IBM เผย 5 แนวทาง เปลี่ยน AI จาก ‘แนวคิด’ เป็นอาวุธลับผลักดันธุรกิจ

Share

Loading

เอไอไม่ใช่แค่เทคโนโลยีแห่งอนาคต แต่คือ อาวุธลับขององค์กร ‘IBM’ เผยแนวทาง 5 ข้อ ที่จะเปลี่ยน AI จาก ‘แนวคิด’ สู่การใช้งานจริงในธุรกิจ

ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางธุรกิจ และเศรษฐกิจโลก บริษัท PwC คาดการณ์ว่า เอไอจะเพิ่มมูลค่าให้เศรษฐกิจโลกถึง 15.7 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2573

ในงาน AI Revolution 2025 จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ จูฮี แม็คคลีแลนด์ Managing Partner ของ IBM Consulting ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปรียบเทียบเอไอว่าเหมือน “มีดพับสวิส” ที่มีความสามารถหลากหลาย พร้อมย้ำว่า เอไอก็เหมือนกับ “ลูกสุนัข” ที่ต้องการการฝึกฝน และดูแลอย่างต่อเนื่อง เธอเน้นย้ำว่ายังคงต้องการ การควบคุมจากมนุษย์ เพื่อให้เกิดการใช้งานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด โดย IBM ได้สรุปแนวทาง 5 ประการ (5 key AI shifts) หากองค์กรต้องการก้าวสู่ยุคใหม่ของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ

จากเอไอทั่วไป สู่เอไอเฉพาะอุตสาหกรรม

ปัจจุบัน องค์กรใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพียง 1% เท่านั้น จูฮีชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาเอไอที่เข้าใจบริบทเฉพาะแต่ละอุตสาหกรรมจะเป็นสิ่งสำคัญ

ยกตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมการบิน เอไอต้องเข้าใจรายละเอียดเฉพาะด้าน อาทิ การตรวจสอบการกัดกร่อนของเครื่องบิน การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าภายในปี 2570 จะมี AI เฉพาะทางถึง 50% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากเพียง 1% ในปัจจุบัน

ยุคของเอไออัตโนมัติ (Agentic AI)

ระบบเอไอจะก้าวสู่ยุคที่สามารถทำงานได้อัตโนมัติอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถวิเคราะห์ข้อมูล ตั้งเป้าหมาย ตัดสินใจ และดำเนินการด้วยตนเอง โดยใช้การแทรกแซงจากมนุษย์เพียงเล็กน้อย

การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าภายในปี 2571 จะมีการตัดสินใจอัตโนมัติถึง 15% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 0% ในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แม็คคลีแลนด์เตือนถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น อคติของข้อมูล การหลอน (Hallucinate) หรือการใช้เครื่องมือผิดวิธี จึงจำเป็นต้องมี AI Governance Framework เพื่อควบคุมการใช้งาน

“Agents จะเป็นสิ่งสำคัญสู่การเพิ่มผลิตภาพ และสร้าง ROI ของเอไอ แต่ในอีกด้านของเหรียญ การทำงานอิสระของ AI Agents ก็อาจนำไปสู่การตัดสินใจที่มีความเสี่ยง ยิ่งมีการใช้หลาย Agents ก็ยิ่งทำให้การติดตามและตรวจสอบที่มาของการตัดสินใจเป็นเรื่องที่ซับซ้อน อีกทั้งอาจมีอคติของข้อมูล อาการหลอน (Hallucinate) หรือการใช้เครื่องมือผิดวิธี ซึ่งควบคุมได้ยากกว่าเดิม และอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยในการใช้งานจริง เพราะฉะนั้น จึงต้องมีการนำ AI Governance Framework เข้ามาควบคุมตั้งแต่ตอนที่เริ่มนำร่องหรือทดลองใช้ เพื่อให้มั่นใจว่าการใช้งาน AI Agents จะเป็นไปอย่างปลอดภัย และมีความรับผิดชอบ”

เอไอไฮบริด และโอเพนซอร์ส

การเปลี่ยนแปลงที่ 3 คือ การก้าวสู่แนวทาง Open และ Hybrid AI โดยในปี 2025 โฟกัสจะไม่ได้อยู่ที่โมเดลเอไอ แต่องค์กรจะต้องให้ความสำคัญกับระบบเอไอโดยองค์กรจะเริ่มใช้งานโอเพนซอร์สมากขึ้นเรื่อยๆ และคุณค่าจะไม่ได้มาจากโมเดลเดี่ยวๆ แต่มาจากการบูรณาการที่รวมเครื่องมือโอเพนซอร์สต่างๆ เข้าด้วยกัน

