DGA ผนึกกำลัง มก.พัฒนาศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ปั้นโมเดลบริการดิจิทัลภาครัฐ
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า สำหรับการบริหารราชการของภาครัฐหากขับเคลื่อนได้ช้าและไม่มีประสิทธิภาพจะไม่สามารถต่อสู้กับสังคมโลกได้ ขณะที่ปัจจุบันภาคเอกชนเองก็ต้องดิ้นรนพัฒนาตัวเองในสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งสิ่งที่ทางดีจีเอได้ริเริ่มวันนี้หวังว่าจะเป็นสิ่งที่ยั่งยืน เพราะจากนี้ประเทศไทยจะต้องปรับตัวกันอย่างมากในช่วงเศรษฐกิจหรือสังคมหลังโควิดที่หลายอย่างอาจเปลี่ยนแปลงไป ประสบการณ์ในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา หลายองค์กรก็ยังสามารถทำงานหรือติดต่อประชุมร่วมกันได้ ภาครัฐเองก็ต้องมีการปรับระบบการทำงานให้มากขึ้น มีการลงทุนในคลาวด์ คอมพิวติ้ง ของหน่วยงานรัฐที่จะมีการใช้งานมากขึ้น การใช้บิ๊กดาต้าเพื่อที่จะวิเคราะห์ความต้องการของประชาชนได้อย่างละเอียดมากขึ้น รวมถึงเรื่องของการเชื่อมโยงระบบอย่างไร้รอยต่อหรือ One Stop Service
“การสร้างระบบนิเวศน์นวัตกรรมของเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับภาครัฐไทยเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นและความสำคัญ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการนวัตกรรมดิจิทัลมีพื้นที่ในการนำผลงานออกสู่การใช้ประโยชน์ การขยายผล ต่อยอดสู่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ พร้อมกับเป็นช่องทางหลักในการจับคู่ความต้องการด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมดิจิทัลกับหน่วยงานรัฐต่างๆ”
ด้าน ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (ดีจีเอ) กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิทัลส่วนใหญ่จะเริ่มที่พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อม ทั้งนี้ได้จัดโครงการ“ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ”หรือ “Digital Government Technology & Innovation Center : DGTi” เพื่อเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลภาครัฐไทยแบบครบวงจร เพื่อผลักดันและสนับสนุนภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล สร้างการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ การค้นคว้าและการวิจัยองค์ความรู้ในการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเพิ่มประสิทธิภาพ ขีดความสามารถในการให้บริการของภาครัฐไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล DGA ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพในพื้นที่ของ EEC ที่มีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน จึงได้ริเริ่มดำเนินการโครงการ “Digital Government Technology & Innovation Center” หรือ “ศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาครัฐ”
สำหรับความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา นั้นเพื่อสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลอย่างเป็นระบบ เป็นแหล่งวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่จะดึงดูดให้เกิดความร่วมมือทั้งจากมหาวิทยาลัย เอกชน วิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และประชาชน โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นผลการดำเนินโครงการอย่างเป็นรูปธรรมภายในสิ้นปีงบประมาณ 2563 นี้ ในการพัฒนาโครงการความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมภาครัฐในพื้นที่ EEC เพื่อขับเคลื่อนไปสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทัลในปี 2564 – 2565
ขอขอบคุณแหล่งที่มา :