อนาคตของระบบการจดจำใบหน้า: ผลกระทบที่มีต่อเมืองอัจฉริยะ

Share

Loading

แม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะมีความสามารถในการเปิดใช้งานแอพพลิเคชั่นได้หลายอย่างเพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับเมืองอัจฉริยะ แต่ทว่า เนื่องจากเทคโนโลยีการจดจำใบหน้านั้นมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการล่วงละเมิดได้อยู่มาก มันประสบปัญหาในการใช้งานเกี่ยวกับความแม่นยำกับความอคติทางเชื้อชาติและเพศ อีกทั้งยังมีความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวซึ่งทำให้เกิดการต่อต้านอย่างกว้างขวางต่อเทคโนโลยีนี้

ว่ากันว่านี่คล้ายจะเป็นเวอร์ชั่นปัจจุบันของแนวคิด Panopticon ของ Jeremy Bentham หรือคุกวงแหวนที่ผู้คุมสามารถมองเห็นนักโทษและห้องขังทุกห้อง แต่ผู้ต้องขังจะมองไม่เห็นผู้คุม อย่างไรก็ตาม ในบริบทของกระบวนการยุติธรรมนั้น การจดจำใบหน้าทำให้เกิดความกังวลมากที่สุด ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา การสังหารจอร์จ ฟลอยด์ ในสหรัฐอเมริกาได้แสดงให้เห็นถึงอำนาจของตำรวจกับการใช้การจดจำใบหน้าที่แพร่ออกไปทั่วโลก

การทดลองเทคโนโลยีจดจำใบหน้าในอังกฤษนั้นได้ถูกต่อต้าน รวมถึงที่อื่น ๆ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งซานฟรานซิสโกเป็นเมืองแรกที่ประกาศห้ามการใช้งานในทันที เช่นเดียวกันกับกลุ่มล็อบบี้ในชิคาโกได้เรียกร้องให้หยุดการใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้าของตำรวจ ซึ่งทำให้ทางผู้ให้บริการหลักเช่น Amazon, Microsoft และ IBM ต้องยับยั้งการพัฒนาเทคโนโลยีจดจำใบหน้าเอาไว้

ทว่าก่อนที่บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่จะถอนตัวออกไป ระบบการจดจำใบหน้าก็เผชิญกับปัญหาด้านกฎระเบียบอยู่แล้ว สหรัฐฯนั้นมีกฎระเบียบที่ไม่เพียงพอต่อการจัดการปัญหาเกี่ยวกับเทคโนโลยี และเมื่อต้นปีนี้สหภาพยุโรปได้นำเสนอการห้ามใช้ระบบจดจำใบหน้าเป็นเวลา 5 ปีหลังจากพบว่าระบบนี้ยังทำงานได้ไม่ค่อยแม่นยำ อีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดกฎหมายความเป็นส่วนตัว และยังทำให้มีการฉ้อโกงข้อมูลประจำตัวได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์และอุปสรรค ระบบการจดจำใบหน้านั้นจะสูญเสียจุดยืนท่ามกลางเทคโนโลยีของเมืองอัจฉริยะที่ทันสมัยหรือไม่? การเปิดตัวเทคโนโลยีในตอนนี้นั้นจะขึ้นอยู่กับการพัฒนากฎระเบียบและมาตรฐานที่จะช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้คน Zak Doffman ซีอีโอของบริษัท Digital Barriers ซึ่งเป็นบริษัทโซลูชั่นด้านการเฝ้าระวังภัยกล่าวไว้ว่า “สิ่งนี้นั้นส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่ออุตสาหกรรม เช่นเดียวกับผู้ร่างกฎหมายและสังคมโดยรวม” ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสร้างสมดุลระหว่างความปลอดภัยสาธารณะกับการทำให้มั่นใจว่าเทคโนโลยีนี้จะไม่ถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดได้อย่างไร

ระบบการจดจำใบหน้าทั้งหมดนั้นไม่เหมือนกัน

การต่อต้านระบบจดจำใบหน้านั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อระบบเมืองอัจฉริยะมากนัก ผู้ให้บริการเทคโนโลยีที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนั้นก็มักจะเสนอแอพพลิเคชั่นที่อาจถือว่ามีจริยธรรมมากกว่า

ตามที่ Doffman ชี้ให้เห็นว่าระบบจดจำใบหน้านั้นไม่ได้เหมือนกันไปทั้งหมด “แม้ว่าเราจะต่อต้านแอพพลิเคชั่นการเฝ้าระวังภัยที่ดูไม่น่าไว้ใจซึ่งเป็นหัวข้อข่าวเมื่อเร็วๆนี้ แต่เราก็ยังได้เห็นการใช้ระบบการจดจำใบหน้ามากขึ้นเพื่อให้การเดินทางมีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น อย่างเช่น ประตูที่ใช้งานโดยการอ่านข้อมูลไบโอเมตริกซ์ใน ePassport ของสนามบิน เป็นต้น”

