‘กระบี่’ท่องเที่ยวปลอดภัยด้วย Hygiene Technology จาก สวทช.

Share

Loading

สวทช.ชง 4 นวัตกรรมในกลุ่ม Hygiene Technology ยกระดับการท่องเที่ยวปลอดภัย จ.กระบี่สู่วิถีใหม่ หวังสร้างความมั่นใจ นักท่องเที่ยว-ประชาชน หลังคลายล็อกดาวน์

ปั้นโมเดล ‘กระบี่’ วิถีใหม่

พ.ต.ท.ม.ล.กิติบดี ประวิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า สถานการณ์ท่องเที่ยวในขณะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทยซึ่งมาจากจังหวัดใกล้เคียงและในพื้นที่ ซึ่งหากรัฐบาลมีมาตรการประกาศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเที่ยวได้ตามปกติ ความพร้อมจึงถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งการเข้ามาช่วยของ สวทช.สนับสนุน 4 นวัตกรรมนั้นจะเป็นการส่งเสริมให้จังหวัดกระบี่ ที่ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวและเมืองเกษตร ได้รับการยกระดับอย่างก้าวกระโดด ส่วนสถานการณ์การท่องเที่ยวของจังหวัดกระบี่สิ่งที่เราเน้นย้ำคือ “ความปลอดภัย” โดยคนที่เดินทางมาจังหวัดกระบี่ จะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นระบบตั้งแต่การสวมหน้ากากอนามัย การลงทะเบียนหรือแม้กระทั่งการลงแอพพลิเคชั่นต่างๆ

“ขณะเดียวกันเราตั้งเป้ายกระดับการท่องเที่ยวอ่าวนางภายใน 5 ปีจะไร้มลพิษ ซึ่งจะต้องอาศัยภาคเอกชนผ่านการร่วมมือกับภาครัฐโดยเจตนารมณ์ของคนในพื้นที่อ่าวนางต้องการให้พื้นที่ ปราศจากรถที่ใช้เครื่องยนต์ก่อมลภาวะ เช่นเดียวกับพื้นที่เกาะกลาง ต.คลองประสงค์ ที่มีการประกาศร่วมกันว่าภายใน 2 ปีจะนำรถมอเตอร์ไซค์ ที่ใช้สัญจรและบรรทุกนักท่องเที่ยวออกไปจากเกาะโดยจะเปลี่ยนเป็นการนำยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาทดแทน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการร่วมกันระหว่างภาครัฐเอกชนและคนในพื้นที่เพื่อจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการท่องเที่ยวภายในจังหวัด”

ส่วนรายได้ของจังหวัดกระบี่นั้น ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท สำหรับในปีนี้ยังไม่ได้มีการประเมิน แต่คาดว่าอาจจะมีจำนวนลดลงเนื่องจากสถานการณ์ของโควิด ที่ส่งผลกระทบทุกเซกเตอร์ อย่างไรก็ตามเราจะต้องมองระยะยาว เนื่องจากโควิดอาจจะอยู่กับเราไปประมาณ 1-2 ปี เพราะฉะนั้นการสร้างภาพพจน์ หรือการดำเนินการของจังหวัดในเรื่องของ ความปลอดภัยยังเป็นมาตรการที่สำคัญ เนื่องจากเราไม่อยากเห็นการระบาดระลอก 2 ที่อาจส่งผลให้สถานการณ์ภายในจังหวัด ไม่มีความปลอดภัย เพราะฉะนั้นกระบวนการด้านความปลอดภัยยังคงเป็นหัวใจสำคัญมากกว่ารายได้จากการท่องเที่ยว

เร่งฟื้นคืน ‘อันดามัน’ โกกรีน

ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. ดำเนินงานขับเคลื่อนตามแผนพัฒนาประเทศไทยด้วย BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) ในด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ของประเทศไทย ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวคุณภาพ สามารถเพิ่มและกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน

“สำหรับจังหวัดกระบี่ สวทช. ได้ผลักดันโครงการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบบูรณาการ (Krabi Go Green Model) ร่วมกับทางจังหวัด เพื่อให้เป็นจังหวัดต้นแบบในการพัฒนาฯ ซึ่งที่ผ่านมา สวทช. ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านต่าง ๆ มาช่วยเหลือผู้ประกอบการแล้วกว่า 26 โครงการผ่านกลไกของโปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) และมีการนำเทคโนโลยีจากสตาร์ทอัพในโครงการของศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) ทั้งในกลุ่มการท่องเที่ยวอัจฉริยะ ได้แก่ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ความปลอดภัยด้านอาหาร การเพิ่มรายได้การท่องเที่ยว และการสนับสนุน Krabi Go Green”

