ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 การปรับตัว – ปรับความคิดความเข้าใจที่ไม่มีวันสิ้นสุด!

Share

Loading

เคลาส์ ชวาบ ผู้ก่อตั้งและประธานการประธานบริหารสภาเศรษฐกิจโลก World Economic Forum กล่าวถึงโลกที่ขับเคลื่อนด้วยการเปลี่ยนแปลงจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ว่าแต่ละภูมิภาคของโลก แต่ละประเทศที่เผชิญความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วเหล่านี้ คงต้องหาจุดถ่วงดุลที่จะจัดการให้สังคมเกิดความมั่นคงปลอดภัย เนื่องจากผลที่เกิดจากกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้ จะแสดงให้เห็นถึงผลประโยชน์และมุมมองที่ต่างกันมาก จากหลากหลายกลุ่มสังคมเศรษฐกิจในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้!

แต่ละประเทศควรมี “มติเบื้องต้น” หรือ “ข้อตกลงชั่วคราว” บางอย่าง ที่จะร่วมมือกัน เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านลบและการแพร่กระจายผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น

  • ความไม่เท่าเทียมของการเข้าถึงการศึกษา
  • ความไม่เท่าเทียมของการเข้าถึงเทคโนโลยี
  • การว่างงาน – ลักษณะงานที่เปลี่ยนแปลงไปจากการทดแทนแรงงานด้วยหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์
  • ผลกระทบทางสังคม-เศรษฐกิจ-สิ่งแวดล้อม บางกรณีที่จากเทคโนโลยีใหม่
  • ฯลฯ

นอกจากนี้ ต้องตระหนักด้วยว่า การค้าพาณิชย์ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ การสร้างและใช้นวัตกรรมอย่างแพร่หลาย จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกระบวนการทางสังคมมากกว่าวันนี้อีกเป็นแน่

เมื่อมนุษย์แลกเปลี่ยนแนวคิด–คุณค่า-ผลประโยชน์ ในบริบททางสังคมที่หลากหลาย ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาสู่โลกใบใหม่ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นฐานหลัก จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์ถึงผลกระทบทางสังคมที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งหมด

องค์ประกอบมากมายสอดประสานและประกอบขึ้นเป็นการดำรงอยู่และการจัดการทางสังคม รวมทั้งมีนวัตกรรมมากมายที่สังคมมีส่วนร่วมให้เกิดขึ้น!

การเปิดรับ-เอื้ออำนวยให้ความล้ำสมัยใหม่ๆ เข้ามานั้น จะสร้างผลกระทบกับผู้คนบางกลุ่มที่ยังคงยึดมั่นในแง่มุมที่ดีงามของค่านิยมระบบเดิมไว้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จึงเป็นสภาวะที่ท้าทายสมมติฐานพื้นฐานหลายเรื่องหลากมิติในวิถีชีวิตและการดำรงอยู่อย่างที่เคยเป็นมา

หลายกรณีอาจทำให้เกิดความเครียดขึ้นในกลุ่มสังคมเคร่งศาสนา ที่พยายามปกป้องคุณค่าพื้นฐานที่สืบทอดต่อกัน ที่ไม่สอดรับกับสังคมยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยนวัตกรรม-เทคโนโลยี! รวมถึงก่อความเครียดที่เกิดจากการที่ไม่รู้ถึงผลกระทบข้างหน้าที่จะเกิดขึ้น ที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากถูกถมทับด้วยความไม่รู้!

ในโลกการปฏิวัติของอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายทั้งปวงนั้น จะดำเนินไปด้วยหุ่นยนต์ เอไอ และอัลกอริทึมต่างๆ ที่เข้ามาแทนทุนแรงงาน ซึ่งผู้ชนะคือคนที่มีส่วนร่วมกับระบบนิเวศที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมอย่างเต็มที่ จากการมีแนวความคิดใหม่ๆ รูปแบบธุรกิจใหม่ๆ ผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ ไม่ใช่จากคนทั่วไปที่มีเพียงแรงงานทักษะต่ำหรือต้นทุนธรรมดา

นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นท่ามกลางความเคลื่อนไหวของการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4

