ในยุคที่ถนนทุกสายมุ่งสู่เส้นทางแห่ง “ความยั่งยืน” อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ก็เป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่ต้องปรับตัว ไม่ใช่แค่เพื่อตอบโจทย์เทรนด์การท่องเที่ยวโลกเท่านั้น หากแต่เป็นการปรับตัวเพื่อตอบสนองทิศทางการพัฒนาประเทศอีกด้วย โดยเฉพาะการพัฒนาท่องเที่ยวไทยที่นอกจากจะเดินหน้าสนับสนุน Responsible Tourism หรือการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แล้ว ยังมีการหยิบเอาแง่มุมหรือเสน่ห์ในการท่องเที่ยวที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยมาผสมผสานให้เป็นการท่องเที่ยวไทยในรูปแบบใหม่ด้วย ได้แก่ Local Tourism การท่องเที่ยวชุมชน และ Gastronomy Tourism การท่องเที่ยวเชิงอาหาร
เพื่อศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ ตลอดจนแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย กองวิจัยการตลาดการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้รวบรวมบทสรุปสำคัญจากผลงานการวิจัยซึ่งดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ในปี 2567 จำนวน 3 ผลงาน ประกอบด้วย
Responsible Tourism พฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
วัตถุประสงค์สำคัญในการทำงานวิจัยก็เพื่อระบุถึงพฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างประเทศในกลุ่ม Responsible Tourism ที่เดินทางมายังประเทศไทย โดยการศึกษาครั้งนี้เป็นการจัดเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ เพื่อเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต้นทาง จำนวน 800 ราย ใน 8 ประเทศเป้าหมาย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย ซึ่งได้ทำการคัดกรองกลุ่มตัวอย่างจากการตรวจสอบใน 2 มิติ คือ ด้านจุดมุ่งหมาย และด้านพฤติกรรม ในองค์ประกอบต่างๆ เช่น การอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และสิ่งแวดล้อม และการลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด การสนับสนุนสินค้าและบริการท้องถิ่น หรือการเข้าร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ เช่น กิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งพฤติกรรมภาพรวมของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีต่อการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมีความแตกต่างกันไปตามเชื้อชาติ
จากผลการศึกษาข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมถือเป็นหนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศไทย โดยกลุ่มตัวอย่างจากการศึกษาในครั้งนี้ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติใน 2 มิติหลัก ได้แก่ ด้านจุดมุ่งหมาย และด้านพฤติกรรม ผ่านองค์ประกอบต่างๆ ที่ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
โดยพบว่า เมื่ออยู่ในประเทศต้นทางนักท่องเที่ยวจะมีพฤติกรรมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่เมื่อเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่สามารถปฏิบัติตนตามแนวทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ตามที่คาดหวัง และจะสามารถปฏิบัติได้เพียงบางพฤติกรรมเท่านั้น เช่น การเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมและกฎระเบียบของสถานที่ การแยกขยะ
ดังนั้น การนำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการจึงควรนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับความสนใจของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้และจุดแข็งของประเทศไทย เช่น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประเพณี และสอดแทรกองค์ประกอบหรือมาตรฐานการรับรองด้านการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในแต่ละ Touchpoint ของนักท่องเที่ยวเพิ่มเติม เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้จากหลายช่องทาง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้
Local Tourism การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวในไทย
