จีนล้อมคอก AI ออกกฎใหม่ กำกับเข้ม หวังสกัดข่าวลวง ป้องกันฉ้อโกง

Share

Loading

จีนประกาศกฎเหล็กใหม่ บังคับให้เนื้อหาทุกชนิดที่สร้างโดย AI ต้องมีป้ายกำกับอย่างชัดเจน ทั้งแบบที่มองเห็นได้ด้วยตาและแบบที่ซ่อนอยู่ในข้อมูลดิจิทัล (Metadata) โดยกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2025 เป็นต้นไป ถือเป็นมาตรการเข้มข้นที่มุ่งสกัดกั้นข่าวปลอม ลดการละเมิดลิขสิทธิ์ และป้องกันการฉ้อโกงที่ทวีความซับซ้อนขึ้นจากพัฒนาการอันก้าวกระโดดของ AI ขณะที่จีนเองก็เดินหน้าเร่งใช้เทคโนโลยีนี้ในภาคเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว

นโยบายนี้ออกโดยสำนักงานบริหารไซเบอร์สเปซของจีน (Cyberspace Administration of China – CAC) ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงความมั่นคงสาธารณะ และสำนักงานบริหารวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์แห่งชาติ กำหนดให้แพลตฟอร์มออนไลน์และนักพัฒนา AI ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเข้มงวด โดยทุกเนื้อหาที่สร้างจาก AI ไม่ว่าจะเป็นข้อความ ภาพ เสียง วิดีโอ หรือคอนเทนต์เสมือนจริง ต้องได้รับการตรวจสอบและติดฉลากกำกับก่อนเผยแพร่ หากมีเนื้อหาที่มีลักษณะเป็น AI-Generated Content แต่ขาดป้ายกำกับ แพลตฟอร์มต้องระบุให้ชัดเจน ขณะที่แอปพลิเคชันที่มีฟีเจอร์ AI ก็ต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติอย่างละเอียดก่อนนำขึ้นสู่ตลาด

มาตรการนี้เป็นการยกระดับการควบคุมที่เข้มงวดยิ่งขึ้น หลังจากจีนเริ่มออกกฎหมายเกี่ยวกับ deepfake และเนื้อหาสังเคราะห์ไปก่อนหน้านี้ แต่ความก้าวหน้าของโมเดล AI ใหม่ๆ อย่าง DeepSeek ทำให้เกิดข้อถกเถียงว่ากฎเกณฑ์เดิมยังเอาอยู่หรือไม่ และจีนต้องปรับกลยุทธ์อย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีล้ำหน้ากว่ากฎหมาย

กระแสสนับสนุนการกำกับดูแล AI กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด People’s Daily สื่อหลักของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้ออกบทความสนับสนุนข้อเสนอของ Li Dongsheng สมาชิกสภาประชาชนแห่งชาติ ที่เรียกร้องให้บังคับติดป้ายกำกับ AI เพื่อป้องกันการใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิด ขณะที่ Liu Xingliang ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตแห่งประเทศจีน (Data Centre of China Internet) ชี้ว่า นี่เป็น “ความจำเป็นทางปฏิบัติ” ที่ช่วยสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนา AI กับความรับผิดชอบต่อสังคม

Liu Xingliang เตือนว่าแม้ AI จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและการทำงาน แต่ก็สร้างปัญหาตามมา เช่น การลอกเลียนทางวิชาการ การหลอกลวงด้วย Deepfake และการแพร่กระจายของข้อมูลเท็จ ซึ่งอาจกระทบต่อความมั่นคงของสังคม

“เทคโนโลยีใหม่ทุกประเภทมักเติบโตอย่างไร้ข้อจำกัดในช่วงแรก แต่เมื่อผลกระทบด้านลบเริ่มชัดเจน การกำกับดูแลที่เหมาะสมย่อมเป็นสิ่งจำเป็น” เขากล่าว

หากพิจารณาให้ลึกซึ้ง กฎระเบียบใหม่นี้สะท้อนถึงหลายประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณา หนึ่ง จีนต้องการเป็นผู้นำในการควบคุม AI ซึ่งอาจไม่ใช่แค่เพื่อลดปัญหาข่าวปลอมหรืออาชญากรรมไซเบอร์ แต่ยังเป็นการสร้างมาตรฐานระดับโลกที่อาจกลายเป็นต้นแบบให้ประเทศอื่นๆ

สอง AI กำลังกลายเป็นเครื่องมือสำคัญทางเศรษฐกิจและการเมืองการพัฒนาของ DeepSeek แสดงให้เห็นว่า AI ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีทั่วไป แต่เป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ที่จีนต้องการควบคุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สื่อสารมวลชน และความมั่นคง

สาม กฎระเบียบนี้ช่วยสร้างความไว้วางใจใน AI การกำหนดให้ติดป้ายกำกับชัดเจนช่วยลดความกังวลของประชาชน ทำให้ AI ถูกใช้ในทางที่สร้างสรรค์มากขึ้น

