละนิ้วแยกกันและทำให้เกิดการเคลื่อนไหวหลากหลายด้วยการควบคุมสัญญาณที่แตกต่างกัน การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ MuMuTAs ในการเป็นแหล่งขับเคลื่อนสำหรับหุ่นยนต์ไบโอไฮบริดขั้นสูง”
จุดเด่นของนวัตกรรมนี้ที่น่าสนใจคือ ระบบขับเคลื่อนด้วยกล้ามเนื้อมีชีวิต ทีมวิจัยพัฒนาโครงสร้างกล้ามเนื้อแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง โดยใช้เนื้อเยื่อมนุษย์ที่เพาะเลี้ยงมามัดรวมกันเป็นเส้นบางๆ ในรูปแบบ “ซูชิโรล (Sushi Roll)” ทำหน้าที่เป็นกล้ามเนื้อหลัก ช่วยให้มือเคลื่อนไหวได้เหมือนจริง ขณะเดียวกันยังมี โครงสร้างสมจริง การใช้กล้ามเนื้อมีชีวิตทำให้การเคลื่อนไหวของมือเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ แตกต่างจากหุ่นยนต์ทั่วไปที่ใช้มอเตอร์หรือระบบไฮดรอลิก และแน่นอนว่านี่คือความก้าวหน้าทางชีววิศวกรรม เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่สามารถสร้างกล้ามเนื้อขนาดใหญ่จากเนื้อเยื่อมนุษย์ในระดับที่สามารถใช้งานได้จริงกับอวัยวะเทียมขนาดใหญ่
การออกแบบไบโอไฮบริดนี้มุ่งเน้นการปรับปรุงการกระจายสารอาหารไปยังเส้นใยกล้ามเนื้อแต่ละเส้นอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันการเกิดเนื้อตาย (necrosis) และช่วยคงโครงสร้างที่เป็นระเบียบของเส้นใยกล้ามเนื้อไว้ ปัญหาหลักของตัวกระตุ้นไบโอไฮบริดแบบเดิมคือการจำกัดขนาดความหนาไม่เกินประมาณ 1 เซนติเมตร เนื่องจากข้อจำกัดด้านการไหลเวียนของสารอาหารและออกซิเจน ทำให้สามารถกระตุ้นการเคลื่อนไหวได้เพียงข้อต่อเดียวเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การออกแบบใหม่นี้ใช้เทคนิคการวางโครงสร้างอันชาญฉลาด ช่วยเพิ่มการส่งผ่านสารอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้กล้ามเนื้อเทียมสามารถหดตัวได้ระยะทางไกลขึ้น ให้แรงบีบที่สูงขึ้น และมีอัตราการหดตัวที่เร็วขึ้นเมื่อเทียบกับแบบเดิม จึงเพิ่มศักยภาพของไบโอไฮบริดในการใช้งานที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น การเคลื่อนไหวแบบหลายข้อต่อพร้อมกัน และการนำไปใช้กับหุ่นยนต์ที่ต้องการความแม่นยำสูงในการขยับหรือหยิบจับสิ่งของอย่างละเอียด นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้สามารถพัฒนาอวัยวะเทียมที่มีความสมจริงและใกล้เคียงกับอวัยวะมนุษย์มากขึ้น ทั้งในด้านประสิทธิภาพการเคลื่อนไหวและความทนทานในการใช้งานระยะยาว
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือโครงการนี้นำเสนอการพัฒนาโครงกระดูกและกล้ามเนื้อเทียมที่สามารถทำงานได้ในสภาพแวดล้อมที่จำลองการเพาะเลี้ยงในสารละลายภายในถัง โดยมีการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าให้กล้ามเนื้อเทียมหดตัว ซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของนิ้วมือผ่านลวดเส้นเล็กที่ดึงและทำให้โค้งงอ ระบบนี้จำลองกระบวนการทำงานของกล้ามเนื้อมนุษย์ที่มีอาการเมื่อยล้าจากการใช้งานต่อเนื่อง โดยกล้ามเนื้อจะเริ่มอ่อนแรงหลังจากเคลื่อนไหวไปประมาณ 10 นาที แต่จะฟื้นตัวได้ภายในเวลา 1 ชั่วโมงเมื่อดูดซับน้ำตาลจากสารละลาย
ในการสาธิต นักวิจัยได้แสดงถึงการเคลื่อนไหวที่ซับซ้อนของนิ้วโดยการบูรณาการการกระตุ้นไฟฟ้ากับโครงกระดูกหุ่นยนต์ ซึ่งทำให้สามารถเลียนแบบท่าทางที่ละเอียดและแม่นยำ รวมถึงการควบคุมวัตถุขนาดเล็ก เช่น ปลายปิเปต (อุปกรณ์ใช้ในการดูดหรือบีบสารละลายหรือของเหลวในห้องปฏิบัติการ) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าในปัจจุบันระบบนี้จะยังไม่สามารถจับหรือถือวัตถุหนักได้ แต่ความก้าวหน้านี้ยังมีความหมายสำคัญต่อการพัฒนาแขนขาเทียมที่ขับเคลื่อนด้วยกล้ามเนื้อเทียม และยังเปิดโอกาสให้มีการใช้งานในแอปพลิเคชันอื่นๆ เช่น การทดสอบยาและการจำลองการตอบสนองของร่างกายมนุษย์ต่อสารเคมีต่างๆ ซึ่งสามารถนำไปสู่การพัฒนาอีกหลายด้านในอนาคต
