เรื่องของเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมถือเป็นสิ่งที่มีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากว่าหากเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปไกลแค่ไหน ระบบการผลิตในอุตสาหกรรมก็จะได้รับการยกระดับความสามารถให้ดีกว่าเดิมไปด้วย และสำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีนั้น การมองเห็นอนาคตที่ยังมาไม่ถึงถือเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งความสามารถนี้เรียกกันว่า “วิสัยทัศน์” โดยหากใครสามารถคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำ ก็จะสามารถเตรียมความพร้อมไว้รองรับความเปลี่ยนแปลงได้อย่างทันท่วงที รวมถึงยังสามารถเข้าถึงโอกาสดี ๆ ได้ก่อนผู้อื่นอีกด้วย
วันนี้ Security Systems Magazine ขอนำพาทุกท่านเหลียวหลังแลหน้า ย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นของระบบอุตสาหกรรมในยุคเก่าก่อน และลองคาดคะเนถึงระบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่กำลังจะมาถึงต่อจากนี้ว่าจะเป็นอย่างไร ไปติดตามกันได้เลย…
ย้อนกลับไปดูระบบอุตสาหกรรมยุคต่าง ๆ
เป็นที่ทราบกันดีว่าระบบอุตสาหกรรมคือกลไกลสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกหลังจากการปฏิบัติอุตสาหกรรม หรือที่เรียกว่า Industrial Revolution ซึ่งเกิดขึ้นราว ๆ ศตวรรษที่ 18 ในประเทศอังกฤษ โดยนักประดิษฐ์นามว่า เจมส์ วัตต์ ได้ปรับปรุงเครื่องจักรไอน้ำของนิวโคเมน จนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมายิ่งขึ้น ซึ่งเครื่องจักรไอน้ำแบบใหม่นี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการอุตสาหกรรม รวมถึงการปฏิวัติอุตสาหกรรมยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมในทุกมิติ กล่าวคือ
การปฏิบัติอุตสาหกรรมครั้งแรก ในศตวรรษที่ 18 ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงดังนี้
- ด้านเศรษฐกิจ การปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ภายใต้การขับเคลื่อนระบบโดยฝ่าย นายทุน และแรงงาน
- ด้านการเมือง การปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อให้เกิดระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตย เพื่อสร้างสมดุลของผลประโยชน์ระหว่างฝ่ายนายทุน และแรงงาน
- ด้านวัฒนธรรม การปฏิวัติอุตสาหกรรมก่อให้เกิดการยกระดับวัฒนธรรมของอารยธรรมมนุษย์ให้มีความศิวิไลซ์ บ้านเมืองเจริญรุ่งเรือง เทคนิควิทยาการต่าง ๆ มีความก้าวหน้า และวิถีชีวิตของผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
แต่ในปัจจุบัน กล่าวได้ว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมนั้นเกิดขึ้นมาแล้วถึง 4 ครั้งด้วยกัน หรือเรียกว่า 4 ยุคก็ได้ ซึ่งในการปฏิวัติอุตสาหกรรมแต่ละครั้งนั้น จะก่อให้เกิดการดึกเอาศักยภาพของเทคโนโลยีที่ดีที่สุดในยุคนั้น ๆ มาใช้ประโยชน์ในระบบการผลิต ซึ่งเราสามารถแบ่งยุคของอุตสาหกรรมได้เป็น 4 ยุค ดังนี้
- อุตสาหกรรม 1.0 เป็นยุคที่เปลี่ยนจากการใช้แรงงานของคนและสัตว์ในระบบการผลิต ไปเป็นการใช้พลังงานเครื่องจักรไอน้ำ
- อุตสาหกรรม 2.0 เป็นยุคที่มีการนำเอาพลังงานไฟฟ้า น้ำมัน ถ่านหินเข้ามาใช้ในระบบอุตสาหกรรม รวมถึงมีการใช้ระบบการผลิตแบบสายพาน ทำให้สามารถผลิตสินค้าครั้งละมาก ๆ หรือ Mass Production
