GISTDA เก็บข้อมูลความสูง ‘บั้งไฟ’ กระทบการบิน

Share

Loading

นายวสันชัย วงศ์สันติวนิช วิศวกรประจำศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาเชิงกลยุทธ์และปฏิบัติการด้านการบินและอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เปิดเผยว่า หลังจากเปิดทดลองใช้งานแอพพลิเคชั่น ‘บำเพ็ญ’ ซึ่งเป็นระบบสนับสนุนการบริหารจัดการควบคุมการจุดบั้งไฟ มาได้ 2 ปี ก็ได้ พัฒนาต่อยอดไปอีกขั้น ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ทดสอบความสูงที่มีการติดตั้งกับตัวบั้งไฟ เพื่อทดสอบระดับความสูงของบั้งไฟ และนำข้อมูลที่ได้มาช่วยในการประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการจัดทำแผนการบิน และการปฏิบัติงานของนักบิน

โดยการได้ความร่วมมือกับ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด เพื่อวิจัยทดสอบการตรวจวัดวิถีและความสูงของบั้งไฟ ด้วยอุปกรณ์ทดสอบความสูงของทางจิสด้า เพื่อตรวจสอบและเก็บข้อมูล โดยอาศัยการวัดค่าพิกัดด้วยจีพีเอสและการวัดค่าความกดอากาศในการคำนวณระดับความสูงที่ติดตั้งอยู่กับบั้งไฟ ตัวอุปกรณ์ดังกล่าวจะทำการบันทึก พร้อมประมวลผลข้อมูลตำแหน่งความสูงของบั้งไฟ ที่ได้จากสถานีรับสัญญาณภาคพื้น และแสดงผลเพื่อนำไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลอื่นๆ

จากนั้นข้อมูลทุกอย่างจะถูกส่งกลับมายังระบบ GISAVIA ซึ่งเป็นเครื่องมือภูมิสารสนเทศที่จิสด้าพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้บริหารจัดการด้านการคมนาคมทางอากาศและความปลอดภัยทางอากาศ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการจุดบั้งไฟแต่ละขนาด การจำกัดความสูงของบั้งไฟที่จะส่งผลผลกระทบต่อการคมนาคมทางอากาศ

ข้อมูลจากแอพพลิเคชั่น ‘บำเพ็ญ’ และระบบ GISAVIA จะสนับสนุนการยกระดับมาตรฐานอากาศยานไทย สู่การบริหารจัดการเทียบเท่าในระดับสากล ทั้งยังเป็นข้อมูลให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทางด้านอากาศยาน หรือ หน่วยงานงานทางภาคพื้นดิน จนนำไปสู่การบริหารจัดน่านฟ้าของประเทศไทยให้เกิดเป็นธูปธรรมอย่างยั่งยืน

ในปัจจุบัน การจุดบั้งไฟเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการคมนาคมทางอากาศ จากสถิติเมื่อปี 2562 จากการขอจุดบั้งไฟกว่า 5,900 บั้ง และมีนักบินพบเห็นบั้งไฟขณะทำการบินกว่า 25 ครั้ง (ข้อมูลจาก บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด) จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแอพพลิเคชั่น “บำเพ็ญ” ซึ่งเป็นระบบสนับสนุนการบริหารจัดการควบคุมการจุดบั้งไฟ จะช่วยแจ้งเตือนให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคมนาคมทางอากาศ ได้รับทราบถึงจุดหรือพิกัดที่จะมีการปล่อยบั้งไฟ เพื่อจะได้วางแผนในเส้นทางการบิน และไม่ให้เกิดอันตรายหรือผลกระทบกับการคมนาคมทางอากาศ ทั้งด้านทางทหาร ด้านพลเรือน ด้านการบินพาณิชย์ ในช่วงแรกของการพัฒนาได้นำระบบมาทดสอบใช้งานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นำร่อง 2 จังหวัดคือ ศรีสะเกษ และยโสธร

ที่ผ่านมามีการใช้ประโยชน์จากระบบดังกล่าวมาแล้วกว่า 2 ปี มีการออกใบอนุญาตแล้วไม่น้อยกว่า 1,425 ใบ ในพื้นที่นำร่อง 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ยโสธร หนองคาย อุดรธานีและศรีสะเกษ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการขยายผลให้สามารถใช้งานได้ทั่วประเทศ

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/871243?utm_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=innovation