นับเป็นสัญญาณบวกที่ชัดเจนว่านวัตกรรมไบโอไฮบริดกำลังเปิดประตูสู่อนาคตแห่งอวัยวะชีวภาพเทียม (Bioengineered Prosthetics) ที่จะเปลี่ยนชีวิตผู้พิการให้มีมือเทียมที่เคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติราวกับมือจริง ด้วยการผสานเทคโนโลยีชีววิทยาและวิศวกรรม นวัตกรรมนี้ไม่เพียงช่วยให้ผู้พิการกลับมามีอิสระในการใช้ชีวิต แต่ยังเป็นก้าวสำคัญสู่การพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์เพื่อการแพทย์และการดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ รวมถึงญี่ปุ่นและไทย
อวัยวะชีวภาพเทียมที่พัฒนาด้วยเทคโนโลยีไบโอไฮบริดช่วยให้ผู้พิการมีมือเทียมที่ตอบสนองต่อคำสั่งสมอง สามารถหยิบจับและเคลื่อนไหวได้อย่างใกล้เคียงกับมือจริงมากที่สุด เทคโนโลยีนี้ไม่เพียงยกระดับคุณภาพชีวิต แต่ยังมอบความหวังและอิสระในการทำกิจกรรมประจำวันแก่ผู้พิการ นอกจากนี้ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้ยังขยายไปสู่การสร้างหุ่นยนต์ทางการแพทย์ที่สามารถช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัดได้อย่างแม่นยำ ลดความเสี่ยงในการรักษา และเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการผ่าตัดที่ซับซ้อน หุ่นยนต์เหล่านี้สามารถตอบสนองและปรับตัวตามสถานการณ์ในห้องผ่าตัด เสริมศักยภาพของทีมแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย
อีกหนึ่งบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีไบโอไฮบริดคือการสร้างหุ่นยนต์เพื่อดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งถูกออกแบบให้เป็นเพื่อนคู่ใจในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่การตรวจเช็กสุขภาพ ให้คำปรึกษา ไปจนถึงช่วยเหลือในการทำกิจวัตรต่างๆ หุ่นยนต์เหล่านี้ไม่เพียงช่วยลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์ แต่ยังเติมเต็มความรู้สึกอบอุ่นและความปลอดภัยแก่ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในประเทศที่เผชิญปัญหาการขาดแคลนผู้ดูแลอย่างญี่ปุ่นและประเทศไทย ซึ่งกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ
เทคโนโลยีไบโอไฮบริดจึงไม่ใช่เพียงนวัตกรรมแห่งอนาคต แต่คือคำตอบสำคัญของโลกยุคปัจจุบันที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ พร้อมสร้างอนาคตที่มนุษย์และเทคโนโลยีสามารถก้าวไปด้วยกันอย่างสมดุลและยั่งยืน
“เป้าหมายหลักของหุ่นยนต์ไฮบริดชีวภาพคือการเลียนแบบระบบทางชีวภาพ การพัฒนาของเราถือเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนี้ อย่างไรก็ตาม สาขาของหุ่นยนต์ไฮบริดชีวภาพยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยมีความท้าทายพื้นฐานมากมาย หากเราสามารถเอาชนะอุปสรรคพื้นฐานเหล่านี้ได้แล้ว เทคโนโลยีนี้จะนำไปใช้ในขาเทียมขั้นสูงได้ และยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจการทำงานของเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อในระบบทางชีวภาพ เพื่อทดสอบขั้นตอนการผ่าตัดหรือยาที่กำหนดเป้าหมายไปที่เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อได้อีกด้วย” Shoji Takeuchi กล่าว
จากนวัตกรรมล่าสุดนี้ เป็นอีกครั้งที่ญี่ปุ่นได้แสดงให้เห็นว่า การหลอมรวมระหว่าง STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) กับความมุ่งมั่นในงานวิจัย สามารถสร้างสรรค์สิ่งที่เคยเป็นเพียงจินตนาการ ให้กลายเป็นความจริงที่จับต้องได้
“ไบโอไฮบริด” เมื่อชีวภาพและเทคโนโลยีหลอมรวมเป็นหนึ่ง
เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับไบโอไฮบริดให้มากขึ้น ในภาพรวมของเทคโนโลยีนี้คือการผสมผสานส่วนประกอบทางชีวภาพเข้ากับวัสดุหรือระบบที่ถูกออกแบบ เพื่อสร้างนวัตกรรมที่ดึงศักยภาพของทั้งชีวภาพและเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกัน แนวคิดนี้ถูกประยุกต์ในหลากหลายสาขา เช่น วิทยาศาสตร์วัสดุ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีชีวภาพ โดยมีการพัฒนาหลากหลายรูปแบบ เช่น วัสดุไบโอไฮบริดที่ผสานส่วนประกอบชีวภาพ เช่น โปรตีนหรือดีเอ็นเอ กับวัสดุสังเคราะห์ เช่น โพลีเมอร์หรือโลหะเร่งปฏิกิริยา เพื่อสร้างวัสดุที่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพสูงในเทคโนโลยีชีวภาพและการเร่งปฏิกิริยาเคมี
ในโลกของหุ่นยนต์ หุ่นยนต์ไบโอไฮบริดใช้เนื้อเยื่อชีวภาพ เช่น กล้ามเนื้อหรือเซลล์ประสาท ร่วมกับส่วนประกอบกลไกเพื่อสร้างการเคลื่อนไหวที่เป็นธรรมชาติและตอบสนองได้รวดเร็ว ขณะที่ระบบไบโอไฮบริดได้รับแรงบันดาลใจจากชีววิทยาเพื่อนำไปใช้ในอินเทอร์เฟซประสาทและระบบอัตโนมัติอัจฉริยะที่เลียนแบบการทำงานของสิ่งมีชีวิต
เทคโนโลยีไบโอไฮบริดมีบทบาทสำคัญในนวัตกรรมอุตสาหกรรมและการแพทย์ โดยเปิดทางสู่การพัฒนาหุ่นยนต์ที่เลียนแบบชีวภาพ เครื่องมือแพทย์ล้ำสมัย และระบบเกษตรอัจฉริยะที่ช่วยเพิ่มผลผลิตและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งหมดนี้มาพร้อมกับคำถามทางจริยธรรมเกี่ยวกับขอบเขตระหว่างเทคโนโลยีกับชีวิต กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงถึงความรับผิดชอบและผลกระทบต่อสังคมอย่างลึกซึ้ง
STEM ไม่ใช่แค่ศาสตร์ แต่คือหัวใจที่สร้างญี่ปุ่นให้ยิ่งใหญ่
นวัตกรรมล่าสุดจากญี่ปุ่นที่กล่าวมาเป็นผลผลิตสำคัญจาก STEM ซึ่งเป็นแนวทางการศึกษาที่ผสมผสานความรู้จาก 4 สาขาวิชาหลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ ซึ่งล้วนเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและพัฒนาความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้ความสำคัญกับ STEM อย่างยิ่ง เพราะเชื่อว่านี่คือกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวสู่อนาคตที่มั่นคงและยั่งยืน ความสำเร็จของญี่ปุ่นในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีระดับโลก ทั้งในอุตสาหกรรมยานยนต์ หุ่นยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ล้วนหยั่งรากลึกมาจากการศึกษาแบบ STEM ที่เข้มแข็งและต่อเนื่องมายาวนาน
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่เผชิญความท้าทายใหญ่จากสังคมผู้สูงอายุ แต่กลับพลิกวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการใช้เทคโนโลยีและวิศวกรรมที่พัฒนาจากองค์ความรู้ด้าน STEM ไม่ว่าจะเป็นการสร้างหุ่นยนต์เพื่อดูแลผู้สูงอายุ การพัฒนาระบบบ้านอัจฉริยะ หรือการคิดค้นนวัตกรรมทางการแพทย์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ผู้คนทั่วโลกต่างชื่นชมญี่ปุ่นในฐานะชาติที่นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อตอบโจทย์ปัญหาสังคมอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ความสำเร็จในอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลกจากแบรนด์อย่าง Toyota และ Honda หรืออิเล็กทรอนิกส์จากแบรนด์ระดับตำนานอย่าง Sony และ Panasonic รวมถึงอีกหลายๆ แบรนด์ที่เราคุ้นเคยกันดี ล้วนเป็นผลลัพธ์จากการให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรด้าน STEM อย่างต่อเนื่อง
หัวใจสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นก้าวหน้าทาง STEM คือระบบการศึกษาที่เน้นการลงมือทำจริงมากกว่าการท่องจำ โรงเรียนและมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นต่างมุ่งส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านโครงการทดลอง การแข่งขันวิทยาศาสตร์ และกิจกรรมที่เน้นการแก้ปัญหาแบบสร้างสรรค์ (Problem-Based Learning) เด็กญี่ปุ่นจึงเติบโตมาพร้อมทักษะการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีโครงการสนับสนุนการศึกษาด้าน STEM อย่างชัดเจน เช่น โครงการ “Super Science High Schools (SSH)” ที่มุ่งพัฒนาโรงเรียนมัธยมให้มีหลักสูตรพิเศษด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการจัดการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับชาติอย่าง RoboCup ซึ่งกลายเป็นเวทีสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนได้แสดงศักยภาพและฝึกฝนทักษะการสร้างนวัตกรรม
หน่วยงานอย่าง JSPS (Japan Society for the Promotion of Science) หรือสมาคมส่งเสริมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่น ทำหน้าที่แข็งขันในด้านนี้เป็นอย่างมาก โดยเป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลญี่ปุ่น ก่อตั้งขึ้นในปี 1932 มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่น รวมถึงการมอบทุนวิจัยและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักวิจัยทั้งในระดับชาติและนานาชาติ สำหรับปีงบประมาณ 2024 JSPS ได้รับงบประมาณรวมทั้งสิ้น 297,700 ล้านเยน (ประมาณ 71,448 ล้านบาท) โดยกว่า 99.5% มาจากเงินอุดหนุนและเงินสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่น ในจำนวนนี้ประกอบด้วยเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายดำเนินงานจากงบประมาณแผ่นดินจำนวน 27,500 ล้านเยน (ประมาณ 6,600 ล้านบาท) เงินอุดหนุนโครงการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ (Grants-in-Aid for Scientific Research) จำนวน 76,600 ล้านเยน (ประมาณ 18,384 ล้านบาท) เงินสนับสนุนโครงการ “Leading Initiative for Excellent Young Researchers” สำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพจำนวน 3,000 ล้านเยน (ประมาณ 72 ล้านบาท) นอกจากนี้ยังรวมถึงกองทุนวิจัยระยะยาว (Multi-year Fund for Grants-in-Aid) ซึ่งรัฐบาลจัดสรรให้จำนวน 165,800 ล้านเยน (ประมาณ 39,792 ล้านบาท) และเงินสนับสนุนโครงการพัฒนาและยกระดับมหาวิทยาลัยวิจัยที่มีเอกลักษณ์ประจำภูมิภาค (Program for Promoting the Enhancement of Research Universities with a Regional Core and Distinctive Characteristics) จำนวน 26,600 ล้านเยน (ประมาณ 6,384 ล้านบาท) ทั้งนี้ งบประมาณที่ระบุสำหรับแต่ละโครงการเป็นจำนวนเงินที่ประมาณการว่าเพียงพอต่อการดำเนินโครงการนั้นๆ ในปีงบประมาณ 2024
บทเรียนจากความสำเร็จของญี่ปุ่นชี้ให้เห็นถึงพลังของการศึกษาแบบบูรณาการที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ตำรา แต่คือการปลูกฝังให้เยาวชนกล้าคิด กล้าลงมือทำ และกล้าทดลองสิ่งใหม่ๆ ประเทศไทยเองสามารถนำแบบอย่างนี้มาปรับใช้ “อย่างจริงจัง” ไม่ใช่แค่เอ่ยอ้างในหลักสูตร โดยส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง สร้างพื้นที่ให้เด็กไทยได้แสดงความสามารถผ่านกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นอย่างเข้มข้น รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาและภาคเอกชนเพื่อพัฒนาหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับโลกแห่งการทำงานอย่างแท้จริง เพราะในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ที่มีความรู้และทักษะจาก STEM จะเป็นผู้ที่สามารถสร้างสรรค์อนาคตและขับเคลื่อนสังคมไปข้างหน้าอย่างมั่นคง เช่นเดียวกับที่ญี่ปุ่นได้พิสูจน์ให้โลกเห็นแล้วว่า การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์คือการลงทุนที่คุ้มค่ายั่งยืนที่สุด
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2025/02/18/japan-world-largest-bio-hybrid-hand/