เมื่อ AI ข้ามเส้นเทคโนโลยี สู่ “เพื่อนที่ปรึกษาทางใจ”

Share

Loading

  • ชวิศา เฉิน ตั้งใจที่จะพัฒนา AI ให้เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพเพศและความสัมพันธ์ เพื่อทำให้การพูดคุยเรื่องสุขภาพทางเพศเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น
  • แอปฯ ถูกออกแบบมาให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ต้องการความรู้และคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทาง และนักเพศวิทยา เพื่อคลายความกังวลด้านสุขภาพทางเพศที่พบได้บ่อย
  • Talk To PEACH เป็นหนึ่งใน 12 นวัตกรรมจากโครงการ “Epicenter Accelerate Thailand 2024 Cohort” ที่ได้ไปนำเสนอผลงานที่เมืองสตอกโฮล์ม สวีเดน

ปัจจุบัน AI ได้ก้าวข้ามขีดจำกัดจากเครื่องมือช่วยงานในหลากหลายอุตสาหกรรมสู่การเป็น “เพื่อน” ที่เข้าใจความรู้สึกของมนุษย์ และมีบทบาทในเส้นทางความรักและความสัมพันธ์ผ่านการให้คำแนะนำและตอบสนองต่ออารมณ์ของผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดี จึงทำให้ AI กลายเป็น “นวัตกรรมคู่กาย” ที่สามารถไปกับเราได้ทุกที่ เสมือนเป็นที่ปรึกษาด้านความสัมพันธ์ในรูปแบบเพื่อนสนิท ซึ่งตอบโจทย์คนเหงาและสร้างความผูกพันทางอารมณ์กับผู้ใช้ได้อย่างไม่รู้ตัว

ดังนั้น หากเราใช้ AI อย่างชาญฉลาด นวัตกรรมจะกลายเป็นเพื่อนคู่คิดที่ช่วยเติมเต็มความรักให้แน่นแฟ้นขึ้น ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจ และทำให้คู่รักกล้าสื่อสารกันมากขึ้น

ทุกวันนี้หลายคนเริ่มหันมาใช้ AI เพื่อช่วยเป็นที่ปรึกษาด้านความสัมพันธ์ ตั้งแต่แอปหาคู่ที่วิเคราะห์ความเข้ากันได้ แชตบอทที่ให้คำปรึกษาเรื่องหัวใจ ไปจนถึงเรื่องสุขภาพเพศ

ในเดือนแห่งความรัก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะ ‘ผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม’ ของประเทศไทย จะขอพาไปทำความรู้จักกับ “Talk to PEACH”

แอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์การแก้ไขเรื่องทางเพศและความสัมพันธ์ของคู่รัก โดยมีฟีเจอร์หลากหลายที่พร้อมให้ผู้ใช้งานมารับคำปรึกษา พูดคุยกับแพทย์ และนักเพศวิทยา (Sexologist) หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเพศได้อย่างมั่นใจตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน อีกทั้งยังตอบโจทย์คนทุกเพศ ทุกวัย เพราะให้บริการในราคาที่เอื้อมถึง

แม้ปัจจุบันสังคมไทยจะเปิดกว้างเรื่องเพศมากขึ้น แต่ยังคงมีข้อจำกัดหลายอย่างจากความเชื่อและวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดกันมานานว่าเซ็กซ์เป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่ควรพูดถึง หรือบางครั้งถูกมองว่าเป็นเรื่องน่าอาย ทำให้เมื่อเกิดปัญหาจึงไม่รู้จะปรึกษาใคร ก่อตัวกลายเป็นความไม่เข้าใจ และบ่อยครั้งปัญหาก็ถูกปล่อยปละละเลย หรือแก้ไขด้วยวิธีผิด เพราะไม่มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำที่ถูกต้อง

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ชวิศา เฉิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งแอปพลิเคชัน Talk To PEACH” ตั้งใจที่จะพัฒนา AI ให้เป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพเพศและความสัมพันธ์ เพื่อช่วยทลายกำแพง และทำให้การพูดคุยเรื่องสุขภาพทางเพศเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น

