เฮลท์เทคไทยนำเทคโนโลยี AI และ Telehealth ช่วยแพทย์คัดกรองผู้ป่วยCOVID-19

Share

Loading

สมาคมเฮลท์เทคจึงร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เครือข่ายโรงพยาบาล กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทยนำเทคโนโลยี AI และ Telehealth เพื่อเข้ามาช่วยลดงานบุคลากรทางการแพทย์ ในการรับมือกับผู้ป่วยCOVID-19

นายจักร โกศัลยวัตร นายกสมาคมเฮลท์เทคไทย เปิดเผยว่า จำนวนผู้ป่วยCOVID-19เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งมาตรการที่จะถูกนำมาใช้ คือ การลดจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังหรือโรคที่ไม่รุนแรงที่จะเข้ารักษาในโรงพยาบาล เพื่อสำรองทรัพยากรสาธารณสุขในการให้ การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง ทั้งนี้จากการประมาณการจำนวนผู้ป่วยปัจจุบันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และโรงพยาบาลภาคีเครือข่ายรวม 50 โรงพยาบาล พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยราว 4,000,000 คนต่อเดือน จึงได้มีการนำเทคโนโลยี Telehealth & AI เพื่อมาประยุกต์ใช้ในระบบการดูแลการแพทย์และสาธารณสุขทางไกล  เพื่อลดจำนวนผู้ที่เข้าโรงพยาบาลลงให้ได้อย่างน้อย 20% หรือราว 750,000 คนต่อเดือน ผ่านช่องทางออนไลน์ อาทิ แบบคัดกรองCOVID-19 ของโรงพยาบาลราชวิถี ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 500,000 ครั้ง หรือแบบคัดกรองของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีระบบแนะนำเบื้องต้นด้วย AI (MEDIC) สามารถให้คำแนะนำเบื้องต้นกับผู้ป่วยในการปฏิบัติตนหรือการเฝ้าระวัง เป็นต้น

ทั้งนี้ สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงจะไม่แนะนำให้ไปโรงพยาบาล แต่ควรที่จะปรึกษาแพทย์ทางไกลผ่านระบบ Telehealth แทน ซึ่งระบบนี้จะรองรับผู้ใช้งานประมาณ 200,000 คนต่อเดือน และจำนวนสูงสุดที่รับได้คือ 1,500,000 คนต่อวัน ประกอบด้วย แบบประเมินคัดกรองผู้ป่วยออนไลน์ สำหรับเทคโนโลยี AI ที่นำมาช่วยเก็บประวัติและติดตามอาการหรือ CovidCareBot ซึ่งเป็น AI ที่สามารถโทรศัพท์หาผู้ป่วยหรือกลุ่มเสี่ยงแบบอัตโนมัติ เพื่อเก็บข้อมูลประวัติ สอบถามอาการ ติดตามโดยผู้ใช้งานสามารถโต้ตอบด้วยเสียงพูด ระบบจะเก็บข้อมูลที่ได้ไปยังฐานข้อมูล เพื่อเป็นการช่วยลดภาระงานของบุคลากรในการโทรติดตามอาการ ซึ่งสามารถรองรับได้ 10,000-20,000 ครั้งต่อวัน และอาจขยายได้ถึง 100,000 ครั้งต่อวัน ขึ้นกับจำนวนคู่สายในระบบ หรือปรับเปลี่ยนเป็นการกรอกข้อมูลแบบออนไลน์

นอกจากนี้ยังมี AI ที่ใช้เทคโนโลยี Deep Learning ในการอ่านภาพเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อคัดกรองผู้ป่วยที่อาจมีความผิดปกติในทรวงอกและช่วย แพทย์ในการวินิจฉัยโรคเบื้องต้น เช่น ปอดอักเสบ และวัณโรคโดยจะวิเคราะห์สภาวะผิดปกติจากภาพเอกซเรย์ได้ทั้งหมด 14 สภาวะ มีความแม่นยำเฉลี่ยที่ 91% พร้อมระบุตำแหน่งที่พบความผิดปกติด้วยการไฮไลท์ เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจสอบและยืนยันอีกครั้งได้อย่างรวดเร็ว  ช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์รังสีในการช่วยวินิจฉัย ภาพเอกซเรย์ โดยที่โรงพยาบาลและสถานพยาบาลสามารถนำภาพเอกซเรย์ไปใช้เพื่อการคัดกรองCOVID-19 ได้ เนื่องจากถือเป็นโรคปอดอักเสบชนิดหนึ่งและมีโอกาสที่จะเห็นรอยโรคหรือความผิดปกติได้จากภาพเอกซเรย์เร็วกว่าการทดสอบแบบ RT-PCR 1-2 วัน ความเร็วในการคัดกรองภาพเอกซเรย์อยู่ที่ 500 ภาพต่อ 15 นาที NCDs Monitoring BOT เป็นแชทบอทที่ผู้ป่วย NCDs สามารถบันทึกข้อมูลสุขภาพ รวมถึงการให้คำแนะนำในการดูแลตนเองและปรับพฤติกรรมด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งพิจารณาจากระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต โดยสามารถรองรับผู้ใช้งานประมาณ 500,000 คนต่อเดือน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.thansettakij.com/content/tech/428630?utm_source=sub_category&utm_medium=internal_referral&utm_campaign=innovation