ขณะที่ทุกภาคส่วนกำลังเร่งหาแนวทางแก้ ปัญหาขาดแคลนน้ำ อย่างเต็มกำลัง เพื่อรองรับการเดินหน้าโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่จะเกิดการลงทุนในพื้นที่นี้เพิ่มมากขึ้นนี้เอง อีกฝากฝั่งหนึ่ง ก็ต้องสู้รบปรบมือกับการลักลอบแอบปล่อยน้ำเสียลงสู่คูคลองสาธารณะของโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง โดยปราศจากกระบวนการบำบัดที่ถูกต้อง
ทั้งที่ถ้าสามารถนำน้ำเสียมาผ่านกระบวนการบำบัดที่มีประสิทธิภาพ ก็ย่อมใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนใหม่ของอีอีซีได้เช่นกัน
ดังนั้น การวางระบบบำบัดน้ำเสียในภาคอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพเพื่อรองรับการลงทุนที่กำลังจะเข้ามาในพื้นที่ 3 จังหวัด อีอีซี ประกอบด้วย จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง จึงเป็นภารกิจที่จำเป็นเร่งด่วน
เพราะในอนาคตอันใกล้พื้นที่นี้ จะเป็นพื้นที่เป้าหมายที่มีผู้คนอพยพเข้ามามหาศาล ซึ่งเมื่อรวมประชากรเดิมในพื้นที่ ก็ยิ่งทำให้ความต้องการใช้น้ำในทุกภาคส่วนเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และสิ่งที่จะตามมาคือ ปัญหาขาดแคลนน้ำ รุนแรง ถ้าไม่เร่งจัดหาแหล่งน้ำต้นทุนใหม่ตั้งแต่ในวันนี้
เพื่อให้ทุกฝ่ายเห็นภาพ โมเดลต้นแบบของการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอยู่ในพื้นที่อีอีซี ฝ่ายสื่อสาร แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ จึงได้หยิบเอารูปแบบการบริหารจัดการน้ำ “อมตะซิตี้” ต้นแบบการรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ใน EEC ที่สามารถแก้ ปัญหาขาดแคลนน้ำ ช่วยประหยัดน้ำที่ใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรมได้ถึง 40% มาบอกเล่าให้ฟัง
ทำความรู้จัก อมตะซิตี้ ชลบุรี ต้นแบบของความตื่นตัว ร่วมแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอย่างจริงจัง
นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี นับเป็นภาคอุตสาหกรรมแห่งแรกๆในอีอีซีก็ว่าได้ ที่มีความตื่นตัวในการบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจัง โดยได้มองเห็นคุณค่าและศักยภาพของ “น้ำเสีย” ที่สามารถนำมาบำบัดหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ทดแทนแหล่งน้ำจากธรรมชาติหรือน้ำประปา
เพราะที่นี่ตระหนักดีว่าถ้าสามารถแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำให้กับผู้ประกอบการในนิคมฯได้ นั่นเท่ากับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนรายอื่นๆที่จะเข้ามาลงทุนในพื้นที่นี้เพิ่มมากขึ้นด้วย
และในวันนี้บนพื้นที่กว่า 50,000 ไร่ (ชลบุรี 30,000 ไร่ และระยอง 20,000 ไร่ ) ของนิคม ซึ่งมีอุตสาหกรรมมากกว่า 1,100 โรงงาน ทั้งอุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ได้มีการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำภาคอุตสาหกรรมขึ้น
เพื่อให้คณะที่สนใจหน่วยงานต่างๆ ตลอดจนสถาบันการศึกษา เข้ามาศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำตามหลัก 3Rs (Reduce Reuse and Recycle) และแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy System
ด้าน ชูชาติ สายถิ่น กรรมการผู้จัดการบริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด ได้ให้มุมมองความสำคัญของพื้นที่อีอีซี ว่า
“ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร มีสาธารณูปโภคพื้นฐานที่ดี มีค่าแรงที่ไม่สูงมากนัก”
“ทั้งในพื้นที่ภาคตะวันออกของไทย ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่เอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น ท่าเรือน้ำลึก สนามบิน เส้นทางคมนาคมขนส่ง แหล่งท่องเที่ยว ทั้งทางบกและทางทะเล เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยบวกที่ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น”
“ทว่าความต้องการน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และคาดว่าจะมีความต้องการสูงขึ้นมากถึง 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ใน ปี พ.ศ. 2580 ยังเป็นปัจจัยความเสี่ยงสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศเป็นอย่างมาก”
“ที่ผ่านมา นิคมอุตสาหกรรมอมตะฯ จังพัฒนาการบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง จนได้ก้าวข้ามวิกฤตการขาดแคลนน้ำไปแล้ว นับตั้งแต่เกิดวิกฤตภัยแล้งอย่างรุนแรงในปี พ.ศ.2548 อมตะได้ดำเนินการพัฒนาด้านการบริหารจัดการน้ำ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนอย่างจริงจัง”
“โดยอาศัยพื้นฐานข้อมูลการพยากรณ์อากาศที่ดี กลไกการวิเคราะห์แหล่งน้ำทางเลือกต่างๆทั้งน้ำผิวดิน แหล่งน้ำใต้ดิน การรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ การผลิตน้ำจืดจากน้ำทะเล การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อสร้างสมดุลของการพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม”
“รวมถึงการปรับเอามาตรการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy System) ด้วยการจัดการน้ำโดยใช้หลัก 3Rs (Reduce Reuse and Recycle)”