“51% ของธุรกิจที่ใช้เครื่องมือโอเพนซอร์ส ระบุว่าได้รับ AI ROI ในเชิงบวก โดยวันนี้ 70% ขององค์กรในอินเดียที่สำรวจ นำเอไอแบบโอเพนซอร์สมาใช้แล้วมากกว่าครึ่งของระบบทั้งหมด ขณะที่ในสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และอินโดนีเซีย มีองค์กรอย่างน้อย 1 ใน 4 ที่ใช้เอไอแบบโอเพนซอร์ส และมีแนวโน้มการใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

จูฮียังมองว่าในยุคเอไอไม่มีองค์กรใดเดินหน้าได้เพียงลำพัง ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำสู่ความร่วมมือ การร่วมทุน ทั้งในกลุ่มสตาร์ตอัป นักพัฒนา และผู้นำในอุตสาหกรรม ด้วยเหตุนี้ การใช้แนวทาง Hybrid-by-Design ตั้งแต่แรกเริ่ม ที่ทำให้มัลติคลาวด์ Gen AI และสภาพแวดล้อมทางธุรกิจต่างๆ ทำงานร่วมกันได้อย่างยืดหยุ่น เชื่อมโยงกัน และรองรับความซับซ้อนของธุรกิจยุคใหม่

ธรรมาภิบาล และความโปร่งใส

กฎหมาย EU AI Act ในปีที่ผ่านมา รวมถึงความเคลื่อนไหวด้านกฎข้อบังคับในหลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียแปซิฟิก และความร่วมมือด้านการตรวจจับอคติเอไอที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ล้วนตอกย้ำความสำคัญของเอไอเชิงจริยธรรม ที่ต้องเน้นความโปร่งใส ความเป็นธรรม และการใช้เอไอที่มีความรับผิดชอบ

“ความไว้วางใจที่ได้รับจากลูกค้า และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ถือเป็นใบอนุญาตในการทำธุรกิจ และองค์กรไม่สามารถปล่อยให้เอไอเข้ามาทำลายความไว้วางใจที่สั่งสมมาได้ วันนี้ 51% ของผู้บริหารเทคโนโลยีในไทย มองว่าประเด็นความถูกต้องของข้อมูล และอคติของเอไอจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการนำ Gen AI มาใช้ โดยการขาดนโยบายหรือธรรมาภิบาล เอไออาจนำให้องค์กรต้องเผชิญกับปัญหาทางจริยธรรม การละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ความเสียหายต่อชื่อเสียง และผลกระทบทางการเงิน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอย่างการเงินหรือการดูแลสุขภาพ ที่ความโปร่งใส เชื่อถือได้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญสูง”

คอมพิวเตอร์ควอนตัม

“ไอบีเอ็มถือเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมควอนตัมคอมพิวติ้งมาอย่างยาวนาน และมีโรดแมปการพัฒนาที่ชัดเจน เช่น การตั้งเป้าว่าจะสามารถพัฒนาระบบให้มีความสามารถในการแก้ไขข้อผิดพลาดขั้นสูง (Error-Corrected) ได้ภายในปี 2572 โดยปัจจุบันมีเพียงคอมพิวเตอร์ควอนตัมของไอบีเอ็มที่เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในทางวิทยาศาสตร์

วันนี้ไอบีเอ็มมีสมาชิกใน IBM Quantum Network กว่า 250 รายทั่วโลก ซึ่งครอบคลุมองค์กรชั้นนำอย่าง Bosch, HSBC และ Wells Fargo สถาบันการศึกษาอย่าง Keio University, Yonsei University และ University of Chicago สถาบันวิจัยอย่าง Cleveland Clinic และ CERN รวมถึงหน่วยงานรัฐบาล เช่น ห้องปฏิบัติการแห่งชาติของกระทรวงพลังงานสหรัฐ เป็นต้น”