สี่ บีบแพลตฟอร์มออนไลน์ให้รับผิดชอบมากขึ้น จากการบังคับให้แพลตฟอร์มต้องตรวจสอบและกำกับดูแลเนื้อหา AI อาจเพิ่มต้นทุนทางธุรกิจ แต่ในระยะยาวจะช่วยลดปัญหาทางกฎหมายและเสริมสร้างความน่าเชื่อถือ

จีนกำลังสร้างมาตรฐานใหม่ในการกำกับดูแล AI ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยี นักพัฒนาแพลตฟอร์ม และผู้บริโภค กฎหมายใหม่นี้เป็นมากกว่าการสกัดข่าวปลอม แต่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการควบคุมเทคโนโลยี สร้างความโปร่งใส และรักษาความมั่นคงของสังคม ขณะที่โลกตะวันตก โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ก็กำลังออกกฎหมาย AI ในทิศทางเดียวกัน กฎของจีนจึงอาจกลายเป็น “แม่แบบ” สำหรับแนวทางการกำกับดูแล AI ระดับโลกในอนาคต

สังคมอุดมคติ เมื่อ AI ถูกลากไส้

ในยุคที่ข้อมูลท่วมท้นและการตัดสินใจของผู้คนได้รับอิทธิพลจากอัลกอริทึมมากขึ้น เหตุใดกฎระเบียบ AI ใหม่ของจีนที่กำหนดให้เนื้อหาที่สร้างโดย AI ต้องมีป้ายกำกับอย่างชัดเจน อาจเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างวัฒนธรรมการคิดวิเคราะห์และลดการบริโภคข้อมูลอย่างไร้การไตร่ตรอง

ลดการแพร่กระจายของข่าวปลอมและการบิดเบือนข้อมูล

ปัจจุบัน ข่าวปลอม (Fake News) และข้อมูลบิดเบือน (Misinformation/Disinformation) แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเมื่อ AI สามารถสร้างภาพปลอม คลิปเสียงปลอม หรือวิดีโอ Deepfake ได้อย่างแนบเนียน การที่จีนกำหนดให้เนื้อหาเหล่านี้ต้องมีป้ายกำกับ ช่วยให้ประชาชนรับรู้ว่าข้อมูลที่เห็นอาจถูกสร้างขึ้นโดย AI ไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป

สิ่งนี้จะช่วยลดความเสี่ยงที่สังคมจะถูกชักนำไปในทางที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ หรือเหตุการณ์สำคัญระดับโลก เช่น การบิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาด สงคราม หรือข่าวอื้อฉาวของบุคคลสาธารณะ ฯลฯ

กระตุ้นให้ประชาชนใช้วิจารณญาณมากขึ้น

การบริโภคข่าวสารในปัจจุบันมีลักษณะ “อ่านผ่านๆ เชื่อเร็ว และแชร์ทันที” โดยไม่ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์ หลายคนตัดสินใจจากพาดหัวข่าวหรือภาพประกอบมากกว่าการพิจารณาเนื้อหาที่แท้จริง

การมีป้ายกำกับว่า “เนื้อหานี้สร้างโดย AI” จะช่วยให้ผู้ใช้ฉุกคิดและตั้งคำถามกับข้อมูลที่ได้รับ เช่น นี่เป็นข้อเท็จจริงหรือเป็นเพียงเนื้อหาที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อกระตุ้นอารมณ์?, ข้อมูลนี้ผ่านการตรวจสอบจากแหล่งที่เชื่อถือได้หรือไม่? หรือมีแหล่งข่าวอื่นที่ยืนยันข้อมูลนี้หรือไม่?

เมื่อผู้คนเริ่มตั้งคำถามกับข้อมูลมากขึ้น สังคมก็จะลดการตกเป็นเหยื่อของการชักนำทางความคิดและพัฒนา “ภูมิคุ้มกันทางปัญญา” ที่แข็งแกร่งขึ้น 

ช่วยลดอิทธิพลของอัลกอริทึมต่อพฤติกรรมมนุษย์

ทุกวันนี้อัลกอริทึมโซเชียลมีเดียและ AI Recommendation Systems คอยคัดกรองเนื้อหาที่ถูกใจเรามากที่สุด ทำให้ผู้คนรับข้อมูลที่สอดคล้องกับความเชื่อของตัวเองเท่านั้น (Echo Chamber Effect)

เมื่อ AI-Generated Content ถูกบังคับให้เปิดเผยตัวตน ผู้ใช้จะเริ่มตระหนักว่า บางสิ่งที่พวกเขาอ่านหรือดูนั้นถูกออกแบบมาให้ดึงดูดความสนใจมากกว่าการให้ข้อมูลที่เป็นกลาง จึงอาจช่วยลดอิทธิพลของฟองสบู่ข้อมูล (Filter Bubble) และกระตุ้นให้คนมองหาแหล่งข่าวที่หลากหลายมากขึ้น