ผลงานวิจัยนี้ จัดทำขึ้นเพื่อมุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์อันทรงคุณค่า โดยเฉพาะการส่งเสริมอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น ทั้งวัฒนธรรม วิถีชีวิต อาหาร และธรรมชาติ ที่จะสามารถทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพชาวไทย เกิดการกระจายตัวการเดินทางทั้งในเชิงพื้นที่และช่วงเวลา สร้างโอกาสในการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น
ททท. จึงได้ศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทยต่อการท่องเที่ยวชุมชน รวมถึงสัมภาษณ์เชิงลึกกับตัวแทนชุมชนท่องเที่ยว ทั้งในแง่กลยุทธ์เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน รวมถึงการประเมินและวิเคราะห์ชุมชนท่องเที่ยว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวในประเทศไทย มุ่งสู่การท่องเที่ยวที่มีความหมายและตอบโจทย์ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
การประเมินและวิเคราะห์ชุมชนท่องเที่ยว สามารถแบ่งระดับขั้นการพัฒนาได้ 3 ระดับ ได้แก่ กลุ่มชุมชนระดับขั้นเริ่มต้น กลุ่มชุมชนที่เห็นโอกาสจากการพัฒนาผลงานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มชุมชนที่กำลังเข้าสู่ความยั่งยืน
1.กลุ่มชุมชนระดับขั้นเริ่มต้น
ให้เริ่มตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ กำหนดทิศทางคนส่วนใหญ่ของชุมชนให้สอดรับไปกับเป้าหมายของหน่วยงานรัฐ เช่น เกณฑ์ SDGs เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม และแนะนำให้เริ่มรวมกลุ่มกันเพียงแค่กลุ่มย่อย 6-7 ครอบครัว ทำให้คล่องตัวในการจัดการการท่องเที่ยว เริ่มจากการรับนักท่องเที่ยวจำนวนไม่มาก เน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่เต็มใจพร้อมจะจ่าย และดำเนินการจัดสรรนักท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ ให้สอดคล้องกับความสามารถในการรองรับของแต่ละกิจกรรม ขณะเดียวกัน ต้องสนับสนุนให้ชุมชนใช้ Social Media ในการประชาสัมพันธ์ชุมชนท่องเที่ยวให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ควบคู่ไปกับการเปิดรับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ ททท. เช่น มีการนำเชฟมิชลินมาอบรมเชฟท้องถิ่น เป็นต้น
2.กลุ่มชุมชนที่เห็นโอกาสจากการพัฒนาผลงานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง
ชุมชนท่องเที่ยวส่วนใหญ่มองเห็นศักยภาพและโอกาสของชุมชนในการพัฒนาที่ชัดเจน และกำลังมุ่งหน้าไปสู่การจัดการการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยต่อยอดสิ่งดึงดูดใจอยู่แล้วในชุมชน และใช้ประโยชน์จากทุนเหล่านั้นสร้างอัตลักษณ์ของชุมชน จากนั้นให้โฟกัสที่การบริหารจัดการองค์กรและชุมชน อย่างการกำหนดแนวทางมาตรฐานในการต้อนรับของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง รวมกลุ่มสร้างมาตรฐานและการจัดการหลังบ้านของชุมชนเพื่อการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ยั่งยืน
อย่างไรก็ดี จากการทำงานวิจัยนี้ทำให้เห็นปัญหาว่ากลุ่มชุมชนท่องเที่ยวในระดับนี้ จะประสบปัญหาการถูกผูกติดและพึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นหลักเท่านั้น ทำให้เกิดความเสี่ยงด้านรายรับที่เข้ามา จึงจำเป็นต้องมีการเพิ่มการประชาสัมพันธ์และการรณรงค์ เชิญชวนเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้นในช่วง Low Season ด้วย เพื่อให้เกิดรายได้สม่ำเสมอ
3.กลุ่มชุมชนที่กำลังเข้าสู่ความยั่งยืน
ชุมชนท่องเที่ยวส่วนใหญ่ผ่านจุดของการพัฒนาเข้าสู่ระดับขั้นอยู่ตัวฟื้นตัว มีความยั่งยืน (Rejuvenating Stage) ซึ่งภาพรวมส่วนมากจะสามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้ จนกระทั่งหลายพื้นที่เป็นพื้นที่ศึกษาต้นแบบของชุมชน บางพื้นที่ได้รับรางวัลเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กร แต่ความท้าทายของกลุ่มชุมชนท่องเที่ยวที่กำลังเข้าสู่ความยั่งยืน คือ การต้องควบคุมผลกระทบเชิงลบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการบริหารจัดการได้อย่างยั่งยืน
