หนุน ‘สิทธิในการซ่อม’ ดันไทยนำอาเซียนด้านสิทธิผู้บริโภคขยะอิเล็กทรอนิกส์

Share

Loading

รายงานฉบับใหม่เสนอให้ประเทศไทยเปิดทางสู่แนวทางใหม่ในการซ่อมแซมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดขยะที่เกิดขึ้นกว่า 450,000 ตันต่อปี สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจ BCG ของประเทศ และเสริมสร้างสิทธิของผู้บริโภคให้สามารถเข้าถึงการซ่อมได้ง่ายขึ้น

สถาบันนโยบายสาธารณะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และมหาวิทยาลัยรังสิต จัดทำรายงานฉบับล่าสุด ซึ่งชี้ให้เห็นถึงโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะก้าวขึ้นเป็นผู้นำระดับภูมิภาคในการผลักดันกฎหมายและแนวทางสนับสนุน ‘สิทธิในการซ่อม’ (Right to Repair – R2R) สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

เอ็ดเวิร์ด แรตคลิฟฟ์ กรรมการบริหารสถาบันนโยบายสาธารณะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า “ด้วยขนาดตลาดอิเล็กทรอนิกส์ที่ใหญ่ของไทย และยอดจำหน่ายสมาร์ทโฟนที่แตะ 14 ล้านเครื่องในปี 2566 รวมถึงการคาดการณ์ว่าอัตราการใช้สมาร์ทโฟนจะเพิ่มขึ้นเป็น 97% ภายในปี 2572 ประเทศไทยจึงมีศักยภาพในการผลักดันกฎหมาย R2R ให้ก้าวหน้าและสอดรับกับแนวโน้มการบริโภคของประชากร

‘สิทธิ์ในการซ่อมแซม’ (RR) คืออะไร
  • R2R เป็นแนวคิดที่ผู้บริโภคควรมีสิทธิ์แก้ไขผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ และอุปกรณ์ของพวกเขา ด้วยการเข้าถึงชิ้นส่วน เครื่องมือ และเอกสาร
  • R2R ให้ความคุ้มครองทางกฎหมายสำหรับการซ่อมแซมและกีดกันข้อจำกัดของฮาร์ดแวร์หรือซอฟต์แวร์ที่ทำให้ยูทิลิตี้ของผลิตภัณฑ์เสื่อมโทรม

แนวคิด R2R คือ การที่ผู้บริโภคควรมีสิทธิในการซ่อมแซมผลิตภัณฑ์ของตนเอง โดยสามารถเข้าถึงอะไหล่ เครื่องมือ และคู่มือการซ่อมได้ ตั้งแต่เครื่องจักรกลการเกษตร ยานยนต์ ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ซึ่งปัจจุบันผู้ผลิตหลายรายได้กำหนดข้อจำกัดทั้งทางกายภาพ กฎหมาย และดิจิทัล เพื่อปิดกั้นการซ่อมโดยอิสระ R2R จึงมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองสิทธิด้านการซ่อม พร้อมทั้งลดข้อจำกัดด้านซอฟต์แวร์ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้อะไหล่ทดแทนใช้งานได้ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘Parts Pairing’ หรือ “การจับคู่ชิ้นส่วน” ที่ส่งผลให้ค่าซ่อมเพิ่มขึ้นอย่างมาก

การขาดทางเลือกของผู้บริโภค

ทำให้ ค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เป็นแรงผลักสำคัญให้ R2R เรียกร้องให้ผลิตภัณฑ์สามารถซ่อมได้ง่ายขึ้น เพื่อให้สิทธิและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากขึ้นแก่ผู้บริโภค หลายรัฐในสหรัฐอเมริกาได้ผ่านกฎหมายดังกล่าวแล้ว และปัจจุบันมีอีก 30 รัฐที่กำลังพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ขณะที่สหภาพยุโรปได้ประกาศใช้กฎหมาย R2R ตั้งแต่เดือน ก.ค. 2567 ซึ่งห้ามผู้ผลิตกำหนดข้อจำกัดในการซ่อม และบังคับให้ผู้ผลิตต้องจัดหาอะไหล่และเครื่องมือในราคาที่สมเหตุสมผล

การขับเคลื่อนนโยบาย R2R ในประเทศไทย

งานวิจัยฉบับใหม่นี้รวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการซ่อมกว่า 40 รายในกรุงเทพฯ พบปัญหาสำคัญในระบบซ่อมแซมของไทย โดย 54% ของร้านซ่อมอิสระไม่มีคู่มือการซ่อม ขณะที่ 96% ไม่สามารถเข้าถึงอะไหล่จากศูนย์บริการหรือผู้ผลิตที่ได้รับอนุญาต

ทำไมต้องติดตาม R2R?
  1. ลดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม : ขยะอิเล็กทรอนิกส์ 50 ล้านตันที่ผลิตทั่วโลกสามารถลดลงได้โดยการยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์
  2. คุณค่าสำหรับผู้บริโภค : การยืดอายุของผลิตภัณฑ์สามารถลดต้นทุนผู้บริโภคได้ถึง 25%
  3. เศรษฐกิจท้องถิ่น : การสนับสนุนการซ่อมแซมสามารถปรับปรุงความพร้อมในการให้บริการสำหรับผู้บริโภคและสนับสนุนงานในชุมชน
  4. ประโยชน์สำหรับอุตสาหกรรม : ชื่อเสียง ESG คุณค่าของผู้บริโภค

