แม้ภาพรวมการลงทุนในปีนี้จะไม่สดใสมากนักเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ยอดการจัดตั้งโรงงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ประกอบด้วย 3 จังหวัดคือชลบุรี ฉะเชิงเทรา และ ระยอง ครึ่งแรกของปี 63 (ม.ค.-มิ.ย.) ก็ยังสามารถเติบโตได้ถึง 16% โดยมีมูลค่าลงทุน 4.47 หมื่นล้านบาท และมีอัตราการจ้างงาน 1.48 หมื่นตำแหน่ง
เป็นข้อมูลที่เปิดเผยโดย นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม
“จากตัวเลขข้างต้นเป็นที่น่าสังเกตว่าปริมาณการจ้างงานใหม่ปรับเพิ่มขึ้นน่าจะช่วยแก้ปัญหาการว่างงานของแรงงานที่ได้รับผลกระทบการระบาดไวรัสโควิด-19 ได้พอสมควร และดูจากจำนวนโรงงานที่เพิ่มขึ้นแสดงว่าอาจไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19มากนัก ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงเดินหน้าตามแผนลงทุนเดิม แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ว่าจะมีการแพร่ระบาดรอบ 2 หรือไม่ แต่คาดว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นเห็นได้จากมาตรการป้องกันของภาครัฐและความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง” อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าว
ทั้งนี้ การเปิดโรงงานดังกล่าว แบ่งเป็นการเปิดกิจการใหม่จำนวน 209 โรงงาน เพิ่มขึ้น 18.07% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 177 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 2.04 หมื่นล้านบาท ลดลง 45.16% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 3.72 หมื่นล้านบาท
ส่วนการขยายกิจการมีจำนวน 64 โรงงาน เพิ่มขึ้น 12.28% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 57 โรงงาน ขณะที่มูลค่าการลงทุน 2.42 หมื่นล้านบาท ลดลง 33.69% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ 3.65 หมื่นล้านบาท
ชลบุรีคว้ากิจการลงทุนอันดับ 1
เมื่อศึกษารายละเอียดการลงทุนในแต่ละจังหวัดพบว่า จ.ชลบุรี ยังเป็นอันดับ 1 ที่มีการเปิดโรงงานใหม่และขยายโรงงานเดิม มีการการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ ร.ง.4 และขยายกิจการมากที่สุด จำนวน 141 โรงงาน จ.ฉะเชิงเทรา จำนวน 76 โรงงาน และ จ.ระยอง จำนวน 56 โรงงาน
‘แปดริ้ว’ แชมป์มูลค่าเงินลงทุน
ขณะที่มูลค่าการลงทุนสูงสูดอยู่ที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีมูลค่าการลงทุน 1.91 หมื่นล้านบาท อันดับ 2 จ.ชลบุรี 1.89 หมื่นล้านบาท และ อันดับ 3 จ.ระยอง มีมูลค่าการลงทุน 6.64 พันล้านบาท โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามากที่สุดทั้งเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการ ได้แก่
- อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ 5.95 พันล้านบาท
- อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์โลหะขั้นมูลฐาน 4.63 พันล้านบาท
- อุตสาหกรรมยานยนต์ 3.13 พันล้านบาท
- อุตสาหกรรมอาหาร 2.44 พันล้านบาท
- อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์จากพืช 2.28 พันล้านบาท
5 S Curve ลงทุน 1.4 หมื่นล้าน
แต่หากโฟกัสเฉพาะการขอประกอบและขยายกิจการใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ 10 S Curve ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1.57 หมื่นล้านบาท โดยอุตสาหกรรมกลุ่ม S Curve 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าลงทุนมากที่สุดทั้งเปิดกิจการใหม่และขยายกิจการ ได้แก่
- อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics) มูลค่า 6.29 พันล้านบาท
- อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Food for the Future) มูลค่า 2.78 พันล้านบาท
- อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) มูลค่า 2.53 พันล้านบาท
- อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology) มูลค่า 1.97 พันล้านบาท
- อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism) มูลค่า 1.22 พันล้านบาท
รวม 5 อุตสาหกรรมกว่า 1.4 หมื่นล้าน!
ขอขอบคุณแหล่งที่มา :
https://www.salika.co/2020/07/08/5-prominent-industries-investing-eec/