“ประกอบด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในกระบวนการผลิตน้ำประปาและบำบัดน้ำเสีย การสร้างศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำ เพื่อเผยแพร่ความรู้ สร้างความเข้าใจในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบในทุกๆ มิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามแนวคิดการจัดการแบบ “ALL WIN” ที่ทางคณะทำงานเชื่อมั่น”
ด้วยกระบวนการบำบัดน้ำเสียอย่างเป็นระบบตามที่กล่าวมานี้ ในปัจจุบัน นิคมอุตสาหกรรมอมตะ จึงมี
- ระบบบำบัดน้ำเสียและการรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ภายในนิคมถึง 5 สถานี
- มีกำลังการผลิตน้ำเสียทั้งหมด 35,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน คิดเป็น 13 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี
- ระบบการหมุนเวียนน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ทั้งหมดสามารถประหยัดหรือลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำได้ถึง 35-40% หรือเท่ากับการนำน้ำดิบ 1 ลูกบาศก์เมตร มาใช้ได้เท่ากับ 1.4 ลูกบาศก์เมตร
“และล่าสุด ได้มีการนำระบบการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพนี้ ไปใช้กับนิคมอุตสาหกรรมที่พัฒนาขึ้นในประเทศเวียดนาม พม่า และลาว โดยมีเป้าหมายในการประหยัดน้ำหรือลดการใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเช่นกัน”
“รวมถึงยังช่วยในการอนุรักษ์แหล่งน้ำ ซึ่งเป็นอานิสงส์จากกระบวนการจัดการน้ำเสียที่มีคุณภาพสูงเพื่อให้รองรับกับระบบกรอง RO (Reverse Osmosis Membrane) จึงทำให้เกิดประโยชน์ทั้งการประหยัดน้ำ และการจัดการน้ำเสียที่มีประสิทธิภาพสูง”
“ที่สุดแล้ว การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน ให้ตัดสินใจมาลงทุนในพื้นที่อีอีซี ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างมั่นคงและยั่งยืน และก้าวสู่การเป็นผู้นำภาคอุตสาหกรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ไม่ยาก”
“น้ำเสีย” จากภาคอุตสาหกรรม แหล่งน้ำต้นทุนใหม่ของ EEC แก้ปัญหาภัยแล้งได้ด้วย
รศ.ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมการบำบัดของเสียและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะหัวหน้าโครงการ“การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและเมือง โดยการใช้นำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่ EEC” ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนการบริหารจัดการน้ำ ฟันธงกว่า
“น้ำเสีย จากภาคอุตสาหกรรม จะเป็นหนึ่งในแหล่งน้ำต้นทุนใหม่ของอีอีซี และยังนำมาใช้ทดแทนน้ำประปาในช่วงฤดูแล้งได้ดี โดยแนวทางที่จะช่วยให้การจัดการทรัพยากรน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การใช้ 3Rs (Reduce Reuse and Recycle)”
“จากการวิจัยเบื้องต้น พบว่า ในปี 2563 พื้นที่อีอีซีมีนิคมอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมการประหยัดน้ำโดยได้ดำเนินการโครงการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีข้อเท็จจริงปรากฏ ดังนี้
- นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรีและระยอง ที่ช่วยประหยัดน้ำด้วยการบำบัดน้ำเสียมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพได้มากถึง 40%
- นิคมอุตสาหกรรมอื่น ที่ช่วยประหยัดน้ำได้มากกว่า 15% ได้แก่ สวนอุตสาหกรรมสหพัฒน์ ศรีราชา นิคมอุตสาหกรรม WHA ตะวันออก นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง เป็นต้น
- ถ้าแบ่งตามประเภทของอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำมากในพื้นที่อีอีซี ต่างมีศักยภาพในการนำน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ได้มากกว่า 15% อาทิ กลุ่มสิ่งทอมีศักยภาพประหยัดน้ำได้ 15-49.5% กลุ่มผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมมีศักยภาพประหยัดน้ำได้ 15-37% กลุ่มผลิตภัณฑ์อโลหะและยางประหยัดน้ำได้ 18-55% กลุ่มผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ประหยัดน้ำได้ 16-34% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มประหยัดน้ำได้ 15-18% และกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ประหยัดน้ำได้ 15 %
“ถ้าแนวโน้ม ดีต่อไปได้เช่นนี้ มุมมอง “น้ำเสีย” จากนี้จะเปลี่ยนไป เพราะต่อไป น้ำเสีย จะกลายเป็นแหล่งน้ำจืดในอนาคตได้ ด้วยเทคโนโลยีการจัดการน้ำ ที่เป็นตัวช่วยในการยกระดับน้ำเสียให้เป็นน้ำใส ทำให้การรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ คือความหวังของภาคอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างความมั่นคงด้านน้ำของประเทศได้อย่างยั่งยืน” รศ.ดร.ชวลิต กล่าวสรุป
ที่มา : บทความ เรื่อง “โมเดลการบริหารจัดการน้ำ “อมตะซิตี้” ต้นแบบการรีไซเคิลน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ใน EEC แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ ประหยัดได้ถึง 40%” โดย ฝ่ายสื่อสาร แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ
ขอขอบคุณแหล่งที่มา :
https://www.salika.co/2020/07/03/water-treatment-model-amata-city-eec/