และกลุ่มโรงพยาบาลอัจฉริยะได้แก่ ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม การดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเฉพาะทาง และการแก้ปัญหาภายในโรงพยาบาล โดยแนวทางสนับสนุนการพัฒนาเชิงพื้นที่ สวทช. จะเน้นการนำผลงานวิจัยพัฒนาและเทคโนโลยีที่พร้อมใช้มาประยุกต์กับอุตสาหกรรมและธุรกิจเป้าหมายตามโจทย์ที่ได้รับมา รวมถึงจะนำผลิตภัณฑ์และบริการจากผู้ประกอบธุรกิจเทคโนโลยี และสตาร์ทอัพไปสร้างประสบการณ์จริงกับกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนนำเสนอกลไกสนับสนุนจาก สวทช. ด้านที่ปรึกษาและเงินทุนเพื่อกระตุ้นการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ในพื้นที่

ณรงค์ กล่าวเสริมว่า กระบี่ให้ความสนใจในการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ค่อนข้างสูงมีความแข็งแรงทั้งในฝั่งของส่วนราชการ ที่มีวิสัยทัศน์ในการนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในจังหวัด รวมถึงกลุ่มภาคเอกชน โดยเฉพาะเรื่องการท่องเที่ยวจึงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเป็นเหตุให้ สวทช.เล็งเห็นถึงความสำคัญของจังหวัดกระบี่เป็นหนึ่งในจังหวัดเป้าหมายที่เราสามารถนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาขยายผลและสามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังเป็นต้นแบบในการขยายผลสู่จังหวัดอื่นๆ ได้ในเวลาเดียวกัน

“ขณะนี้จากการหารือจะอยู่ในกลุ่มของการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัย และถูกสุขลักษณะ แต่ขณะเดียวกัน เรื่องของการเกษตร ก็ถือเป็นเป้าหมายหลักที่สวทชได้นำหลายเทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือแม้กระทั่งการจัดการพลังงานและขยะ ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักของการดำเนินงาน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่จะต้องขับเคลื่อนไปพร้อ ไปในทิศทางเดียวกัน เนื่องจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวนั้นไม่สามารถดำเนินไปในมิติเดียวได้จึงต้องอาศัยปัจจัยอื่นๆร่วมด้วย”

หนุนจับคู่ชูทางเลือกใหม่

ผู้อำนวยการสวทช.กล่าวต่อไปว่า ในโอกาสช่วงหลังคลายล็อกดาวน์ที่ภาคธุรกิจการท่องเที่ยวฟื้นตัว สวทช. พร้อมให้การสนับสนุน จ.กระบี่ ในการรับนักท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) ด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีในกลุ่ม Hygiene Technology ที่สามารถกำจัดและฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่จะมาเที่ยวในเมืองกระบี่อย่างมั่นใจ สนุก สะอาดและปลอดภัยตั้งแต่ก้าวแรก

