นักวิจัยไบโอเทคเผย UV-C สามารถใช้ฆ่าเชื้อไวรัส COVID-19 บนหน้ากากอนามัยได้

Share

Loading

นักไวรัสวิทยาจากไบโอเทค ศึกษาหาวิธีกำจัดเชื้อโรคโดยเฉพาะไวรัสโคโรน่าบนหน้ากากอนามัย หวังเป็นตัวช่วยให้แพทย์นำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างปลอดภัย แก้ปัญหาหน้ากากฯ ขาดแคลน

จากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ที่ก่อโรคโควิด-19 นับเป็นภัยคุกคามสร้างความหวาดวิตกแก่ประชาชนอย่างมาก และการระบาดยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลงง่ายๆ ยิ่งทำให้เกิดการขาดแคลนหน้ากากอนามัยขั้นวิกฤติ เนื่องจากหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาที่ใช้ทางการแพทย์ และ N95 ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อที่แพร่ผ่านละอองฝอยในอากาศ

โดยทั่วไปแล้วไม่ควรใช้หน้ากากฯ ซ้ำมากกว่า 1 ครั้ง เพราะประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการป้องกันการติดเชื้อลดลง แต่ในสถานการณ์ที่มีโรคระบาดและทรัพยากรขาดแคลนทำให้มีความจำเป็นที่ต้องใช้ซ้ำ ดังนั้น ทางทีมวิจัยจึงพยายามหาวิธีทำลายเชื้อโรคอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังคงคุณสมบัติการป้องกันเชื้อโรคของหน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัยเพื่อนำกลับมาใช้ซ้ำได้อย่างปลอดภัย

ดร.อนันต์  จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) นักไวรัสวิทยาที่คร่ำหวอดในการศึกษาวิจัยไวรัสโคโรน่ามากว่า 10 ปี กล่าวว่า จากการวิจัยพบว่าการฆ่าเชื้อด้วยการฉายรังสีอัลตราไวโอเลต หรือ UV-C เพื่อนำหน้ากาก N95 และหน้ากากอนามัยกลับมาใช้ซ้ำในครั้งนี้เป็นความร่วมมือของหลากหลายองค์กร อาทิ ภาควิชาอายุรศาสตร์ ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หรือ ไบโอเทค ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์แห่งชาติ และบริษัท Bria

ทีมวิจัยได้พิจารณาวิธีกรทำลายเชื้อโรคทั้ง 4 วิธี ได้แก่

1.การฉายรังสีแกมมา พบว่าสามารถทำลายเชื้อโรคได้ดี ทะลุผ่านพื้นผิวได้ดี แต่จากการศึกษาพบว่าอาจทำลายเส้นใยสังเคราะห์ของหน้ากากชนิด พอลิโพรไพลีน (Polypropylene) ได้

2.การอบแก๊ส เอทธิลีนออกไซด์(Ethylene oxide) ซึ่งเป็นวิธีการทำลายเชื้อโรคที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในโรงพยาบาล และใช้สำหรับหน้ากากได้ แต่อาจมีการตกค้างของแก๊สซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและเป็นพิษในหน้ากาก และแม้จะมีข้อมูลการอบแก๊สหน้ากากก่อนนำมาจำหน่ายแต่การนำมาใช้ซ้ำภายในระยะเวลาสั้นๆอาจทำให้แก๊สระเหยออกไม่หมดซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายได้

3.การอบความร้อน นับเป็นวิธีที่เหมาะสมแต่จะต้องใช้ความร้อนที่พอดีสำหรับทำลายเชื้อ และไม่ร้อนเกินไปจนเส้นใยของหน้ากากเสียหาย

4.การฉายรังสีอัลตราไวโอเลต หรือ UV-C จากการทดสอบประมาณ 30 นาทีพบว่า สามารถทำลายเชื้อโควิด-19 ได้ ทั้งยังทำลายเชื้อแบคทีเรียก่อโรคที่สะสมอยู่ในหน้ากาก และจากการทดสอบนั้นพบว่าเส้นใยไม่เสียหายจนเสียประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อโรคอีกด้วย