และเนื่องด้วยสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ความต้องการใช้งานระบบการจดจำใบหน้ายิ่งเพิ่มมากขึ้น Doffman ได้ยกตัวอย่างของการยืนยันตัวตนแบบไร้สัมผัส ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการปรับปรุงเมืองอัจฉริยะที่เขากล่าวว่า กระทั่ง ณ ขณะนี้ก็ยังไม่เห็นการต่อต้านมากนัก “ความคิดที่ว่า การใช้ตั๋วหรือบัตรผ่านที่เปลี่ยนจากการใช้ข้อมูล ID ที่เป็นรูปธรรมไปเป็นอุปกรณ์อัจฉริยะที่จดจำใบหน้าของเราได้ จะทำให้เราไม่อยากจะลงชื่อหรือใช้บัตรหรือเอกสารที่เป็นรูปธรรมอีกต่อไป นอกจากนี้ เรายังเห็นได้ว่าการจดจำใบหน้ากลายเป็นบรรทัดฐานในการปลดล็อคสมาร์ทโฟนและระบบ access control ในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย”

ในขณะเดียวกัน แม้จะมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ทว่าเทคโนโลยีก็ไม่ได้ถูกเกลียดชังไปทั้งหมด ในความเป็นจริงแล้ว มันมักจะถูกนำไปใช้งานในกระบวนการด้านความปลอดภัยสาธารณะอยู่เสมอ หากมีความถูกต้องแม่นยำ “ประชาชนจะตระหนักถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีการจดจำใบหน้าหากเป็นเรื่องของการรักษาความปลอดภัยสาธารณะ” Pierre-Adrien Hanania หัวหน้าฝ่ายการนำเสนอระดับโลก แผนก AI ในภาครัฐ บริษัท Capgemini ได้กล่าวไว้

ผู้คนกว่าสองในสามรู้สึกสบายใจกับการใช้กล้องที่รองรับ AI ซึ่งสามารถตรวจจับและติดตามความผิดปกติหรือสถานการณ์ที่น่ากลัวในพื้นที่สาธารณะ และมากกว่าครึ่งเล็งเห็นประโยชน์ของเทคโนโลยีจดจำใบหน้าในการติดตามผู้กระทำผิด ตามรายงานล่าสุดของ Capgemini Research Institute

การจดจำใบหน้าจะกลายเป็นโซลูชั่นไร้สัมผัสที่มีประโยชน์ในยุค Covid-19

Hanania กล่าวว่า การจดจำรูปแบบและรูปร่างได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในมิติอื่น ๆ อีกมากมายของโครงการเมืองอัจฉริยะแล้ว “ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีนี้สามารถช่วยจดจำขยะข้างถนนหรือโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อประชาชนและจำเป็นต้องได้รับการซ่อมบำรุงหรือเปลี่ยนใหม่” และถึงแม้จะมีการชะลอไว้โดยบริษัทเทคโนโลยี แต่รายงานในเดือนกรกฎาคมโดย Global Market Insights ก็ยังคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดของการจดจำใบหน้าจะเกินกว่า 1 หมื่น 2 พันล้านดอลลาร์ภายในปี 2026 จาก 3 พัน 4 ร้อยล้านดอลลาร์ในปี 2019

ซึ่งส่วนใหญ่นั้นขึ้นอยู่กับว่า หากบริษัทต่าง ๆ จะใช้เทคโนโลยีในลักษณะที่คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมของเมืองอัจฉริยะ Artem Kukharenko CEO ของบริษัท NtechLab ซึ่งเป็นบริษัทซอฟต์แวร์สำหรับ AI ยอมรับว่ามีการพิจารณาทางด้านจริยธรรมอยู่ แต่เขากล่าวว่า บริษัทของเขาได้พัฒนาเครือข่ายประสาทเทียมของซอฟต์แวร์โดยใช้สิ่งเร้าจากทุกเชื้อชาติ โทนสีผิว และเพศในสัดส่วนที่เท่ากัน “มีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการระบุตัวตนที่ผิดพลาดกับความลำเอียง และทางเราได้รับทราบถึงปัญหาที่ระบบจดจำใบหน้านั้นได้แสดงให้เห็น”

ทว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมบางคนกลับไม่คิดว่าการจดจำใบหน้าเป็นกุญแจสำคัญในอนาคตของเมืองอัจฉริยะ พวกเขากล่าวว่า ยังมีสิ่งที่สามารถทดแทนเทคโนโลยีนี้ได้ในบางกรณี – อย่างน้อยก็ ณ ตอนนี้ สำหรับการปรับปรุงเมืองอัจฉริยะ Alan Marcus หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายกลยุทธ์ดิจิทัลของ Planet Smart City กล่าวว่า มันจะเป็นประโยชน์หากเรารู้ว่าผู้คนจะมาชุมนุมกันที่ใด รวมถึงอัตราส่วนชายต่อหญิง “แต่ที่ผ่านมาเราทำเช่นนั้นได้อย่างไร? ผู้คนก็แค่ยืนบนถนนเฉยๆ แล้วเราจำเป็นต้องรู้ข้อมูลที่แท้จริงของผู้คนแทบทุกคนหรือ? มันยังมีตัวเลือกอื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้สำหรับบริการอัจฉริยะขั้นพื้นฐานได้…และการจดจำใบหน้าไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ”