- อุตสาหกรรม 3.0 เป็นยุคที่นำเอาเทคโนโลยี IT ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เข้ามาใช้งาน ทำให้เกิดระบบการผลิตแบบอัตโนมัติในโรงงาน หรือ Manufacturing Automation
- อุตสาหกรรม 4.0 เป็นยุคที่ระบบการผลิตถูกบูรณาการเข้ากับเครือข่าย Iot (Internet of Things) ซึ่งส่งผลให้ระบบการผลิตสินค้าเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีดิจิทัล และยังมีการใช้ AI มาช่วยให้ระบบการผลิตเกิดความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายมากกว่าเดิม
มองอนาคตอุตสาหกรรม 5.0
สำหรับเรื่องของอุตสาหกรรม 5.0 ถือเป็นสิ่งที่หลาย ๆ ฝ่ายต่างให้ความสนใจว่าในยุคต่อไประบบอุตสาหกรรมจะมีรูปแบบเป็นอย่างไรบ้าง และเมื่อไม่นานมานี้นาย ดาร์เรลล์ อดัมส์ หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย บริษัท ยูนิเวอร์ซัล โรบอท ได้เขียนบทความเรื่อง Industry 5.0: The Future of Manufacturing in 2035 (หุ่นยนต์ในยุคอุตสาหกรรม 5.0 อนาคตของการผลิตในปี พ.ศ.2578)
ซึ่งเขาได้ระบุว่าอีก 15 ปีนับจากนี้ โรงงานในปี 2035 จะมีความแตกต่างจากโรงงานในปัจจุบันอย่างสิ้นเชิง ซึ่งหากเราได้เปรียบเทียบกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคที่ผ่าน ๆ มา เราจะพบว่าความแตกต่างนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญก็คือ เครื่องจักร เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต และหุ่นยนต์ แต่สำหรับเทรนด์การใช้ Human Touch หรือ สัมผัสมนุษย์นั้น จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในอีก 15 ปีข้างหน้านี้แน่นอน
ความหวาดกลัวของมนุษย์
อดัมส์ ยังได้ขยายความเพิ่มเติมอีกว่า ด้วยความหวาดกลัวในความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย หลาย ๆ คนมักจะคิดว่าหุ่นยนต์กำลังจะมามีบทบาทแทนทีแรงงานมนุษย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว สำหรับอุตสาหกรรม 5.0 ความเชื่อเหล่านี้ดูจะเกิดจริงสักหน่อย เพราะสุดท้ายแล้วหุ่นยนต์หรือระบบอัตโนมัติ ก็ไม่สามารถเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด รวมถึงยังจะมีงานหรืออาชีพใหม่ ๆ เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
เพราะจากการวิจัยของ Harvard Business Review พบว่า 20-80% ของระบบงานที่นำเอาเทคโนโลยีอัตโนมัติเข้ามาใช้นั้น ยังไม่สามารถทำได้ด้วยระบบอัตโนมัติแบบ 100% ซึ่งหมายความว่าแม้จะมีการปรับเปลี่ยนโยกย้ายระบบการทำงานสักเพียงใด สุดท้ายแล้วมนุษย์ก็ยังต้องทำงานควบคู่ไปกับหุ่นยนต์อยู่ดี
มนุษย์สัมผัส
รวมถึงการปฏิวัติครั้งล่าสุดคือ อุตสาหกรรม 4.0 ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ เรียกได้ว่าเป็นการนำทางไปสู่ยุคที่โรงงานจะทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ โดยยกระดับสู่การเป็นโรงงาน light out factory ที่สามารถผลิตสินค้าได้อย่างรวดเร็ว คุณภาพสูง ต้นทุนต่ำ
แต่ทว่า เมื่อเข้าสู่ยุค 5.0 กลไกลทั้งหมดจะชะงักลง เพราะความต้องการของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป และเชื่อว่าแรงงานมนุษย์จะกลับมามีบทบาทสำคัญอีกครั้งในยุคนั้น