จากการทดสอบเบื้องต้น โดยตัดหน้ากากออกเป็นชิ้นสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก วางในจานเพาะเชื้อ จากนั้นก็นำเชื้อไวรัสโคโรนาที่สร้างขึ้นเองในห้องปฏิบัติการ มาผสมกับสารอาหารเลี้ยงเซลล์ ฉีดลงบนหน้ากากอนามัยที่อยู่ในจานเพาะเชื้อ แล้วนำไปฆ่าเชื้อด้วยแสงยูวี ประมาณ 30 นาที เมื่อเสร็จแล้วนำมาผสมกับสารอาหารเลี้ยงเซลล์อีกครั้ง ทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิห้อง 4 องศาเซลเซียส เพื่อสกัดไวรัสที่หลงเหลืออยู่ให้ออกมาจากพื้นผิวของหน้ากากอนามัย ก่อนนำไปใส่ในเซลล์ใหม่ และเมื่อส่องกล้องดูได้ผลสรุปว่า พบแต่เซลล์เรืองแสงสีน้ำเงินล้วน ไม่มีเซลล์สีแดง ซึ่งหมายความว่าสามารถลดจำนวนเชื้อแบคทีเรียลงได้ และไม่พบเชื้อไวรัสโคโรนาหลงเหลืออยู่

ขณะเดียวกันการนำหน้ากากอนามัยกลับมาใช้ใหม่ด้วยวิธีการนี้ ดร.อนันต์ ยืนยันว่ามีความปลอดภัยกว่าการฉีดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ การใช้ความร้อน หรือการนำไปซัก ซึ่งอาจทำให้วัสดุเสื่อมสภาพและสุ่มเสี่ยงติดเชื้อแบคทีเรีย นี่จึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับบุคลากรทางแพทย์ที่ไม่ได้ป่วย หรือต้องสัมผัสกับเชื้อโควิด-19 โดยตรง ทั้งนี้หากกังวลว่าความเข้มของแสงยูวีทางการแพทย์อ่อนไป ก็ควรเพิ่มเวลาในการฆ่าเชื้อให้นานขึ้นจาก 30 นาที เป็น 1 ชั่วโมง เพียงเท่านี้ก็สามารถนำหน้ากากอนามัยกลับมาใช้ใหม่ได้แล้ว

ดร.อนันต์  อธิบายเสริมว่า ส่วนทางด้าน N95 นั้นจากการฉายแสงพบว่าด้านนอกของหน้ากากที่ผ่านการใช้งานแล้ว ไม่ได้สัมผัสสารคัดหลั่งชัดเจน หลังฉายแสงยูวีกลับไม่พบแบคทีเรีย ส่วนด้านในของหน้ากาก N95 มีการพบเชื้อแบคทีเรียทั่วไปไม่ใช่เชื้อก่อโรค ซึ่งเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่ตายทันทีหลังการฉายแสง 11 นาที  ซึ่งเชื้อแบคทีเรียที่กำจัดยากที่สุดคือ บริเวณด้านในของหน้ากากอยู่ในส่วนที่เป็นรอยพับ โดยเชื้อแบคทีเรียส่วนใหญ่จะตายหลังจากที่ฉายแสง 32 นาที แต่เมื่อยังพบเชื้อซึ่งไม่ใช่ชื้อก่อโรคในมนุษย์มีจำนวนลดลงหลังจากที่ฉายรังสียูวี 64 นาที ซึ่งจากการทดสอบผลผ่านเทคนิคจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบสแกนนิง (Scanning Electron Microscopy) พบว่าการฉายแสงยูวีในเครื่องอบขนาด 4W นานถึง 240 นาที ไม่มีผลต่อเส้นใย N95 แต่ยังไม่มีการทดสอบด้วยเครื่องอบที่ซื้อได้ทั่วไป

ทั้งนี้ การฉายรังสี UV-C ควรจะต้องมีการระมัดระวังเป็นพิเศษ หากสัมผัสโดนผิวหนังจะทำให้ผิวหนังเกิดการไหม้ได้ ทั้งยังก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนังอีกด้วย ดังนั้นจึงควรเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงหรือมองผ่านตาโดยตรงเนื่องจากอาจก่อให้เกิดต้อกระจกตามมา

ที่มา :

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/873512?utm
_source=category&utm_medium=internal_referral&utm_
campaign=innovation