Watch & Learn ปรากฎการณ์เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิตคนไทย ที่ ศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5G ม.เกษตร ศรีราชา

Share

Loading

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ที่ผ่านมา เว็บไซต์สาลิกา ได้เผยแพร่บทความเกี่ยวกับ การเปิด ศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5G ม.เกษตร ศรีราชา หรือ ศูนย์ 5G Testbed อย่างเป็นทางการ โดย กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้เซ็น MOU สร้างความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา โดยในงานวันเปิดตัวศูนย์นี้ มีผู้ให้บริการโทรคมนาคมทุกเครือข่าย บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมชั้นนำของโลก รวมทั้งกลุ่มผู้มีความต้องการใช้เทคโนโลยี 5G มาร่วมงานอย่างอบอุ่น

มาในวันนี้ ผ่านมากว่า 1 ปี มีความคืบหน้าอะไรเกิดขึ้นที่ ศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5G ม.เกษตร ศรีราชา โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่าง สถาบันการศึกษา และภาคเอกชนผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมของไทย เพื่อพัฒนาทั้งการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเทคโนโลยี 5G ปูทางไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยโครงข่ายทันสมัย 5G ที่จะเกิดขึ้น และเปลี่ยนชีวิตคนไทยได้ในอนาคตอันใกล้

ส่องความก้าวล้ำ @ ศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5G ม.เกษตร ศรีราชา เทคโนโลยีแห่งอนาคตเกิดขึ้นได้ที่นี่

จากการได้รับชมรายการ EEC Focus ที่ออกอากาศทางช่อง TNN เมื่อวันที่ 10 กรกรฎาคม ที่ผ่านมา ทำให้เราได้ทราบข้อมูลอัปเดตว่าล่าสุดมีอะไรเกิดขึ้นที่ ศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5G ม.เกษตร ศรีราชา สนามทดสอบโครงข่ายแห่งอนาคต 5G ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ซึ่งจะปูทางสู่การเป็นโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ EEC

“5G อยู่ในฐานะเทคโนโลยีล้ำสมัย ที่จะเป็นตัวแปรสำคัญที่เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทย และเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับอุตสาหกรรมใหม่ที่คาดว่าจะเข้ามาขยายฐานการผลิตในพื้นที่ EEC ด้วย โดยในตอนนี้ศูนย์นี้มีความพร้อมก้าวล้ำไปในหลายด้านและมีหลากหลายบริษัทมาใช้ศูนย์ฯในการทดลองใช้งาน 5G กันแล้ว”

“ในตอนนี้มีการลงทุนร่วมกัน โดยหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งสามารถประหยัดงบลงทุนด้านนี้ให้กับประเทศชาติไปได้ถึงกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยการเตรียมวางโครงสร้างพื้นฐานควบคู่ไปกับการขยายพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุม โดยที่ผ่านมามีการทดสอบภาคสนามในพื้นที่ EEC และทดสอบในพื้นที่เมืองอัจฉริยะ เพื่อรองรับการใช้โครงสร้างพื้นฐานนี้ร่วมกัน นี่เป็นที่มาว่าทำไม ศูนย์นี้จึงเปิดรับบริษัทผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมที่หลากหลาย”

“ที่ผ่านมา หัวเว่ย เป็นบริษัทโทรคมนาคมเจ้าแรกที่ประกาศว่าจะลงทุนพัฒนา 5G ในพื้นที่ EEC ด้วยงบลงทุนประมาณ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งในแง่ของอุปกรณ์และเครื่องมือสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรเพื่อทดสอบการใช้งานเป็นแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ผศ.น.สพ.ดร.เสรี กุญแจนาค รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา อัปเดตการดำเนินงานของ ศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5G ม.เกษตร ศรีราชา ว่า

“ในตอนนี้ เราได้วางโครงข่ายเสารับคลื่น 5G และห้องทดสอบที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งเราได้วางรูปแบบให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมทุกประเภทที่มีอุปกรณ์เครื่องมือพร้อม และอยากทดสอบกับคลื่น 5G สามารถเข้ามาลองทดสอบที่ศูนย์ของเราได้ ยกตัวอย่าง บริษัท TRUE ก็ได้ติดต่อทางเรามาแล้วว่าจะเอาเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาทำสอบกับคลื่น 5G ที่นี่ เป็น Used case ด้วยการกำหนดข้อปฏิบัติในการทำงานร่วมกันที่ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจ”

“ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันสุขภาพ ที่มาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนในพื้นที่ให้ดีขึ้น ด้วยการใช้ระบบ AI อัจฉริยะ หรือระบบการผลิตสมัยใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีแห่งยุคอย่าง ระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ เป็นต้น”

“ส่วนประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับภาคการศึกษา วิจัย ก็ชัดเจน เช่น การที่มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มาทดสอบการใช้งาน 5G เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานรถพยาบาลฉุกเฉินเคลื่อนที่รวมถึงสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยด้วย”

หนทางสู่ 5G ในประเทศไทย ยังต้องผ่านอะไรอีกบ้าง ไปรู้กัน

ณ ศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5G หรือ 5G Testbed แห่งนี้ ทาง กสทช. หรือ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้จัดสรรย่านของคลื่นความถี่ไว้ 2 ย่านด้วยกัน คือ 28 GHz 26 GHz และ 2,400 MHz รวมถึงยังช่วยประสานงานกับกรมศุลกากรในการนำเข้าอุปกรณ์เข้ามาติดตั้งเพื่อใช้ในการทดสอบด้วย

