“ก.อุตฯ” ผนึก “นิวซีแลนด์” เสริมแกร่งอุตสาหกรรมเกษตร ภายใต้กรอบความร่วมมืออินดัสตรีบับเบิล

Share

Loading

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงฯ มีแนวทางเพิ่มขีดความสามารถในการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเกษตรผ่านการดำเนินงานของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม หรือ “กสอ.” โดยได้หารือกรอบความร่วมมือกับนายทาฮาโมอานา ไอเซอา คลูนีแมกเฟอร์ซัน  เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งนิวซีแลนด์  ประจำประเทศไทย เพื่อการเป็นพันธมิตรในด้านอุตสาหกรรมเกษตร หรือ อินดัสตรีบับเบิล (Industry Bubble) ซึ่งถือได้ว่า นิวซีแลนด์มีความเชี่ยวชาญด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อการ “ส่งออก” เช่นเดียวกับไทย

ทั้งในด้านความปลอดภัยอาหาร (Food Safety) และการทำเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture) โดยกรอบความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมดังกล่าว ประเทศไทยจะนำเสนอองค์ความรู้ในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ “บ้านบึงโมเดล” ซึ่งพิสูจน์ได้ชัดเจนแล้วว่าแม้ในภาวะวิกฤตก็ยังสามารถดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคง

ขณะเดียวกันจะเร่งดำเนินการเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านการพัฒนานวัตกรรมระหว่างสองประเทศ เพื่อเสริมศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมเกษตรเพราะไทยและนิวซีแลนด์ ถือได้ว่าเป็นประเทศศูนย์กลางที่มีศักยภาพด้านการเกษตรของแต่ละภูมิภาคของตน

สำหรับประเทศนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยยาวนานกว่า 64 ปีเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่ 31 ของไทย ซึ่งไทยเป็นประเทศคู่ค้าลำดับที่8 ของนิวซีแลนด์ โดยได้นำเข้าสินค้าทางการเกษตรมากที่สุดคือผลผลิตกลุ่มเครื่องเทศและสมุนไพร ซึ่งเป็นการสั่งซื้อจากร้านอาหารไทยที่มีอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์เป็นจำนวนมาก

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า นิวซีแลนด์เผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการระบาดของ “โควิด-19” (Covid-19) จึงต้องการสร้างความร่วมมือ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการทำเกษตรปลอดภัยและการบริหารจัดการความเสี่ยง  อีกทั้งจากมาตรการทางสาธารณสุขที่ผ่านมา พบว่า ทั้งสองประเทศมีการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพเช่นเดียวกันจึงมั่นใจในความปลอดภัยของสินค้าเกษตรแปรรูปไทย ในการส่งออกไปยังประเทศในแถบยุโรป โดยเชื่อว่าจะสามารถยกระดับความร่วมมือ Industry Bubble กับไทยในภาคอุตสาหกรรมซึ่งจะเริ่มต้นจากความร่วมมือในด้านเกษตรอุตสาหกรรมที่นิวซีแลนด์มีความเชี่ยวชาญและสอดคล้องกับเป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจฐานราก

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.thansettakij.com/content/Macro_econ/441067