โดย อดัมส์ ให้ความเห็นว่า สุดท้ายแล้วผู้บริโภคจะต้องการสินค้าที่มนุษย์มีส่วนร่วม หรือมนุษย์สัมผัส (Human Touch) ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในระบบการผลิตแบบ light out ขนาดใหญ่ ดังนั้น ในยุค 5.0 การผลิตสินค้าจะเป็นการผลิตในราคาต่ำปริมาณมากเหมือนกับยุค 4.0 แต่บทบาทของมนุษย์จะเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ อันเป็นการตอบโจทย์ค่านิยมอย่างหนึ่งของผู้บริโภค
แรงงานมนุษย์ในยุค 5.0
สำหรับแรงงานมนุษย์ในยุค 5.0 นั้น มนุษย์โรงงานจำเป็นจะต้องมีทักษะที่ผ่านการฝึกฝน เพราะมนุษย์จะไม่ได้ทำในส่วนงานอันซ้ำซากแบบมนุษย์โรงงานในยุคเก่าก่อนอีกต่อไป รวมถึงแรงงานของมนุษย์ที่ผ่านการฝึกฝนจนมีทักษะพิเศษจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน เพราะจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ได้
ความต้องการแรงงานในอนาคตจึงมีลักษณะของความต้องการแรงงานที่ผ่านการฝึกฝนและมีความเชี่ยวชาญ มีความคิดสร้างสรรค์ มีวิสัยทัศน์สามารถที่จะประเมินวิธีการทำงานเพื่อปรับเปลี่ยนให้ผลผลิตสามารถตรงจุดตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเป็นทักษะที่แตกต่างจากคนโรงงานในยุคเก่าที่ตลอดเวลาทั้งวันหมดไปกับการทำงานซ้ำ ๆ โดยเอาเรื่องความคิดสร้างสรรค์โยนทิ้งไปได้เลย
สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของความต้องการแรงงานในรูปแบบใหม่ ที่คนทำงานในสายพานการผลิตเดิมจะต้องปรับตัว รวมไปถึงยังจำเป็นที่จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในส่วนของแรงงานรุ่นใหม่ ให้มีความสามารถเพียงพอที่จะรองรับกับความต้องการที่จะมาถึงในอนาคตได้ เพื่อไม่ให้กลายเป็นแรงงานตกยุค
ตลาดแรงงาน 5.0
ในระบบอุตสาหกรรมยุค 5.0 ที่จะมาถึงในปี 2035 นี้ สิ่งที่ตลาดแรงงานต้องการ คือทักษะมนุษย์ที่มีความสามารถอันโดดเด่นเฉพาะตัวและไม่เหมือนใคร เช่น ความคิดสร้างสรรค์ ความเข้าใจในศิลปะและสุนทรียภาพ การมีรสนิยมและวิสัยทัศน์ ความสามารถเชื่อมโยงเชิงระบบ ความเข้าใจบริบทสังคม ประเพณี วัฒนธรรม รวมไปถึงทักษะด้านการตัดสินใจในสถานการณ์ปัญหาอันซับซ้อน
ดังนั้น มนุษย์โรงงานในยุคอนาคตจะไม่เหมือนกับมนุษย์โรงงานในอดีต เพราะคนโรงงานยุคเก่าจะ “ต้องทำในสิ่งที่ไม่ชอบทำ” (doing things I don’t like to do)” แต่สำหรับเทรนด์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ จะส่งผลให้แรงงานมนุษย์ได้แสดงออกถึงอัตลักษณ์และศักยภาพเฉพาะตัวอย่างเต็มที่ ซึ่งจะทำให้เกิดความรักความศรัทธาในตัวเองและรักในงานที่ทำ
โลกแห่งแรงงานยุค 5.0 จะเป็นโลกแห่งการทำงานในอุดมคติ ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างทักษะของมนุษย์และทักษะของเครื่องจักรกล ความซ้ำซาก น่าเบื่อ และงานที่เผาพลาญพละกำลังจะเป็นงานของหุ่นยนต์ ส่วนมนุษย์จะอยู่ในบทบาทของนักสร้างสรรค์ ที่ต้องใช้ความคิดรวมถึงทักษะพิเศษเฉพาะตัว เพื่อดึงศักยภาพของเทคโนโลยีอันชาญฉลาดออกมาให้ได้ และที่สำคัญที่สุด…สิ่งเหล่านี้คือการแข่งขันของโลกอุตสาหกรรมยุคต่อไป
เรียบเรียงโดย Security Systems Magazine
บทความที่เกี่ยวข้อง
– การพัฒนา AI กับอนาคตไทยแลนด์ 5.0
– ทักษะแรงงานที่จำเป็นในยุคอุตสาหกรรม 4.0
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม
https://th.cc-link.org
https://www.thairath.co.th
https://th.wikipedia.org
เครดิตรูปภาพ
https://pixabay.com