การผสานระหว่าง AI กับควอนตัมคอมพิวติ้ง จะเกิดใน 2 แนวทาง คือ การนำควอนตัมคอมพิวติ้งช่วยเร่งความก้าวหน้าของเอไอ อย่างอัลกอริทึมแมชชีนเลิร์นนิง และ neural network รูปแบบใหม่ หรือการช่วยก้าวข้ามข้อจำกัดด้านการใช้พลังงานสูง เวลาประมวลผลที่ยาวนาน และความต้องการพลังประมวลผลสูงของเอไอโดยเมื่อควอนตัมคอมพิวติ้งพัฒนาไปสู่ระดับที่มีความเร็ว และขนาดที่ใหญ่ขึ้น ก็อาจช่วยให้เอไอประมวลผลข้อมูลได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไอบีเอ็มกำลังศึกษาอยู่ในขณะนี้

อีกแนวทางคือ การนำเอไอช่วยเร่งการพัฒนาควอนตัมคอมพิวติ้ง เช่น เร่งกระบวนการการพัฒนาโค้ดสำหรับควอนตัมคอมพิวติ้ง โดยวันนี้แพลตฟอร์ม watsonx ของไอบีเอ็มก็กำลังช่วยนักพัฒนาเขียนโค้ดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับการรันบนคอมพิวเตอร์ควอนตัม

แม้ยังต้องใช้เวลาอีก 4-5 ปีกว่าคอมพิวเตอร์ควอนตัมจะพร้อมใช้งานในวงกว้าง แต่สิ่งที่ต้องเริ่มแล้ววันนี้คือการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เพราะคอมพิวเตอร์ควอนตัมในอนาคตจะสามารถถอดรหัสการเข้ารหัสแบบดั้งเดิมอย่าง RSA ซึ่งถูกใช้มานาน และด้วยปริมาณข้อมูลมหาศาล กว่าองค์กรจะปรับเปลี่ยนสู่การเข้ารหัสแบบ Quantum Safe ได้สำเร็จอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี

ในอีกมุม อาชญากรไซเบอร์ก็ได้เริ่ม “Harvest Now, Decrypt Later” แล้ว โดยเริ่มขโมย และเก็บข้อมูลที่จะมีความสำคัญในระยะยาวไว้ แม้จะยังถอดรหัสข้อมูลเหล่านั้นไม่ได้ในวันนี้ แต่เมื่อถึงวันที่คอมพิวเตอร์มีความพร้อม องค์กรที่ไม่เตรียมพร้อมในเรื่องนี้อาจต้องรับความเสี่ยงจากการถูกโจมตี ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งในด้านธุรกิจ และความปลอดภัย

“ปีที่ผ่านมา สถาบันมาตรฐาน และเทคโนโลยีแห่งชาติของสหรัฐ (NIST) ได้เผยแพร่มาตรฐานการเข้ารหัสที่ Quantum Safe รวม 3 รายการ โดย 2 ใน 3 พัฒนาโดยนักวิจัยจากไอบีเอ็ม และพันธมิตร ขณะที่อีกอัลกอริทึมได้รับการพัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของทีม IBM Research ซึ่งมาตรฐานนี้จะเป็นหนึ่งในมาตรฐานที่ใช้แพร่หลายทั่วโลกในอนาคต” จูฮี อธิบาย

ในมุมไอบีเอ็ม นอกจากความพร้อมในเชิงเทคโนโลยีเอไอแล้วที่ผ่านมาไอบีเอ็มยังเป็นกุญแจสำคัญที่อยู่เบื้องหลังชีวิตประจำวันของผู้คน โดย 70% ของการทำธุรกรรมทั่วโลกรันอยู่บนระบบเมนเฟรมของไอบีเอ็ม ขณะที่ 93% ขององค์กร Fortune 500 ใช้ผลิตภัณฑ์ไฮบริดคลาวด์ของไอบีเอ็ม และล่าสุด ไอบีเอ็มยังนำเทคโนโลยีเข้าช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเพื่อสร้างประสบการณ์สุดล้ำให้กับแฟน Ferrari F1 หลายล้านคนทั่วโลก

“ท้ายที่สุดแล้ว องค์กรที่เปิดรับกระบวนทัศน์การทำงานรูปแบบใหม่ พร้อมจะปรับองค์กรสู่การเปลี่ยนแปลงสำคัญ 5 ประการด้านเอไอ จะเป็นองค์กรที่พร้อมจะคว้าโอกาสในยุคใหม่ของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ” เธอกล่าวทิ้งท้าย

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/1173003