โดยตัวชี้วัดที่ทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ คือ การมีนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องแม้อยู่ในช่วง Low Season ด้วย เพื่อให้เกิดรายได้สม่ำเสมอ และการพัฒนากลุ่มชุนท่องเที่ยวนี้ให้บริหารจัดการการท่องเที่ยวได้แบบ Smart Tourism โดยการเก็บข้อมูลเป็น Data มาสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่ การใช้เครื่องมือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการองค์ความรู้และบริหารจัดการ ตลอดจนอบรมให้ความรู้ชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง เช่น อบรมเรื่องการใช้ Smart Phone / QR Code / Social Media
Gastronomy Tourism การท่องเที่ยวเชิงอาหารกับการเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยวให้ อุตสาหกรรมการท่องที่ยวไทย
การศึกษาแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวของประเทศไทย จัดทำเพื่อศึกษาข้อมูลภาพรวมและแนวโน้มด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารในระดับโลกและประเทศไทย รวมถึงศึกษากรณีตัวอย่างของอุปทานที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อให้ ททท. มีข้อมูลแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นความยั่งยืนและการส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น
โดยรายงานผลการวิจัยจากโครงการศึกษาแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวของประเทศไทย ได้ผลการศึกษาเกี่ยวกับแนวโน้มการท่องเที่ยวเชิงอาหารทั้งในระดับโลกและประเทศไทย จากการวิเคราะห์ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ยกตัวอย่าง
ความตระหนักในสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนในการท่องเที่ยวทั่วไป รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงอาหารด้วย เช่น การท่องเที่ยวเชิงอาหารที่เน้นวัตถุดิบอินทรีย์จากแหล่งท้องถิ่น
นวัตกรรมและศาสตร์แขนงใหม่ๆ ในการประกอบอาหาร จากการที่โลกแห่งการทำอาหารกำลังเผชิญกับกระแสนวัตกรรม เทคโนโลยี และศาสตร์ใหม่ๆ ทำให้เกิดการผลักดันให้เชฟขยายขอบเขตของการทำอาหารแบบดั้งเดิม โดยผสมผสานวิทยาศาสตร์และศิลปะในครัวเข้าด้วยกัน
ผลการศึกษาในครั้งนี้ ได้ค้นพบ 4 แนวทางหลักในการเพิ่มมูลค่าให้กับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารของประเทศไทย ในการตอบสนองต่อแนวโน้มของโลกและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ดังนี้
1.การพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem Development) : การสร้างระบบนิเวศที่ทำให้เกิดการผนึกกำลังในห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ปลูก ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว นักการตลาด ฯลฯ
2.การสร้างเมืองอาหาร (Gastronomy City Creation) : เมืองอาหารที่ไม่เหมือนใคร มีศักยภาพสูงในการเป็นจุดหมายปลายทางที่ต้องมาเยือน (Must-visit destination) ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.การเล่าเรื่อง (Storytelling) : การเล่าเรื่องเชิงสร้างสรรค์มีพลังในการเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวกับวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของท้องถิ่น การออกแบบการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาและคุณประโยชน์ของวัตถุดิบ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เทคนิคการปรุง หรืองานศิลปะ เทคโนโลยี สุนทรียศาสตร์ที่นำมาประกอบกับการออกแบบอาหารแต่ละจาน สามารถสร้างประสบการณ์ที่ลึกซึ้งและน่าจดจำได้
4.การพัฒนาข้ามภาคส่วน (Cross-Sectoral Development) : ความร่วมมือข้ามภาคส่วนที่อยู่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น การมีส่วนร่วมของช่างฝีมือ นักออกแบบในสาขาต่างๆ ผู้ผลิต นักโภชนาการ นักดนตรี นักออกแบบ ผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ และการมีส่วนร่วมของชุมชนที่หลากหลาย ช่วยทำให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหารมีความลึกซึ้ง เต็มไปด้วยความแปลกใหม่ และมีศักยภาพในการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลับมาเยือน
แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2025/04/07/3-research-for-tourism-development/