สำหรับนวัตกรรมพร้อมใช้ที่ สวทช. ส่งมอบให้จังหวัด นวัตกรรมแรกคือ เครื่องก้าวสะอาด (KAO SA-ARD) พัฒนาโดย ศูนย์บริการปรึกษาการออกแบบและวิศวกรรม (DECC) สวทช. เป็นการทำความสะอาดรองเท้าก่อนเข้าภายในอาคารต่าง ๆ ที่ถือเป็นด่านแรกของการช่วยลดความเสี่ยงในการนำเชื้อไวรัสเข้าบ้านหรืออาคารต่าง ๆ ซึ่งชุดอุปกรณ์ฆ่าเชื้อพื้นรองเท้านี้สามารถล้างพื้นรองเท้าได้ในขณะที่สวมใส่โดยไม่ต้องถอดรองเท้า เมื่อก้าวเท้าลงในอ่างน้ำยาฆ่าเชื้อ มีเพียงส่วนของพื้นรองเท้าเท่านั้นที่สัมผัสกับน้ำยาฆ่าเชื้อ ด้านล่างของอ่างส่วนที่อยู่ใต้พื้นรองเท้ามีตะแกรงทำหน้าที่กรองฝุ่น ดิน และสิ่งไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ ออกจากพื้นรองเท้า ถังบรรจุน้ำยาฆ่าเชื้อมีระบบรักษาระดับความสูงของน้ำยาฆ่าเชื้อและเติมน้ำยาฆ่าเชื้อในอ่างเมื่อมีการใช้งาน ขณะที่ ผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีสำหรับฆ่าเชื้อ BENZION (เบนไซออน) ผลงานโดย ทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม ของ ศูนย์นาโนเทค สวทช. ร่วมกับ บริษัท ยูนิซิล กรุ๊ป จำกัด เป็นสารฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียพ่นหรือเช็ดตามพื้นผิวต่าง ๆ สเปรย์พ่นมือและเท้า สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ส่วน แอพพลิเคชัน QueQ เป็นผลงานของบริษัท คิวคิว (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ประกอบการในโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี และ Startup Voucher ของ สวทช. ซึ่งได้ทำการพัฒนาแอพ QueQ ที่สามารถนำมาใช้กับการบริหารจัดการความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวและการจอดเรือบริเวณท่าเทียบเรือได้ โดยนักท่องเที่ยวสามารถจองใช้บริการการท่องเที่ยวล่วงหน้า ผ่านแอพ QueQ เพื่อให้ง่ายต่อการให้บริการของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบการจอง และการลงทะเบียนเข้า-ออกแหล่งท่องเที่ยว เช่น หาดไร่เลย์ เป็นต้น และท้ายสุดคือ แพลตฟอร์ม Traffy Fondue (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) เป็นแพลตฟอร์มแจ้งซ่อมและบริหารจัดการปัญหาเมือง ที่พัฒนาโดย ทีมวิจัยห้องปฏิบัติการวิจัยระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะ ศูนย์เนคเทค สวทช. ซึ่งสามารถรับเรื่องแจ้งซ่อมหรือข้อร้องเรียนจากประชาชนถึงเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโดยตรง มีข้อมูลภาพถ่าย ตำแหน่งของปัญหา ทำให้เจ้าหน้าที่แก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยแพลตฟอร์มนี้สามารถนำไปใช้กับอาคาร สำนักงาน คอนโด หมู่บ้าน โรงงาน โรงเรียน และโรงพยาบาลได้

นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอเทคโนโลยีจาก สวทช. และพันธมิตรที่เกี่ยวข้องให้กับทางจังหวัด ประกอบด้วย นวัตกรรมเรือท่องเที่ยว Ferry และ Speed Boat โดย บริษัท สกุลฎ์ซี อินโนเวชั่น จำกัด ผลงานนวัตกรรม Germ Sabor หุ่นยนต์ฆ่าเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ด้วยรังสีอัลตราไวโอเลตที่มีความยาวคลื่นอยู่ในย่านความถี่ประมาณ 250 นาโนเมตร ฟกำจัดและหยุดยั้งการแพร่พันธุ์ของเชื้อรา แบคทีเรีย และเชื้อโรคบนพื้นผิวเครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ เมจิคทัช (Magictuch) นวัตกรรมการกดลิฟต์แบบไร้สัมผัส และนวัตกรรม AI CCTV by Ai ผู้ประกอบการในศูนย์ BIC สวทช. ซึ่งเป็นระบบที่ช่วยจดจำสภาพแวดล้อม ตั้งแต่ใบหน้า เครื่องแต่งกาย กระเป๋า รถ ที่จอดรถ ป้ายทะเบียน สามารถประยุกต์ใช้กับการสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวได้

พร้อมกันนี้ ได้เปิด “สำนักงานประสานงาน สวทช.” เพื่อเป็นจุดประสานงาน ถ่ายทอดเทคโนโลยี และจับคู่นวัตกรรมระหว่างผลงานจาก สวทช. และพันธมิตร กับผู้ประกอบการในพื้นที่ เนื่องจากจะต้องแข่งขันกับเวลาเพื่อสร้างความมั่นใจหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิช-19 ซึ่งจะต้องได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็วเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถรันธุรกิจด้วยเทคโนโลยีเหล่านั้นด้วยตนเองได้ ส่วนการขยายการดำเนินงาน สู่จังหวัดใกล้เคียงนั้นเรามองว่าจะขยายให้ครบจังหวัดในพื้นที่อันดามัน โดยใช้กระบี่โมเดลเป็นเป้าหมายจากนั้นก็จะมีการขยายผลต่อไป ทั้งหมดนี้ถือเป็นการยกระดับสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/888647