‘ดีอี’ ชงครม.ไฟเขียวก.ม.ไซเบอร์ฯ คุมสินทรัพย์ดิจิทัล

Share

Loading

ดีเดย์ 8 เม.ย.นี้ พ.ร.ก.ป้องฯอาชญากรรมออนไลน์ให้แบงก์-ค่ายมือถือร่วมรับผิด พร้อม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ฉบับแก้ไขเข้าครม.อนุมัติ คาดมีผลบังคับใช้ก่อนวันสงกรานต์

วันที่ 4 เมษายน 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกระทรวงดีอี (Top Executives) ครั้งที่ 3/2568 โดยมีนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดีอี นางปิยนุช วุฒิสอน รองปลัดกระทรวงดีอี พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดีอี

โดยที่ประชุมมีการรายงานความคืบหน้ากรณีที่รัฐบาลเตรียมเสนอร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) 2 ฉบับสำคัญเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 8 เม.ย.จะถึงนี้ ได้แก่ พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2566 และ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล โดยทั้ง 2 ฉบับผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และมีการปรับปรุงรายละเอียดร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจของแต่ละหน่วยงาน

สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.ก.ที่เสนอเข้าที่ประชุม แยกภารกิจตามลักษณะของปัญหา โดย พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล จะมุ่งควบคุมธุรกรรม P2P (peer-to-peer) ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี โดยให้อำนาจ ก.ล.ต. ในการกำกับดูแล รวมถึงการจัดการกับแพลตฟอร์มต่างชาติที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานในไทย เช่น ใช้ภาษาไทยหรือบัญชีธนาคารไทย หากไม่ขออนุญาตจะมีโทษตามกฎหมาย โดยก.ล.ต. จะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล และตรวจสอบ หากผิดกฎหมาย จะเสนอกลับมาให้อำนาจกระทรวงดิจิทัลฯ ปิดกั้นการเข้าถึงแพลตฟอร์มดังกล่าวทันที

ในส่วนของ พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมออนไลน์ทางเทคโนโลยีจะมุ่งเน้นการรับมืออาชญากรรมไซเบอร์ โดยเฉพาะการหลอกลวงผ่านลิงก์และระบบออนไลน์ต่าง ๆ ทั้งนี้ได้กำหนดให้ผู้ให้บริการ เช่น ธนาคาร ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และแพลตฟอร์มโซเชียล ต้องมีมาตรการควบคุม หากละเลยจนเกิดความเสียหายจะต้องร่วมรับผิดชอบ พร้อมให้อำนาจ ปปง. ในการคืนเงินเหยื่อได้ หากสามารถพิสูจน์เส้นทางการเงินได้ชัดเจน โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาลเหมือนในอดีต

นอกจากนี้ หาก ครม.เห็นชอบแล้วใน กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ทันที  ไม่ต้องรอรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา 30 วัน เพื่อให้สามารถรับมือภัยคุกคามทางดิจิทัลได้อย่างทันท่วงที โดยคาดว่าจะบังคับใช้ก่อนวันสงกรานต์นี้

“เราเสนอไป 1 กฎหมาย แต่ทางกฤษฎีกาตอบกลับมาแยกออกเป็น 2 ร่างกฎหมายนี้มีเป้าหมายชัดเจนในการอุดช่องโหว่กฎหมายเดิม เพิ่มอำนาจให้หน่วยงานกำกับดูแล และปกป้องประชาชนจากภัยออนไลน์ โดยยังคงรักษาหลักสิทธิเสรีภาพตามกรอบกฎหมาย”

นายประเสริฐ กล่าวอีกว่า การประชุมในครั้งนี้ มีวาระการหารือเรื่องของการเร่งรัดดำเนินการของหน่วยงานกระทรวงดีอี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆ โดยส่วนใหญ่มีหน้าที่ในการสนับสนุนข้อมูล การจัดเก็บข้อมูลและการเชื่อมต่อระบบคลาวด์นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการกำหนดนโยบายด้านภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการศึกษาผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย

แหล่งข้อมูล

https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1174513