แอปฯ ถูกออกแบบมาให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ต้องการความรู้และคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทาง และนักเพศวิทยา เพื่อคลายความกังวลด้านสุขภาพทางเพศที่พบได้บ่อย

โดยเฉพาะประเด็นสำคัญอย่างการคุมกำเนิด ปัญหาและความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากการมีเพศสัมพันธ์ ความไม่พร้อมทางด้านร่างกายและจิตใจที่อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ ภาวะหลังหมดประจำเดือน รสนิยมทางเพศ รวมถึงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ด้วยบทบาทหน้าที่การเป็นนักเพศวิทยาคอยให้คำปรึกษาในคลินิก ช่วยให้คุณชวิศา มองเห็นช่องว่างของการให้ความรู้ และคำปรึกษาด้านเพศศึกษาให้คนไทย เพราะหลายครั้งเมื่อพูดถึงเรื่องเพศ อาจจะกลายเป็นคำต้องห้าม หรือประเด็นที่ไม่สะดวกเปิดเผยต่อสาธารณะ

แต่ความเป็นจริงแล้ว เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและมีความหลากหลายมากกว่านั้น และไม่ได้เกี่ยวพันกับเพศสัมพันธ์เสมอไป แต่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องร่างกาย จิตใจ และความสัมพันธ์

“ปัญหาเรื่องเพศนั้นถูกฝังไว้ใต้พรม และหลายครั้งทำให้เกิดปัญหาใหญ่ต่อสุขภาพในองค์รวม การเผชิญกับปัญหาเรื่องเพศ ความสัมพันธ์ และความกังวลใจที่ไม่รู้จะปรึกษาใครหรือขอคำแนะนำจากที่ไหน โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ต้องการคำตอบอย่างเร่งด่วน แต่กลับไม่มีที่พึ่งที่มั่นใจได้”

แอปพลิเคชัน Talk To PEACH เป็นนวัตกรรมพื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนที่ต้องการพูดคุยหรือปรึกษาปัญหาได้อย่างเปิดใจ ใช้งานง่าย หลังจากลงทะเบียนผู้ใช้สามารถทำการนัดหมายวันและเวลาที่สะดวก

เพื่อพูดคุยและขอคำปรึกษาจากแพทย์หรือนักเพศวิทยาเป็นการส่วนตัวผ่านระบบวิดีโอคอล โดยจะเลือกเปิดเผยตัวตนผ่านทางกล้องหรือไม่ก็ได้ ถ้าหากไม่ใช่กรณีเร่งด่วน สามารถส่งคำถามเพื่อปรึกษาแพทย์หรือนักเพศวิทยาผ่านทางแชทได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถตัดสินใจและรับมือกับปัญหาได้อย่างมั่นใจ ลดความเครียดและความวิตกกังวล และทำให้การดูแลสุขภาพใจและความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นในทุกช่วงเวลาของชีวิต ความสะดวกสบายในการให้คำปรึกษา ส่งผลให้ปัจจุบันแอปพลิเคชัน Talk To PEACH มีสมาชิกมากกว่า 75,000 คน เป็นเพศชายร้อยละ 40 เพศหญิงร้อยละ 60 และมีผู้เข้าใช้งานประมาณวันละ 1,200 – 1,500 คน”

“Self-Toy” ฟีเจอร์ใหม่ ช่วยคู่รักหาจุดตรงกลางที่ลงตัว

นอกจากแอปฯ Talk to PEACH จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาปัญหาเรื่องเพศทั้งทางร่างกาย จิตใจ และความสัมพันธ์กับนักเพศวิทยา (Sexologist) และคุณหมอเฉพาะทางแล้ว ยังเพิ่มทางเลือกให้ผู้ใช้สามารถทำความเข้าใจตัวเอง รวมถึงคู่ในความสัมพันธ์ได้มากขึ้นด้วย 3 ฟีเจอร์ใหม่จาก “Self-Toy” ซึ่งประกอบด้วย