โดยในการทดสอบ 5G ตามแผนของ กสทช. จะทดสอบต่อไปจนกว่าจะมีความพร้อม ที่วางไว้ว่าจะอยู่ในช่วงปี 25623 นี้ หลังจากนำคลื่น 700 MGz 2,600 MGz และ 26 GHz มาจัดประมูลไปแล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้นได้มีข้อกำหนดไว้ด้วยว่าผู้ชนะการประมูลต้องขยายเครือข่ายให้ครอบคลุม 50 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ EEC ภายในหนึ่งปี และต้องครอบคลุมการใช้งานของประชากรในเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ทซิตี้ภายใน 4 ปี

แต่อย่างไรก็ตาม รายการ EEC Focus ตอนนี้ ยังได้ชี้ให้เห็นว่าข้อจำกัดสำคัญในการพัฒนา 5G ในไทย คือ เงินทุน ของผู้ให้บริการโทรคมนาคม หรือ Operator นั่นเอง

และข้อจำกัดของคลื่น 5G เอง ที่ให้บริการด้วยคลื่นความถี่ย่านสูง จึงครอบคลุมพื้นที่บริการที่แคบกว่าในปัจจุบันถึง 40 เท่า และทาง ITU หรือ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ได้ประเมินไว้ด้วยว่า การจะให้บริการ 5G อย่างมีประสิทธิภาพ ต้องเพิ่มสถานีฐาน มากถึง 30-50 เท่า จากสถานี 4G เดิม ด้วยเหตุนี้จึงตอบคำถามว่าทำไมการลงทุน ใน 5G ถึงได้ต้องมูลค่ามหาศาล

อานิสงส์ของ ศูนย์ทดสอบ 5G ต่อการศึกษาไทย

ผศ.น.สพ.ดร.เสรี เน้นย้ำว่า ทาง ม.เกษตร ศรีราชา ก็มีความพร้อมเพราะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เปิดสอนในหลักสูตรต่างๆ ที่ครอบคลุมทุกภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ EEC ยกตัวอย่าง คณะวิศวกรรมศาสตร์ที่เปิดสอนในหลากหลายสาขาวิชา คณะวิทยาศาสตร์ ที่เปิดสอนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ รวมถึงมีวิทยาลัยการบริหารจัดการที่ผลิตบุคลากรด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม ไปจนถึงเรามีคณะพาณิชย์นาวีนานาชาติที่เป็นกำลังสำคัญในการผลิตบุคลากรด้านนี้ตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่จะมาลงทุนในพื้นที่ EEC ด้วย

และเนื่องจาก ศูนย์ทดสอบ 5G แห่งนี้ ตั้งอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ศรีราชา ศูนย์นี้จึงกลายเป็นแหล่งศึกษานอกห้องเรียนของนิสิตที่นี่ด้วย

โดย รศ.ดร.สถาพร เชื้อเพ็ง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ศรีราชา เป็นผู้มาตอบคำถามว่านอกจากทางคณะวิศวกรรมศาสตร์จะช่วยดูแลและรับผิดชอบการดำเนินงานของศูนย์ทดสอบ 5G นี้แล้ว อานิสงส์ที่ทางคณะได้รับจากศูนย์นี้ในการเรียนการสอน คืออะไร

“สถานะของ ศูนย์ทดสอบ 5G ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ศรีราชา นี้ เป็น ศูนย์ทดสอบ 5G Sandbox ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. อย่างถูกต้อง ซึ่งศูนย์นี้หลักๆ จะเป็นในส่วน Indoor ซึ่งอยู่ในอาคาร เป็นศูนย์ทดสอบสัญญาณ 5G”

“ในส่วนของบทบาทของคณะฯเอง เรามีการเรียนการสอนในหลากหลายสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมที่ใช้งาน และใช้ในการทดสอบคลื่น 5G ได้ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม Used case ที่นำไปใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ทางภาครัฐมุ่งส่งเสริม ซึ่งทางคณะวิศวกรรมศาสตร์เอง ก็ทำงานร่วมกับหลายคณะในวิทยาเขตรวมถึงมหาวิทยาลัยอื่น ซึ่งเรามีข้อตกลงทางการวิจัยกันอยู่ ในการร่วมกันทำงานวิจัยเชิงบูรณาการ”

“หรือในภาคโรงงานอุตสาหกรรมที่มาทดลองใช้คลื่น 5G เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตสู่ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยคลื่น 5G ที่มีความเร็วสูงเพื่อทำให้ทั้งระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ให้สามารถรับคำสั่งจากมนุษย์ได้ทันท่วงที”

“และในระหว่างการที่บริษัทเข้ามาทดสอบนี่เอง ที่เปิดโอกาสให้ทางบริษัท คณาจารย์ และนิสิตได้มาร่วมศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะกับนักศึกษาที่มีโอกาสได้เรียนรู้จากเครื่องมือจริง ได้ปฏิบัติงานจริง”

ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ บริษัทใหญ่เท่านั้นที่จะเข้ามาขอใช้งานที่ศูนย์นี้ได้ เพราะที่ผ่านมา ศูนย์นี้เปิดกว้างให้ทั้ง Startup SME และธุรกิจทั้งในระดับ S และ M เข้ามาใช้บริการที่ศูนย์นี้ได้ด้วย

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

รายการ EEC Focus ออกอากาศทางช่อง TNN วันที่ 10 กรกฎาคม เรื่อง “ส่องความล้ำหน้า ศูนย์ทดสอบ 5G ในอีอีซี”

https://www.salika.co/2020/08/20/watch-learn-in-5g-testbed-at-ku-sriracha/