สวทช.ผนึก 12 หน่วยงาน ประกาศเจตนารมณ์ยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่ 4.0 ผ่านแพลตฟอร์ม IDA ผสาน IoT กับระบบวิเคราะห์ข้อมูล เชื่อมโยงการวิเคราะห์ข้อมูลจากเครื่องจักรการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต และอนุรักษ์พลังงาน
IoT เสริมแกร่งระบบข้อมูล
ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ปี 2564 ได้เสนอให้รัฐบาลลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อสนับสนุนการขยายผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ โดยการจัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน” ขึ้นภายในเขต ARIPOLIS ซึ่งเป็นหนึ่งในเมืองนวัตกรรมเป้าหมายภายใต้เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECI) ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะในอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจบีซีจี รวมทั้งสามารถตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรมใน EEC เป็นการช่วยลดช่องว่างของการพัฒนาอุตสาหกรรมและสามารถช่วยยกระดับการผลิตสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้ในอนาคต ผ่านทางเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม IDA
ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ – NECTEC กล่าวว่า IDA คือแพลตฟอร์มไอโอทีที่ช่วยติดตามวิเคราะห์ข้อมูล และตรวจสอบประสิทธิภาพการผลิต สามารถประยุกต์ใช้ได้หลายงาน เช่น
- การตรวจวัดปริมาณการใช้พลังงานในโรงงาน เพื่อเก็บข้อมูล วิเคราะห์ และปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงงาน
- การปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตและการใช้พลังงาน
- การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ เพื่อคาดการณ์สภาวะต่างๆ ของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อช่วยลดต้นทุน ปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพและแม่นยำ
ดัชนีชี้วัดความพร้อมสู่อุตสาหกรรม 4.0
IDA แพลตฟอร์มนับเป็นความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยสู่การเป็นประเทศนวัตกรรมตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นให้เกิดการยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริง หากอุตสาหกรรมสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ IDA แพลตฟอร์มได้โดยจะได้รับสิทธิ์ในการประเมินความพร้อม ในการก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยดัชนีชี้วัดความพร้อมอุตสาหกรรมสมัยใหม่ และการติดตั้งระบบมอนิเตอร์อัจฉริยะสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม โครงการนี้มีเป้าหมายในการขยายผลสู่ 500 โรงงานในระยะ 3 ปี ซึ่งในปี 2563 นี้จะมีการติดตั้งระบบในโรงงานอุตสาหกรรมนำร่อง จำนวน 10-20 โรงงาน โดยเป็นการร่วมทดสอบระบบและอุปกรณ์ที่ใช้ในแพลตฟอร์ม IDA เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถเชื่อมต่อกันได้กับผู้ผลิตเทคโนโลยีชั้นนำจากต่างประเทศ
หนุนทุนนำร่องทดลองใช้
ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กล่าวว่า ในการขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคดิจิทัลนั้นไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องเกิดจากการประสานความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนได้ ความร่วมมือในครั้งนี้ดีป้าจะเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อกับภาคผู้ประกอบการที่เป็นอุตสาหกรรม โดยเราร่วมมือลงไปให้คำปรึกษาในสถานที่ประกอบการจริง พร้อมสนับสนุนวงเงินสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อผู้ประกอบการในการนำร่องใช้งานแพลตฟอร์มโดยเป็นทุนให้เปล่า แต่อีกส่วนหนึ่งที่เป็นด้านครุภัณฑ์หรือเทคโนโลยี ผู้ประกอบการอาจจะต้องให้การสนับสนุนด้วยอย่างน้อย 40% และส่วนไหนที่สามารถแมชชิ่งได้อาจจะเป็นไปในรูปแบบคนละครึ่ง
พัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็น 1 ใน 13 หน่วยงานความร่วมมือครั้งนี้ กล่าวว่า กฟผ. มีนโยบายในการพัฒนาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมผ่านระบบ Smart Energy Digital Platform ซึ่งผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลกับระบบตรวจวัดอัจฉริยะ และประมวลผลข้อมูลด้วยระบบ IDA ซึ่งตอบโจทย์เป้าหมายของการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานสูงสุด
สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรม (สอท.) กล่าวเสริมว่า แพลตฟอร์ม IDA เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกเป็นอย่างมาก เนื่องจากจะทำให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมนั้น สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูงในราคาไม่สูงมาก เพราะว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาภายในประเทศโดยคนไทย
สุวรรณี สิงห์ฤาเดช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและซีอีโอ บริษัท ซีเมนส์ อินดัสเทรียล จำกัด หนึ่งในพันธมิตรภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ กล่าวว่า บทบาทของเราจะเป็นการนำนวัตกรรมมาเข้ามาสนับสนุนในพื้นที่อีอีซีไอ และในส่วนของ IDA เรามีบทบาทในการนำหัวใจสำคัญของผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัลของซีเมนส์ คือ มายด์สเฟียร์ (MindSphere) ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการไอโอทีแบบเปิด ทำงานบนระบบคลาวด์ของบริษัทซึ่งเชื่อมโยงสิ่งที่เป็นจริงเข้ากับโลกดิจิทัล และก่อให้เกิดการประยุกต์อุตสาหกรรมและบริการแบบดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพเพื่อขับเคลื่อนให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้
ขอขอบคุณแหล่งที่มา :