“ฟองสบู่ข้อมูล“ กับดักทางปัญญาที่ทำให้เราเห็นโลกแค่ครึ่งใบ

เคยสังเกตไหมว่าเนื้อหาที่เราเห็นบนโซเชียลมีเดียหรือแพลตฟอร์มออนไลน์มักเป็นเรื่องที่ตรงกับความสนใจของเราเสมอ? ถ้าเราชอบการลงทุน ฟีดของคุณจะเต็มไปด้วยข่าวเศรษฐกิจ ถ้าเรารักการทำอาหาร วิดีโอสูตรเด็ดจะโผล่มาทุกวัน และถ้าเรามีแนวคิดทางการเมืองแบบหนึ่ง ก็จะเห็นแต่ข่าวที่สนับสนุนมุมมองของเราอย่างแนบเนียนโดยไม่รู้ตัว ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่มันคือผลของ “ฟองสบู่ข้อมูล” ซึ่งไม่ต่างจาก “กบในกะลา” คือ กลไกที่อัลกอริทึมสร้างขึ้นเพื่อให้เราจมอยู่กับเนื้อหาที่เราชื่นชอบ ขณะที่ข้อมูลที่แตกต่างหรือขัดแย้งกับความคิดของเราจะถูกผลักออกไปโดยอัตโนมัติ

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ เราอาจคิดว่าทุกคนบนโลกเห็นและเชื่อในสิ่งเดียวกับเรา เพราะไม่เคยได้รับข้อมูลที่ต่างออกไป ทำให้มุมมองของเราค่อยๆ แคบลงโดยไม่รู้ตัว และบางครั้งอาจทำให้เกิด “ความมั่นใจผิดๆ” ว่าสิ่งที่เราเห็นคือความจริงทั้งหมด

ฟองสบู่ข้อมูลไม่ได้เป็นเพียงปัญหาส่วนบุคคล แต่มันกำลังสร้างรอยแยกในสังคม เมื่อแต่ละฝ่ายได้รับแต่ข่าวที่สนับสนุนความเชื่อของตนเอง การถกเถียงอย่างสร้างสรรค์จึงลดลง และความขัดแย้งทางความคิดก็รุนแรงขึ้น 

การหลุดออกจากฟองสบู่ข้อมูลอาจไม่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ ทางออกคือการตั้งคำถามกับสิ่งที่เราเสพ หยุดพึ่งพาแหล่งข่าวเดิมๆ หมั่นตรวจสอบข้อมูลจากหลายมุมมอง และที่สำคัญ อย่าปล่อยให้อัลกอริทึมเป็นผู้กำหนดสิ่งที่เราควรรู้ เพราะหากเราไม่รู้เท่าทัน เราอาจกลายเป็นเหยื่อของโลกที่ถูกออกแบบมาให้เราเห็นเพียงครึ่งเดียว โดยที่ไม่รู้เลยว่ายังมีอีกครึ่งหนึ่งที่เราไม่เคยได้สัมผัส

ทำให้ AI ถูกใช้ในเชิงสร้างสรรค์มากกว่าการหลอกลวง

ป้ายกำกับ AI ไม่ได้เป็นผลดีเฉพาะผู้บริโภคข่าวสารเท่านั้น แต่ยังช่วยให้นักพัฒนาและแพลตฟอร์มต่างๆ ต้องรับผิดชอบต่อการใช้งาน AI มากขึ้น เช่น  บริษัทที่ใช้ AI ในการสร้างเนื้อหาทางการตลาดต้องโปร่งใสกับผู้บริโภค, นักพัฒนาต้องปรับปรุงเทคโนโลยี AI ให้มีจริยธรรมมากขึ้น และสื่อที่นำ AI มาใช้ต้องมีมาตรฐานด้านจริยธรรมที่เข้มงวดขึ้น 

ในระยะยาว AI อาจกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยขับเคลื่อนสังคมในทางที่ดี แทนที่จะเป็นอาวุธที่ใช้สร้างความเข้าใจผิด และก่อให้เกิดความร้าวฉานในสังคม

กฎระเบียบ AI ใหม่นี้ของจีน ช่วยสังคมให้ “ฉลาดขึ้น” หรือไม่?

การบังคับให้ AI-Generated Content ต้องมีป้ายกำกับ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างวัฒนธรรมการบริโภคข้อมูลอย่างมีวิจารณญาณ ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดแคลนและแร้นแค้นอย่างหนักในโลกดิจิทัล

แม้ว่ากฎนี้อาจไม่ได้แก้ปัญหาการขาดการคิดวิเคราะห์ในสังคมได้ทั้งหมด แต่ก็ถือเป็น มาตรการสำคัญที่ช่วยลดอิทธิพลของข่าวปลอม กระตุ้นให้ผู้คนตั้งคำถามกับข้อมูล และส่งเสริมให้ AI ถูกใช้ในเชิงสร้างสรรค์มากขึ้น

ในอนาคต หากประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยนำแนวทางนี้ไปปรับใช้ AI อาจไม่เพียงแค่เป็นเครื่องมือในการสร้างเนื้อหาที่ดี มีคุณภาพและสร้างสรรค์มากขึ้นเท่านั้น แต่ยังสามารถเป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และทำให้มนุษย์สามารถแยกแยะความจริงได้อย่างชัดเจนและลึกซึ้งยิ่งขึ้นด้วย

แหล่งข้อมูล

https://www.salika.co/2025/03/22/china-new-ai-regulation/