ดร.กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดชอบต่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า” หรือ “เลมอน ลอว์” (Lemon Law) ซึ่งเป็นช่วงเวลาสำคัญในการปฏิรูปสิทธิผู้บริโภค โดยเฉพาะด้าน “สิทธิในการซ่อม” (Right to Repair – R2R) รายงานฉบับล่าสุดระบุว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมเร่งด่วน คิดเป็น 65% ของขยะอันตรายจากชุมชนหรือ 450,000 ตันต่อปี แต่มีเพียง 21% เท่านั้นที่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม

ขยะจากโทรศัพท์มือถือและแท็บเล็ต อยู่ที่ 25,200 ตันต่อปี ขณะที่ประเทศไทยต้องเผชิญปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าพุ่งสูง 20 เท่า หลังจากจีนห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2560 ส่งผลให้ในปี 2564 ไทยนำเข้าขยะประเภทนี้มากถึง 28 ล้านตัน

ข้อเสนอหลัก: ห้าม Parts Pairing – สนับสนุนธุรกิจซ่อมแซม ซึ่งรายงานนี้เสนอแนวทางพัฒนา กรอบ R2R ที่ครอบคลุม เช่น

  1. ห้ามการจับคู่ชิ้นส่วน (Parts Pairing) เพื่อให้สามารถเปลี่ยนอะไหล่ได้ง่าย
  2. กำหนดราคามาตรฐาน ลดต้นทุนการซ่อมให้ประชาชน
  3. ให้สิ่งจูงใจแก่ธุรกิจซ่อมแซม กระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียน

ข้อเสนอเหล่านี้สอดคล้องกับ โมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green) พ.ศ. 2564-2570 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน หากภาครัฐให้การสนับสนุน ไทยมีโอกาสก้าวขึ้นเป็น ผู้นำอาเซียนด้านสิทธิผู้บริโภคและการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์

กฎหมาย R2R แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด
  1. เข้าถึงเครื่องมือ ชิ้นส่วนทดแทน เอกสาร และคู่มือ
  2. ราคาตลาดที่เป็นธรรมสำหรับบริการ ชิ้นส่วน เครื่องมือ และข้อมูล
  3. การป้องกันสัญญาหลอกลวงและการตอบโต้ของผู้ผลิต
  4. การบังคับใช้และการศึกษา
  5. การเพิ่มประสิทธิภาพการออกแบบสำหรับการซ่อมแซม
“สิทธิในการซ่อม” ทางเลือกเพื่อผู้บริโภคและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

ปัจจุบันทั่วโลกเผชิญปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์มหาศาล ขณะที่การใช้ทรัพยากรยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง “สิทธิในการซ่อม” (Right to Repair – R2R) จึงเป็นแนวทางที่ช่วยลดการใช้ทรัพยากร เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค และกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยสามารถลดค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคได้ถึง 25%

ประเทศไทยมีร้านซ่อมรายย่อยจำนวนมากที่สามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญคือการขาดเครื่องมือและคู่มือซ่อมจากผู้ผลิต ทำให้ช่างซ่อมต้องพึ่งพาการแลกเปลี่ยนความรู้กันเอง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนให้คนไทยสามารถเข้าถึงข้อมูลและเครื่องมือในการซ่อมได้ง่ายขึ้น

ความท้าทายของร้านซ่อม และแนวทางแก้ไข
  • ขาดเครื่องมือจากแบรนด์ผู้ผลิต : จำเป็นต้องมีการแลกเปลี่ยนความรู้ภายในกลุ่มช่างซ่อม
  • ไม่มีคู่มือซ่อมจากผู้ผลิต : สนับสนุนให้มีระบบออกใบรับรองแก่ร้านซ่อมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค
  • การอัปเดตซอฟต์แวร์จำกัดอายุการใช้งาน : ควรนำแนวทางของสหภาพยุโรปที่กำหนดให้สมาร์ทโฟนได้รับอัปเดตซอฟต์แวร์อย่างน้อย 7 ปีมาเป็นต้นแบบ
การคุ้มครองผู้บริโภค และทิศทางกฎหมายในอนาคต

ปัจจุบัน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทยมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการโฆษณาที่เกินจริงหรือไม่ปลอดภัย แต่ร่าง “เลมอน ลอว์” (Lemon Law) ที่กำลังพิจารณาจะช่วยเพิ่มความคุ้มครองในกรณีที่ผู้บริโภคได้รับสินค้าชำรุด

หลายประเทศมีการพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น

  1. สิงคโปร์ : กำลังอยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับ Lemon Law
  2. อินเดีย : มีแนวทางที่เข้มแข็งในด้านสิทธิผู้บริโภค
  3. ออสเตรเลีย :ให้ความสำคัญกับกฎหมาย Eco Design เพื่อส่งเสริมการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน
ก้าวต่อไปของไทยใน “สิทธิในการซ่อม”

การผลักดัน สิทธิในการซ่อม จะช่วยให้ผู้บริโภคมีอิสระในการเลือกซ่อมผลิตภัณฑ์ของตนเอง ลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ กระตุ้นเศรษฐกิจร้านซ่อมรายย่อย และช่วยให้ไทยก้าวสู่การบริโภคที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น

การสนับสนุนจากภาครัฐผ่านการออกกฎหมายและนโยบายที่เอื้อให้ประชาชนสามารถซ่อมแซมอุปกรณ์ได้ง่าย จะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ไทยสามารถแข่งขันและเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนด้านสิทธิผู้บริโภคและการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างยั่งยืน

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/environment/1167493