ปรากฏการณ์ทางสังคม – เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนี้ บางครั้งเป็นเรื่องน่ากังวลยิ่ง และน่าวิตกมากขึ้นเมื่อความเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าผสมผสานเข้ากับสื่อดิจิทัลที่มีศักยภาพในการเชื่อมต่อถึงผู้คนแบบหนึ่งต่อหนึ่ง ต่อร้อยต่อพัน หรือมากกว่านั้น

ด้วยวิธีการต่างๆ ด้วยสื่อต่างๆ ที่สร้างความหมายและความสัมพันธ์ขึ้นในมิติใหม่ ทำให้เกิดการสื่อสารที่มีมิตรภาพข้ามเวลาและระยะทาง จะเกิดกลุ่มความสนใจใหม่ที่เชื่อมต่อกับผู้โดดเดี่ยวทางสังคมที่มีความคิดคล้ายๆ เชื่อมต่อถึงกันด้วยต้นทุนต่ำ โดยความเป็นกลางทางภูมิศาสตร์ของสื่อดิจิทัลจะเชื่อมโยงสร้างให้เกิดปฏิสัมพันธ์มากมายยิ่งกว่าทุกพรหมแดน

ไม่ว่าจะเทียบกับกลุ่มความเชื่อศาสนา การเมือง วัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจด้วย นั่นหมายความว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะเพิ่มอำนาจให้ประชาชน และอำนาจอธิปไตยของสื่อดิจิทัลก็ถูกนำไปใช้ผ่านตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐอีกด้วย

นี่คือผลกระทบที่เกิดขึ้นท่ามกลางการอยู่ร่วมกันในสังคมยุคใหม่

โลกวันนี้บอกเราว่า…

เราต้องตระหนักถึงคุณค่าของการมีเครือข่ายที่หลากหลายและไร้พรมแดน!

ภาพความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ผู้คนต้องรู้เท่าทัน ตระหนัก และปรับตัวไปกับความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และการบริหารจัดการชีวิต เพื่อมีให้คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่เป็นเพียงผู้บริโภคที่ถูกดูดเข้าสู่กระแสความเปลี่ยนแปลงอย่างมืดบอด…และไม่เหลือทางไว้ให้เลือก

อย่างไรก็ตาม แม้การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จะมีข้อวิตกกังวลหรือสิ่งที่ควรระวังมากมาย แต่ที่ผ่านมา ความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นก็สร้างผลลัพธ์เชิงบวกมากมายที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากนวัตกรรม-เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างมากและนำมาช่วยเพิ่มผลิตภาพให้สินค้าและบริการมีคุณภาพเพิ่มขึ้น ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม และลดการใช้ทรัพยากรอย่างบ้าคลั่ง!

ความก้าวหน้าของการสื่อสารใหม่ช่วยให้เข้าถึงความรู้อย่างไร้พรมแดน-เหนือกาลเวลา รวมทั้งความก้าวหน้าของเทคโนโลยียังช่วยขจัดอคติทางชนชั้น ชาติพันธุ์ เพศสภาพ และสีผิว ที่สร้างความรุนแรงให้สังคมในยุคก่อนหน้าลง และได้ช่วยเติมเต็มให้ผู้ขาดโอกาส – คนพิการ ได้อยู่ในสังคมอย่างมีคุณค่า มีความหมาย และพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น

การตระหนักรู้เรื่องเหล่านี้ทำให้อดคิดถึงเรื่องการบริหารจัดการการศึกษาไม่ได้ เพราะการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้ ผู้คนตระหนักรู้ ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ และเปิดรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต คู่ขนานไปกับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่หาความแน่นอนได้ยากยิ่ง

และหากสถาบันใดบริหารจัดการการศึกษาแล้วทำให้ผู้คนไม่สามารถตระหนักรู้ ไม่เห็นความสำคัญของการปรับตัว ไม่สนใจการเรียนรู้ตลอดชีวิต ก็คงไม่สามารถทำให้ การศึกษาเป็นที่พึ่งของมนุษย์โลกได้!

แหล่งข้อมูล
https://www.salika.co/2021/02/12/4th-industrial-revolution-effect/