Pillow Talk Card: เกมการ์ดคำถามที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้คู่รักได้เปิดใจคุยกันในลักษณะ Deep Talk และทำความเข้าใจคู่ของเราได้ดียิ่งขึ้น ผ่านชุดคำถามเกี่ยวกับความสัมพันธ์แบบลึกซึ้งทั้งในเชิงความรู้สึก ความสัมพันธ์ และเรื่องทางเพศ โดยผู้ใช้งานสามารถเลือกคำถามที่ต้องการตามระดับความสัมพันธ์ เช่น คู่ที่เพิ่งเริ่มรู้จักกันไปจนถึงคู่รักที่คบหากันอย่างจริงจัง เป็นต้น

Period Tracker: ฟีเจอร์ช่วยติดตามรอบเดือนได้สะดวก ง่าย และมีบันทึกข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศและสุขภาพร่างกายอื่นที่เกี่ยวข้องกับรอบเดือน เช่น อารมณ์ และอาการ เพื่อช่วยในการวางแผนชีวิตประจำวัน วางแผนสุขภาพ การทำความเข้าใจตัวเอง รวมถึงช่วยให้คู่รักใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนครอบครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นด้วย

Relationship Type: แบบสำรวจ ตรวจสอบความชอบของตัวเองผ่านฟีเจอร์แบบสอบถาม เพื่อค้นหาว่าความสัมพันธ์แบบไหนที่ตรงใจ ช่วยให้ผู้ใช้งานประเมินความชอบของตนเอง ว่าชอบความสัมพันธ์และสไตล์เรื่องเพศแบบไหน และอะไรคือตัวตนในแบบที่เราเป็น

นอกจากนี้ แอปฯ Talk to Peach ยังมีพื้นที่ของบทความที่น่าสนใจจากหลากหลายหัวข้อ ซึ่งข้อมูลวิชาการทั้งหมดได้ผ่านการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางโดยตรง และสามารถเข้าไปอ่านได้ตลอดเวลา โดยเนื้อหาครอบคลุมในหลากปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ ความสัมพันธ์ รวมถึงเนื้อหาที่เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นช่องทางซื้อสินค้าที่ได้มาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นชุดตรวจโรคติดต่อทางเพศ อาหารเสริม ถุงยางอนามัย เจลหล่อลื่น เรียกได้ว่าครอบคลุมทุกความต้องการเรื่องเพศอย่างแท้จริง

NIA พร้อมหนุน “Talk to PEACH” บินไกลสู่สวีเดน ปูทางสู่เวทีนวัตกรรมระดับโลก

การได้รับสนับสนุนจาก NIA ช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สตาร์ตอัป และวิสาหกิจชุมชนที่ต้องการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรม ได้เห็นว่า ภาครัฐมีกลไกช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม และพร้อมสนับสนุนให้สามารถพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาและความต้องการของประเทศในอนาคต

NIA ไม่ใช่แค่แหล่งเงินทุน แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างมั่นคง ตั้งแต่การพัฒนานวัตกรรม การวางแผนธุรกิจ ไปจนถึงการขยายตลาด และช่วยลดความเสี่ยงจากการลองผิดลองถูกด้านการตลาด หรือไม่มีความรู้ในการสร้างแพลตฟอร์ม แต่ที่นี้มีผู้เชี่ยวชาญคอยแนะนำ และยังช่วยเปิดมุมมองใหม่ในการทำธุรกิจที่แข็งแกร่งและมีโอกาสเติบโตมากยิ่งขึ้น

สำหรับแอปพลิเคชัน Talk To PEACH เป็นหนึ่งใน 12 นวัตกรรมจากโครงการ “Epicenter Accelerate Thailand 2024 Cohort” ที่ได้ไปนำเสนอผลงานที่เมืองสตอกโฮล์ม สวีเดน ภายใต้โครงการบ่มเพาะสตาร์ตอัปไทย – สวีเดน

อย่าง “The Scaleup Impact! Thailand – Sweden Global Startup Acceleration Program” ที่ NIA เข้าไปสนับสนุนและมีส่วนร่วมในการยกระดับสตาร์ตอัปไทยสู่เวทีระดับสากล โดยมุ่งเน้นส่งเสริมเชื่อมโยงสตาร์ตอัป Impact Tech ที่มีนวัตกรรมตอบโจทย์ ตรงตามความต้องการของตลาด สร้างโอกาสในการเติบโตอย่างยั่งยืนตามกลไกระดับสากล

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/innovation/1167041