ระบบการจดจำใบหน้าในเมืองอัจฉริยะในอนาคต

แม้จะมีการโต้เถียงกันเมื่อไม่นานมานี้ แต่ดูเหมือนว่าการจดจำใบหน้าจะไม่ถูกหยุดลงถาวรอย่างกะทันหัน ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นเพียงแค่การกำกับดูแลให้บริษัทต่าง ๆ นั้นใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสมตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เท่านั้น “แต่นั่นเป็นไปได้ยาก – เว้นแต่จะมีนโยบาย การกำกับดูแล และกฎระเบียบที่จะสามารถจัดการกับมันได้” Andy Thurai นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมของบริษัท GigaOm กล่าว

เราจะเห็นได้ว่าปัจจัยเหล่านี้ยังขาดอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาที่กระบวนการทางกฎหมาย เช่นการตรวจสอบลู่ทางการขนส่งหรือกล้องเพื่อระบุตัวผู้ต้องสงสัยนั้นเสี่ยงที่จะ “ถูกระงับชั่วคราว” Merritt Maxim รองประธานและผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยของ Forrester กล่าว

นอกจากนี้ ในระยะสั้นๆ เมืองอัจฉริยะในบางประเทศจะได้รับผลกระทบมากกว่าเมืองอื่น ๆ สหรัฐฯและยุโรปกำลังผลักดันการยับยั้งการใช้ระบบจดจำใบหน้าในการบังคับใช้กฎหมาย และนั่นก็ “แตกต่างกันมากกับในเอเชียและบางส่วนของตะวันออกกลาง” Doffman กล่าว

Philip Ingram MBE อดีตพันเอกในหน่วยข่าวกรองทางทหารของอังกฤษคิดว่าการตัดสินใจยับยั้งนั้น บางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อการเปิดตัวเทคโนโลยีเมืองอัจฉริยะในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เขาคิดว่าสำหรับทั่วโลกแล้ว มันมีผลกระทบเพียงเล็กน้อย “มีแอพพลิเคชั่นจดจำใบหน้าอื่น ๆ และผู้ให้บริการด้านเมืองอัจฉริยะที่มีความสามารถอีกมากมาย อีกทั้ง IBM และ Amazon ก็ได้จำกัดการขายเฉพาะในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ที่สำคัญคือ… Huawei ที่เป็นผู้ให้บริการระดับโลกและบริษัทอื่น ๆ ของจีนเช่น HikVision (ผู้ผลิตกล้องวงจรปิดที่ใหญ่ที่สุดในโลก) ก็มีความสามารถในการตอบสนองความต้องการทั่วโลกที่กว้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเช่นกัน”

อุปสรรคของการจดจำใบหน้าในเมืองอัจฉริยะนั้นคืออุปสรรคในการคาดการณ์ เนื่องจากมันครอบคลุมถึงความเป็นไปได้ของกระบวนการมากมาย Tom Cheesewright นักอนาคตศาสตร์กล่าว “กล้องวงจรปิดแบบเครือข่ายที่มีระบบการจดจำใบหน้าในความกว้างระดับเมืองนั้นถือเป็นภัยคุกคามที่ล่วงล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้คน ทว่าระบบการจดจำใบหน้าที่ควบคุมแบบวงปิดสำหรับการควบคุมการเข้าออกกลับสามารถช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้คนและประสบกับการต่อต้านน้อยกว่า”

สำหรับตอนนี้ เมืองอัจฉริยะคงจะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่พวกเขามีอยู่แล้วในระหว่างที่รอดูสถานการณ์ มันเป็นเรื่องยากมากในการคาดการณ์ แต่ Maxim คิดว่าสถานการณ์ในสหรัฐฯอาจเปลี่ยนแปลงได้หากความคิดเห็นของสาธารณชนเปลี่ยนไป “ผู้ค้ารายใหญ่นั้นจะทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่การที่พวกเขาจะทุ่มหมดหน้าตักหากพวกเขาเห็นโอกาสทางธุรกิจก็เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถเพิกเฉยได้ มันจึงยากที่จะต่อต้านในระยะยาว” เขากล่าว

แต่เขาก็เตือนไว้ว่า: “แต่ถ้าหากพวกเขาจะเปลี่ยนใจ พวกเขาก็จะต้องมีเหตุผลรองรับที่ชัดเจน นอกจากนี้ พวกเขาก็ยังต้องแสดงให้เห็นว่าระบบการจดจำใบหน้านั้นจะไม่ละเมิดสิทธิผู้บริโภคหรือมีแนวโน้มที่จะมีอคติทางเชื้อชาติและเพศ – ซึ่งจริยธรรมของ AI นั้นจะเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า”

เรียบเรียงโดย Security Systems Magazine

ขอขอบคุณแหล่งที่มา :

https://www.smartcitiesworld.net/special-reports/the-future-of-facial-recognition-the-impact-on-smart-cities